![]() | |
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1917 |
---|---|
ภูมิภาค | ![]() |
จำนวนทีม | 48 |
ทีมชนะเลิศปัจจุบัน | อาโอโมริ ยามาดะ (2023) (สมัยที่ 4) |
ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุด | มิกาเงะ ชิฮัง (11 ครั้ง) |
ผู้แพร่ภาพโทรทัศน์ | นิปปงทีวี และบริษัทในเครือ |
เว็บไซต์ | JFA |
![]() |
ฟุตบอลโรงเรียนมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 全国高等学校サッカー選手権大会; โรมาจิ: Zenkoku kōtō gakkō sakkā senshuken taikai, ญี่ปุ่น: 全国高校サッカー選手権大会; โรมาจิ: Zenkoku kō kō sakkā senshuken taikai, อังกฤษ: All Japan High School Soccer Tournament) ของประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ฤดูหนาว หรือ วินเทอร์โคกูริตสึ (อังกฤษ: Winter Kokuritsu, ญี่ปุ่น: 冬の国立; โรมาจิ: Fuyu no Kokuritsu) เป็นการแข่งขันฟุตบอลประจำปีของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศของญี่ปุ่น จัดโดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น สหพันธ์กีฬาโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศญี่ปุ่น และ นิปปงทีวี เป็นการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1917 โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของรายการนี้จะจัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว และยังเป็นการแข่งขันที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของรายการนี้ในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้เข้าชมกว่าห้าหมื่นคน ร่วมกับผู้ชมทางบ้านที่รับชมการแข่งขันผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์นิปปงทีวี[1]
การแข่งขันจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงประมาณต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายชั้นปีที่ 3 (ม.6) ที่จะต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตหลังจากพวกเขาจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายในเดือนเมษายน เป็นผลให้การแข่งขันฟุตบอลรายการนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับคนญี่ปุ่นแม้จะเป็นการแข่งขันในระดับมัธยมปลาย เนื่องจากเป็นการแข่งขันทิ้งท้ายชีวิตมัธยมปลายของพวกเขา การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ฤดูหนาวจึงเป็นการช่วยเพิ่มแรงจูงใจของผู้เล่นในแต่ละนัดของการแข่งขัน เนื่องจากนี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาสวมเสื้อทีมโรงเรียนมัธยมในการแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นรายการที่มีการแข่งขันสูงมาก[2]
โดยทีมที่จะสามารถเข้าไปแข่งขันชิงแชมป์ฤดูหนาวได้นั้นจะต้องเป็นทีมโรงเรียนมัธยมปลาย และลงแข่งขันตั้งแต่รอบคัดเลือกในระดับเขต จนมาเป็นตัวแทนของจังหวัดได้เข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายที่จะมีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 48 ทีมจาก 47 จังหวัดของญี่ปุ่น (โตเกียวเป็นจังหวัดเดียวที่ได้โควตา 2 ทีม) โดยแข่งขันในรูปแบบแพ้คัดออกทั้งหมด ทั้งรอบคัดเลือกระดับจังหวัดและรอบสุดท้าย[3]