มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
Princess of Naradhiwas University
ตราพระนามาภิไธย ก.ว.
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมวิทยาลัยนราธิวาส มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ชื่อย่อมนร. / PNU
คติพจน์มหาวิทยาลัยที่ประชาชนสัมผัสได้
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548; 19 ปีก่อน (2548-02-09)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ673,160,700 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาฯผู้ช่วยศาสตราจารย์ จงรัก พลาศัย
อธิการบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีชา สะแลแม
อาจารย์394 คน (พ.ศ. 2561)
บุคลากรทั้งหมด990 คน (พ.ศ. 2561)
ผู้ศึกษา3,090 คน (พ.ศ. 2565)
ที่ตั้ง
วิทยาเขตที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
สีสีทอง - สีฟ้า   
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (อังกฤษ: Princess of Naradhiwas University; อักษรย่อ: มนร. – PNU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐลำดับที่ 77 ในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาสก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ภายหลังจากการหลอมรวมวิทยาลัยต่าง ๆ และยกฐานะขึ้นจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี โดยชื่อ "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 8 และ 9 เนื่องด้วยพระองค์ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พุทธศักราช 2548[2] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 14ก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกันยายน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีสำคัญต่างๆในกิจการของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในเขตภาคใต้อีกด้วย

โดยปัจจุบันมี ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สะแลแม เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

ประวัติ

[แก้]

จังหวัดนราธิวาส มีประชากรกลุ่มอายุที่ได้รับการศึกษาระดับนี้เพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งต่ำที่สุดของประเทศ โดยอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2543 มีเพียงร้อยละ 37.2 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยทั่วประเทศ ในปีเดียวกัน ที่ร้อยละ 81.1 ค่อนข้างมาก

เด็กนักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เด็กนักเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดของประเทศ ประมาณร้อยละ 80 ของชาวมุสลิมที่มีอยู่ทั่วประเทศ และยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาที่มีการบูรณาการหลักการทางศาสนาอิสลามที่เปิดสอนถึงระดับอุดมศึกษา ทำให้ปัจจุบันจึงมีนักเรียนมุสลิมของไทยต้องเดินทางไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดนราธิวาส นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่และประหยัดงบประมาณของประเทศในการสูญเสียดุลการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมสร้างเอกภาพและคมมั่นคงของชาติ ต้องการเชื่อมโยงการศึกษากับศาสนาเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนชาวมุสลิม ช่วยก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชนชาวมุสลิม ให้เกิดความรัก ความสามัคคี ลดความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง รวมทั้งการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในระยะแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยใช้ชื่อว่าโครงการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยนราธิวาส" ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 หลังจากนั้นจึงได้มีการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระวินิจฉัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 พระราชทานตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รูปมงกุฎสีทอง ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ตอนกลางเป็นอักษรย่อพระนาม กว. และอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสีน้ำทะเล ซึ่งสีฟ้าน้ำทะเล หรือสีฟ้าอมเขียว ของอักษรพระนามย่อ และอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสีประจำพระองค์

แรกเริ่มศูนย์กลางการจัดการศึกษา มีศูนย์กลางการบริหารงานตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นที่ตั้งของสำนักงานกลาง อยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานอธิการบดี ณ ศูนย์ราชการใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นที่จัดตั้งพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต

ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในศาสตร์ทุกสาขาที่มีความจำเป็นต้องสังคมและประเทศชาติ จึงมีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย และขยายหน่วยงานของมหาวิทยาลัย โดยมีที่ทำการถาวร บริเวณ ศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาส โดยในระยะแรกได้ใช้อาคารเรียนของวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เป็นที่จัดการเรียนการสอน ซึ่งเปิดหลักสูตรในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของท้องถิ่นและประเทศ โดยรับนักศึกษาทั้งในระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี คณะแรกๆเกิดจากการยกระดับจากวิทยาลัยขึ้นเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และคณะเกษตรศาสตร์

ต่อจากนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะศิลปศาสตร์ ตามลำดับ หลังจากมหาวิทยาลัยใช้เวลาเตรียมการด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะเปิดสอนเวลาประมาณ2ปี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จึงได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา พ.ศ. 2549

แนวคิดของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็น 1 ใน 2 มหาวิทยาลัยที่เกิดจากการรวมหลายสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกันคือ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เพิ่มสาขาด้าน “การแพทย์” ขณะที่มหาวิทยาลัยนครพนมเพิ่มสาขาทางด้าน “การบิน”

ในการจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์" และ "มหาวิทยาลัยนครพนม" นั้นใช้หลักการหลอมรวมสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้ว เป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เป็นการกระจายโอกาสและสร้างความเสมอภาคให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในจังหวัดพื้นที่ตั้งมหาวิทยาลัยและจังหวัดใกล้เคียงให้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากร นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทั้งเป็นการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น กับทั้งยังสามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น

การจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์” นั้นเกิดจากการหลอมรวมของ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ เป็นองค์กรเดียวกัน โดยไม่ขัดต่อปรัชญาการศึกษาและภารกิจของสถาบันการศึกษาเดิม การบริหาร การจัดการและการดำเนินการมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ

ส่วนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนมเกิดจาการหลอมรวมสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม วิทยาลัยเทคนิคนครพนม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม เข้าด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสและนครพนมเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรอยต่อออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่จังหวัดนราธิวาสและนครพนมนอกจากจะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่จะรองรับการศึกษาต่อและการใช้บริการทางการอุดมศึกษาให้กับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

วัตถุประสงค์การก่อตั้งมหาวิทยาลัย

[แก้]

เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ

เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ตามแนวทางที่กำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 รวมทั้งเป็นการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น กับทั้งยังสามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น

ช่วยเสริมสร้างเอกภาพและความมั่นคงของชาติ ด้วยการเชื่อมโยงการศึกษากับศาสนาเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนมุสลิม ช่วยก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรม และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ลดความขัดแย้งทางสังคม การเมือง และการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

เป็นการพัฒนาให้จังหวัดนราธิวาส เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา วิจัยโดยเฉพาะด้านอิสลามศึกษาในภูมิภาค อันจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศของเยาวชนที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังจะสามารถดึงดูดนักศึกษาจากต่างชาติให้เข้ามาศึกษาในประเทศเพิ่มขึ้น

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]
ตราประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  • ชื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสนครินทร์[3]

นราธิวาสราชนครินทร์ คือ สร้อยพระนามทรงกรมที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน เป็นพระองค์แรกในรัชกาล ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดนราธิวาส เสมือนเป็นเจ้าแห่งเมืองนราธิวาส

(สืบเนื่องมาจากการที่พระราชโอรส-ธิดาและพระราชนัดดาที่พระราชสมภพสืบราชสกุลแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ล้วนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ทรงกรมตามนามหัวเมืองทางภาคใต้ทั้งสิ้น ดังเช่นพระนามทรงกรมเดิมในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ "กรมหลวงสงขลานครินทร์")

  • ตราประจำมหาวิทยาลัย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอนุญาตให้อัญเชิญพระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ "กว." ล้อมรอบด้วยอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์สีน้ำทะเล เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 [4]

  • สีประจำมหาวิทยาลัย

ได้แก่    สีทอง - สีฟ้า โดยมีความหมายดังนี้

- สีทอง หมายถึง บารมี ความเจริญก้าวหน้า มีชื่อเสียง
- สีฟ้าน้ำทะเล หมายถึง สีประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  • ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย

คือดอกพิกุลสีขาวนวลเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เปรียบประดุจความดีงามของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กลีบดอกเป็นจักร เปรียบประดุจความแหลมคมของปัญญา กลิ่นหอมกรุ่นเปรียบได้กับความดีงามที่ไม่มีวันจาง แม้เมื่อร่วงจากต้นลงสู่พื้นหรือไปอยู่ ณ ที่ใด ก็ยังคงความดีงามอยู่ตลอดกาล

  • ปรัชญามหาวิทยาลัย

ศึกษา วิจัยวิชาชีพ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ เป็นรากฐานในการพัฒนาคน ชุมชนของ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดอกพิกุล ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  • ปณิธานมหาวิทยาลัย

มุ่งมั่นให้การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะวิชาชีพ เพื่อความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ ควบคู่คุณธรรม จริยธรรม และดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

  • เสื้อครุยของมหาวิทยาลัย

เสื้อครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเป็นเสื้อคลุม ผ้าโปร่งสีขาว ผ่าอกตลอดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน มีแถบสีทองและฟ้าเข้มทาบทับด้วยแถบทองบริเวณอกเสื้อทั้งสองข้างมีวงมีตรามหาวิทยาลัย ปริญญาตรี และเส้นมีการจัดสีพื้นกับสีประจำคณะ สีของเส้นที่แสดงระดับของวุฒิคือ ปริญญาตรี 1 เส้น ปริญญาโทและเอกใช้ 2 และ 3 เส้น ตามลำดับนั้น

  • เพลงประจำมหาวิทยาลัย
- ทองฟ้า (มาร์ชมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์)[ลิงก์เสีย]
- คือ มนร.[ลิงก์เสีย]
- เพลงลูกพิกุล[ลิงก์เสีย]

ที่มาของพระกรุณาธิคุณล้นเกล้า

[แก้]

เนื่องจากมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2548 แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอว่าควรกำหนดให้มีตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นรูปมงกุฎสีทองซึ่งเป็นตราพระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ส่วนบนเป็นมงกุฎสีทอง ส่วนกลางมีอักษรย่อพระนาม กว.สีฟ้าน้ำทะเล ส่วนล่างเป็นโบว์สีทองวงซ้อนพับกัน ภายในแถบโบว์มีชื่อ"มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์"สีฟ้าน้ำทะเล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระวินิจฉัยและพระราชทานอนุญาต เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 และสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการและต่อมาจึงได้ประกาศ "พระราชกฤษฎีกากำหนดตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2551"[4] โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยสมบูรณ์

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

[แก้]

ครั้นเมื่อมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ดำเนินการจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษา และได้จัดการเรียนการสอนรวมทั้งผลิตบัณฑิตแล้ว มหาวิทยาลัยจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ณ หอประชุมคณะพยาบาลศาสตร์ (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนราธิวาส-เดิม) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ซึ่งนับได้ว่าเป็น "พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของจังหวัดนราธิวาส"

วันสำคัญที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

[แก้]

วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย

[แก้]

ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พุทธศักราช 2548

วันกัลยาณิวัฒนา

[แก้]

เป็นวันคล้ายวันเสด็จสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ "พระผู้พระราชทานกำเนิดนามนราธิวาสราชนครินทร์" ตรงกับวันที่ 2 มกราคม ของทุกปี

อนุสรณ์สถานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

[แก้]

อนุสรณ์สถานแห่งนี้ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้จัดออกแบบก่อสร้างลานเทิดพระเกียรติ และได้สร้างอนุสรณ์สถานให้กับพระองค์ขึ้นในที่ดินแปลงใหม่ บริเวณศูนย์ราชการ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

อนุสรณ์สถานดังกล่าวจัดสร้างในลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม ทรงบัว กว้างด้านละ 2 เมตร สูงจากพื้นถึงปลายยอด 3 เมตร ที่ปลายยอดเป็นตราสัญลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในรูปแบบมงกุฎสีทอง ทำด้วยทองเหลืองลอยตัวตามลักษณะสีของมหาวิทยาลัยฯ และอักษรย่อพระนาม กว.เป็นตัวนูนต่ำทำด้วยสแตนเลสสีฟ้าน้ำทะเล สะท้อนถึงบารมีของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และชื่อเสียงมหาวิทยาลัยที่กว้างไกลออกไปทุกสารทิศ ส่วนฐานของอนุสรณ์สถานเป็นที่ติดตั้งตัวหนังสือแสดงชื่อมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้าน

พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

[แก้]
พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันที่ 21 ก.ย. 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดสร้างขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข ออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นพระอนุสาวรีย์ประทับนั่งพระเก้าอี้ ขนาดสูง 1.2 เมตร กว้าง 0.85 เมตร พร้อมมีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสวยงาม

รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย

[แก้]

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์มีนายกสภามหาวิทยาลัย ดังรายนามต่อไปนี้

นายกสภามหาวิทยาลัย
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กระแส ชนะวงศ์ วาระที่ 1 : 3 มีนาคม พ.ศ. 2549[5] - 2 มีนาคม พ.ศ. 2553
วาระที่ 2 : 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553[6] - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557
2. มังกร หริรักษ์ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557[7] - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
3. ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย วาระที่ 1 : 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559[8] - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
วาระที่ 2 : 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561[9] - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565
วาระที่ 3 : 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566[10] - ปัจจุบัน

รายนามอธิการบดี

[แก้]

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์มีอธิการบดี ดังรายนามต่อไปนี้

อธิการบดี
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย วาระที่ 1 : 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
วาระที่ 2 : 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557
2. รศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี วาระที่ 1 : 11 มีนาคม พ.ศ. 2558 - 26 เมษายน พ.ศ. 2562
วาระที่ 2 : 26 เมษายน พ.ศ. 2562 - 25 เมษายน พ.ศ.2566
3. ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม 26 เมษายน พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน[11]

การศึกษา

[แก้]

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคพิเศษ และระดับประกาศนียบัตร

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 7 คณะ 3 วิทยาลัย และ 1 สถาบัน[12] ดังต่อไปนี้

คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

คณะ

[แก้]

รับทั้งนักศึกษาศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม

วิทยาลัย

[แก้]

สำนัก/สถาบัน

[แก้]

โครงการจัดตั้งต่างๆ ในอนาคต

[แก้]

โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์

[แก้]

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ในเขตภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้พระราชทานนามให้แก่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนใช้สนับสนุนและพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคาร สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เขตศูนย์ราชการแห่งใหม่ บริเวณนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งของ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี และหอประชุมใหญ่

โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ สังกัดมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

โครงการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

[แก้]

เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐานการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหมด

โครงการจัดตั้งคณะและสาขาวิชา

[แก้]
  • โครงการจัดตั้งคณะประมงศาสตร์
  • โครงการจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  • โครงการจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์
  • โครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์
  • โครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์
  • โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์
  • โครงการจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์
  • โครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์

พื้นที่มหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่การก่อสร้างอาคารของแต่ละคณะและแต่ละหน่วยงานนั้นคำนึงถึงกลุ่มสาขาวิชาเป็นหลัก โดยมีคณะ และสำนักงานต่างๆ แบ่งออกเป็น กลุ่มอาคารสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีเกษตร โดยพื้นที่การสร้างมหาวิทยาลัยแห่งใหม่จะประกอบไปด้วย สาธารณูปโภค และสวัสดิการต่างๆที่เอื้ออำนวยความสะดวก แก่เจ้าหน้า อาจารย์ และนักศึกษาและมีถนนเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่การศึกษา และเนื้อที่ใช้สอยต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. งานออกแบบ

  • 1.1 พื้นที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เขตศูนย์ราชการใหม่ ประกอบด้วย
  • 1.1.1 อาคารคณะเภสัชศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 7500 ตารางเมตร
  • 1.1.2 อาคารคณะทันตแพทย์ศาสตร์ พื้นทีใช้สอย 8000 ตารางเมตร
  • 1.1.3 อาคารคณะเทคนิคการแพทย์ พื้นที่ใช้สอย 7500 ตารางเมตร
  • 1.1.4 อาคารสนับสนุนทางการแพทย์ พื้นที่ใช้สอย 3000 ตารางเมตร
  • 1.1.5 อาคารเรียนรวมทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ พื้นที่ใช้สอย 8000 ตารางเมตร
  • 1.1.6 อาคารพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ พื้นที่ใช้สอย 4000 ตารางเมตร
  • 1.1.7 งานระบบสาธารณูปโภค
  • 1.1.8 งานภูมิทัศน์
  • 1.1.9 งานอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • 1.2 พื้นที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เขตโคกเขือ ประกอบด้วย
  • 1.2.1 อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 8500 ตารางเมตร
  • 1.2.2 อาคารสำนักงานคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 4000 ตารางเมตร
  • 1.2.3 อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร พื้นที่ใช้สอย 4000 ตารางเมตร
  • 1.2.4 อาคารเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยฯ พื้นที่ใช้สอย 11000 ตารางเมตร
  • 1.2.5 อาคารปฏิบัติการทางด้านวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 6000 ตารางเมตร
  • 1.2.6 งานระบบสาธารณูปโภค
  • 1.2.7 งานภูมิทัศน์
  • 1.2.8 งานอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • 1.3 พื้นที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ วิทยาลัยการอาชีพตากใบ ประกอบด้วย
  • 1.3.1 อาคารศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี พื้นที่สอย 8000 ตารางเมตร
  • 1.3.2 งานระบบสาธารณูปโภค
  • 1.3.3 งานภูมิทัศน์
  • 1.3.4 งานอื่นที่เกี่ยวข้อง

2. งานควบคุมงานก่อสร้าง

  • 2.1 ก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่ พื้นที่ใช้สอย 11300 ตารางเมตร
  • 2.2 ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 17500 ตารางเมตร
  • 2.3 ก่อสร้างอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ พื้นทีใช้สอย 10968 ตารางเมตร
  • 2.4 ก่อสร้างอาคารคณะพยาบาลศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 7500 ตารางเมตร
  • 2.5 ก่อสร้างอาคารคณะศิลปศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 8657 ตารางเมตร
  • 2.6 ก่อสร้างอาคารหอพักอาจารย์และเจ้าหน้าที่ พื้นที่ใช้สอย 6000 ตารางเมตร
  • 2.7 ก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษา พื้นที่ใช้สอย 6000 ตารางเมตร
  • 2.8 ก่อสร้างอาคารคณะวิทยาการจัดการ พื้นที่ใช้สอย 10424 ตารางเมตร
  • 2.9 ก่อสร้างอาคารวิทยบริการ พื้นที่ใช้สอย 7800 ตารางเมตร
  • 2.10 ก่อสร้างอาคารเรียนคณะแพทยศาสตร์ พื้นที่ใช้สอย 8200 ตารางเมตร
  • 2.11 ก่อสร้างปรับปรุงอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย พื้นที่ใช้สอย 7670 ตารางเมตร
  • 2.12 ก่อสร้างปรับปรุงอาคารหอพักนักศึกษา พื้นที่ใช้สอย 3000 ตารางเมตร


ศูนย์เขตการศึกษาและสถานที่ตั้ง

[แก้]

หลังจากที่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้จัดตั้งแล้วและรวมวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จึงได้ขยายพื้นที่ไปที่ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอระแงะ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยมุ่งหวังให้แต่ละศูนย์เขตการศึกษาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเฉพาะตามที่วิทยาลัยเดิมจัดการศึกษาอยู่แล้ว มีคณะที่จัดตั้งได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์ โครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ โดยพื้นที่คณะเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยการอาชีพตากใบนั้น มิได้จัดการบริหารแบบวิทยาเขตแต่อย่างใด

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ในจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (กลาง)

[แก้]

พื้นที่บริเวณอำเภอเมือง เป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย โดยแบ่งออกได้ 3 บริเวณ[13] ได้แก่

  • เขตการศึกษาโคกเขือ พื้นที่เขตโคกเขือ บริเวณวิทยาลัยเทคนิค 131 ไร่ เป็นที่ตั้ง คณะวิทยาการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปศาสตร์ สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา สำนักวิทยบริการ หอประชุม อาคารเรียนรวม อาคารยิมเนเซี่ยม หอพักนักศึกษา อาคารที่พักอาจารย์ และมัสยิดของมหาวิทยาลัย (อาคารปฏิบัติกิจกรรมศาสนาอิสลาม)
  • เขตการศึกษาโคกเคียน พื้นที่ศูนย์ราชการใหม่ บริเวณศูนย์ราชการ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 212 ไร่ เป็นที่ตั้งของ สำนักงานอธิการบดี หอประชุมใหญ่ ศูนย์บริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ อาคารคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ อาคารยิมเนเซี่ยม และหอพักนักศึกษา
  • เขตการศึกษาเกษตรศาสตร์ พื้นที่คณะเกษตรศาสตร์ มีเนื้อที่ 156 ไร่ เป็นที่ตั้งของคณะเกษตรศาสตร์ อาคารปฏิบัติการสัตวศาสตร์ อาคารปฏิบัติการพืชศาสตร์ อาคารปฏิบัติการอุตสาหกรรมเกษตร อาคารเรียนรวมคณะเกษตรศาสตร์ โรงเรียนสาธิต และหอพักนักศึกษา

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (เขตการศึกษากลางบางนาค)

[แก้]
  • เขตการศึกษากลางบางนาค (พื้นที่ วิทยาลัยเดิม) โดยแบ่งออกได้ 4 บริเวณ ได้แก่

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เลขที่ 49 ถนนระแงะมรรคา ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส 96000 โทรศัพท์ 0-7351-1174, 0-7351-1192 โทรสาร 0-7351-1905 อีเมล: info@pnu.ac.th

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2548" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-05-24.
  3. ที่มา นราธิวาสราชนครินทร์[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 "พระราชกฤษฎีกากำหนดตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2551" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-09-18. สืบค้นเมื่อ 2010-11-08.
  5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (นายกระแส ชนะวงศ์)
  6. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (นายกระแส ชนะวงศ์)
  7. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (นายมังกร หริรักษ์)
  8. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (นายจงรัก พลาศัย)
  9. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (นายจงรัก พลาศัย)
  10. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (นายจงรัก พลาศัย)
  11. https://www.pnu.ac.th/office-of-the-president/
  12. "คณะ วิทยาลัย สถาบัน และหน่วยงานของมหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-15. สืบค้นเมื่อ 2010-11-11.
  13. การพัฒนามหาวิทยาลัยด้านกายภาพ[ลิงก์เสีย]


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

6°27′20.7″N 101°47′22.6″E / 6.455750°N 101.789611°E / 6.455750; 101.789611