Kasetsart University | |
ตราพระพิรุณทรงนาค สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
---|---|
ชื่อย่อ | มก.[1] / KU |
คติพจน์ | ศาสตร์แห่งแผ่นดิน (ทางการ) ประชาชน คือ เจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์ คือ ภาษีของประชาชน (ไม่เป็นทางการ) |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 |
ผู้สถาปนา | หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ พระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงอิงคศรีกสิการ |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 5,867,054,400 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
นายกสภาฯ | กฤษณพงศ์ กีรติกร |
อธิการบดี | จงรัก วัชรินทร์รัตน์ |
อาจารย์ | 3,758 คน (พ.ศ. 2566) |
บุคลากรทั้งหมด | 6,279 คน (พ.ศ. 2563) |
ผู้ศึกษา | 68,099 คน (พ.ศ. 2564)[3] |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | วิทยาเขต 5
|
เพลง | เพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ |
ต้นไม้ | นนทรี |
สี | สีเขียวใบไม้[4] |
เครือข่าย | ASAIHL |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อังกฤษ: Kasetsart University; อักษรย่อ: มก. – KU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร[5] ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แรกเริ่มเป็น โรงเรียนช่างไหม ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2447[6][7] ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก หลังจากนั้นรวมเข้ากับโรงเรียนแผนที่และโรงเรียนกรมคลองเป็น โรงเรียนเกษตราธิการ และถูกยุบรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรีอนฯ ใน พ.ศ. 2456 ต่อมาได้รับการก่อตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2460 ในนาม โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม และได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถัดจากนั้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกษตรกลาง บางเขน กับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ และสถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2486 ระยะแรก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหารธุรกิจ และงานบริการ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558[8] ซึ่งมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
การประเมินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยจัดการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาผลปรากฏว่าในการประเมินครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาการจัดการศัตรูพืช (Pest Management) จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร[9] อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติจากกระทรวงศึกษาธิการใน พ.ศ. 2552 อีกด้วย[10]
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มี 3 วิทยาเขตได้แก่ วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร[11] ทั้งยังมีสำนักงานเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี (โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี) อีกหนึ่งแห่งด้วย[12] เปิดการสอน 29 คณะ 2 วิทยาลัย และสถาบันสมทบ 1 แห่ง มีหลักสูตร 583 หลักสูตร เป็นหลักสูตรนานาชาติ 42 หลักสูตร[13] นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่งเพื่อดำเนินการวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ
ส่วนนี้อาจอยู่นอกประเด็นของบทความ |
ใน พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ[14] ทรงได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า (Dr. Kametaro Toyoma) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว[15][16] ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น รวมทั้งสอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างไหม กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น ทรงจัดตั้ง "โรงเรียนช่างไหม"[17] ขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447[18] ณ ท้องที่ตำบลทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวกับการเกษตรแห่งแรก จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนช่างไหมเป็น "โรงเรียนวิชาการเพาะปลูก" ใน พ.ศ. 2449 เนื่องจากมีวิชาการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ เข้ามาประกอบ
ต่อมา โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ณ วังประทุมวัน[19] โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ใน พ.ศ. 2452
ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[20] ซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการ โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ จึงย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ใน พ.ศ. 2456 โดยใช้วังวินด์เซอร์เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ[21]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพระยาเทพศาสตร์สถิตย์และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ โดยทั้ง 2 ท่านได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนด้านการเกษตรโดยสังกัดกระทรวงเกษตราธิการขึ้นมาอีกครั้ง ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม" ตั้งอยู่ที่ตำบลหอวัง ใน พ.ศ. 2460 ภายหลังจึงได้มีการย้ายการเรียนการสอนไปที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ใน พ.ศ. 2461[22] ต่อมาใน พ.ศ. 2474 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมตรวจกสิกรรมในกระทรวงเกษตราธิการและเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ร่วมกันขยายการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้งานวิจัยการเกษตรดำเนินควบคู่ไปกับการให้การศึกษาในสาขาเกษตรศาสตร์ โดยภาคกลางอยู่ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ภาคอีสานตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ตั้งอยู่ที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อย่างไรก็ตาม โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ปิดตัวลงตามข้อบังคับของการปรับเปลี่ยนระบบราชการใน พ.ศ. 2478 จึงได้มีการยุบรวมโรงเรียนในส่วนภูมิภาคทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ พระช่วงเกษตรศิลปการ และหลวงอิงคศรีกสิการ สามบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[23][24] จึงเสนอให้รักษาโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไว้ที่แม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพียงแห่งเดียว และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม" ต่อมาจึงได้มีการยกฐานะของโรงเรียนก่อตั้งเป็น "วิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกรมเกษตรและประมง และมีพระช่วงเกษตรศิลปการเป็นผู้อำนวยการคนแรก
พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้มีดำริให้พระยาฤทธิอัคเนย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นในท้องที่อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ดังนั้น จึงได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งอยู่ที่อำเภอบางเขนใน พ.ศ. 2482 โดยมีนายอินทรี จันทรสถิตย์ ดำเนินการจัดซื้อที่ดินย่านบางเขนและมีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย และเปิดสอนหลักสูตร 3 ปี ในระดับ อนุปริญญา โดยมี 3 แผนก คือแผนกเกษตรศาสตร์ แผนกวนศาสตร์ และแผนกสหกรณ์ โดยแผนกเกษตรศาสตร์และแผนกสหกรณ์เรียนที่บางเขน ยกเว้นนักศึกษาแผนกสหกรณ์ ชั้นปีที่ 3 จะเรียนที่กรมสหกรณ์ ท่าเตียน เพื่อสะดวกในการอบรมวิชาภาคปฏิบัติ ส่วนแผนกวนศาสตร์เปิดสอนที่โรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์เพื่อเป็นการเตรียมนิสิตให้วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่อำเภอบางเขนต่อไป[25]
ใน พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาปนาขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ[26] และให้แต่งตั้งข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย หลวงสินธุสงครามชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก โดยมีการเปิดสอนใน 4 คณะ[27] ได้แก่ คณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะการประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ เป็นคณะแรกตั้ง
ในปี พ.ศ. 2509 หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนคับแคบ ไม่สามารถจะได้ จึงได้ดำริที่จะหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่มีดินดีเหมาะต่อการเกษตรและมีโครงการชลประทานผ่านเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ ก่อนราคาที่ดินจะมีราคาแพง[28] ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 รัฐบาลในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน[28] โดยทางมหาวิทยาลัยได้ทำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมและก่อสร้างอาคารเรียน ที่พัก และอาคารสำนักงานซึ่งสามารถเสร็จสิ้นเมื่อกลาง พ.ศ. 2521[28] และเริ่มจัดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522[29]
ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีแนวคิดที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยจึงได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตกระบี่ และวิทยาเขตลพบุรี[28] ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชาในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2542[30] และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนครใน พ.ศ. 2543[31] ส่วนวิทยาเขตสุพรรณบุรี ปัจจุบันยังอยู่ในสถานะภาพของการเป็นโครงการจัดตั้ง[12] ส่วนวิทยาเขตกระบี่และวิทยาเขตลพบุรีนั้นเนื่องจากมีปัญหาในด้านงบประมาณในการดำเนินงานจึงทำให้สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมติยกเลิกการจัดตั้งทั้ง 2 วิทยาเขต[32][33]
จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการขยายการศึกษาเพิ่มขึ้นโดยการเปิดคณะและสาขาวิชาเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีที่เปิดทำการสอนแล้วทั้งหมด 29 คณะ 2 วิทยาลัยและสถาบันสมทบอีก 2 แห่ง มีจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 583 หลักสูตร และเป็นหลักสูตรนานาชาติ 42 หลักสูตร[34]
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558[35] ด้วยเหตุผลเพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีความเป็นอิสระและเป็นเลิศทางวิชาการอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้คำว่า "เกษตรศาสตร์" เป็นชื่อภาษาไทยของมหาวิทยาลัย และใช้อักษรโรมันว่า "Kasetsart"
"เกษตรศาสตร์" มาจากคำว่า เกษตร (เขต หรือ แผ่นดิน) และ ศาสตร์ (ความรู้ หรือ การศึกษา) ซึ่งรวมกันมีความหมายโดยทั่วไปว่า การศึกษาเกี่ยวกับเขตและแผ่นดิน หรือ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน คำนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Agriculture แปลว่า การเพาะปลูกแบบรูปธรรม มีรากคำมาจากภาษาละตินคือคำว่า agrīcultūra: agrī หมายความถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม และคำว่า cultūra หมายความถึง วัฒนธรรม สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือ การเพาะปลูก
คำว่า "เกษตร" อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนั้น มีที่มาจากกระทรวงเกษตราธิการต้องการจัดตั้งสถาบันการศึกษาวิชาการเกษตรอันเนื่องด้วยวิชาการผลิตและการค้าเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเป็นการเฉพาะ[36]
ในระหว่าง พ.ศ. 2518 ได้มีความพยายามในการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากบุคคลกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดข้อวิพากษ์จำนวนมากต่อกรณีดังกล่าว และมีการแถลงข่าวเพื่อโต้ข้อพิพาทระหว่างฝ่ายที่อยากให้เปลี่ยนชื่อและไม่ประสงค์ให้เปลี่ยนชื่อ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นิสิตหยุดเรียนครึ่งวันเพื่อจัดทำประชามติในเรื่องนี้ ภายหลังจึงมีการเห็นสมควรให้มีการใช้ชื่อ เกษตรศาสตร์ เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการระลึกและย้ำเตือนถึงศาสตร์อันเป็นรากฐานวัฒนธรรม ความรู้ และวิทยาการของแผ่นดินไทย[37][38]
จนกระทั่ง พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสถึงความหมายของคำว่าเกษตรศาสตร์ตามชื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้ว่า[39]
คำว่าเกษตรศาสตร์ อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนี้นั้น ฟังดูมีความหมายจำกัดอยู่เพียงการทำนา แต่ความจริง เกษตรศาสตร์ ตามความหมายในปัจจุบัน กินความกว้างขวางมาก คือรวมเอาวิชาหรือศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของมนุษย์เข้าไว้เกือบทั้งหมด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงสอนวิชาการสาขาต่าง ๆ มากมายหลายสาขา ทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์ ทั้งฝ่ายศิลปศาสตร์ เรียกได้ว่าครบถ้วนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยในความหมายสากลอย่างสมบูรณ์
คำ "เกษตรศาสตร์" ที่เป็นวิสามานยนามอันเป็นชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อ่านว่า "กะ-เสด-สาด"[ต้องการอ้างอิง] แต่ในกรณีที่หมายถึงวิชาว่าด้วยการเกษตร คำนี้อ่านว่า "กะ-เสด-ตฺระ-สาด"
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 (ฉบับที่ 247) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 98 ง[40] โดยตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่
หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาคารจั่วสามมุข ทำการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2500 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย
อาคารจั่วสามมุขเป็นอาคารออกแบบด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ตามลักษณะของสถาปัตยกรรมคณะราษฎร มีเอกลักษณ์เป็นหน้าจั่วที่แบ่งมุขออกเป็น 3 ยอดและกรอบหน้าต่างจำนวน 6 ช่อง อันสะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร [41] [42] ภายหลังจึงกลายเป็นต้นแบบของอัตลักษณ์ทางปรัชญาเกษตรศาสตร์ มี 3 ลักษณะทางจิตวิญญาณเกษตรศาสตร์ประกอบกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้[43]
จั่วสามมุข เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหน้าจั่วนี้มีลักษณะของความโดดเด่นตรงที่มีความกว้างของส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนยอดที่เท่าเทียมกัน หมายความถึงการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนแห่งสยามประเทศ ภายในจำลักลาย บัว 3 ดอก เป็นดอกบัวที่ขึ้นพ้นเหนือน้ำ อันมีเต่าและปลาเป็นตัวแทนของสัตว์ร้ายต่าง ๆ แหวกว่ายอยู่ หมายถึงบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาทั้ง 3 ระดับคือบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ นานัปการตามหลักที่ปรากฏในพุทธโอวาท และมีการประกอบสัญลักษณ์ พระอุณาโลม อันมีลักษณะพ้องกับเลข ๙ เป็นเครื่องหมายอันเป็นนิมิตหมายที่ดี หมายถึง ความรู้และความสว่างแก่โลก
ทั้งนี้สัญลักษณ์จั่วสามมุขยังปรากฏเป็นศิลปกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น อาคารหอประชุมใหญ่ อาคารสารนิเทศ 50 ปี อาคารวชิรานุสรณ์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๔ รอบพระชันษาจุฬาภรณ์ (ศูนย์เรียนรวม 4) อาคารคณะบริหารธุรกิจ อาคารประจำวิทยาเขตต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งบริเวณขอบรั้วโดยรอบมหาวิทยาลัยก็ถอดแบบให้มีลักษณะเป็น "จั่วสามมุข" ด้วยเช่นกัน[44]
เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร แต่งคำร้องถวาย[45]
สีประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ สีเขียวใบไม้[40] ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552[40]
ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย ดังนั้นที่ประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506 จึงได้เลือกให้ต้นนนทรีเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[46][47] และศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ อธิการบดีในขณะนั้นได้นำข้อสรุปของที่ประชุมกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร [48]
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506[49] และมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า
ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น[47]
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนายกสภามหาวิทยาลัยดังรายพระนามและรายนามต่อไปนี้[50]
ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ลำดับ | รูป | รายพระนามและรายนาม (ยศและคำนำหน้าขณะดำรงตำแหน่ง) |
วาระ | |||
เริ่ม | สิ้นสุด | ระยะเวลา (วัน) | ||||
พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน | 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 | 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 | 1225 | |||
นายทวี บุณยเกตุ | 1 กันยายน พ.ศ. 2488 | 17 กันยายน พ.ศ. 2488 | 16 | |||
พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ | 17 กันยายนพ.ศ. 2488 | 24 มกราคม พ.ศ. 2489 | 129 | |||
พระยาอัชราชทรงสิริ | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 | 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 | 44 | |||
นายทวี บุณยเกตุ | 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 | 21 สิงหาคม พ.ศ. 2489 | 150 | |||
นายจรูญ สืบแสง | 24 สิงหาคม พ.ศ. 2489 | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 | 279 | |||
พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 161 | |||
พันตรี ควง อภัยวงศ์ | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 10 | |||
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 7 เมษายน พ.ศ. 2491 | 137 | |||
พระยาพนานุจร | 15 เมษายน พ.ศ. 2491 | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 | 228 | |||
พระช่วงเกษตรศิลปการ | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 | 1093 | |||
พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 | 5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 | 6 | |||
จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2494 | 24 มีนาคม พ.ศ. 2495 | 107 | |||
พลเรือโท หลวงสุนาวินวิวัฒน์ | 28 มีนาคม พ.ศ. 2495 | 11 ธันวาคม พ.ศ. 2496 | 623 | |||
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ | 12 ธันวาคม พ.ศ. 2496 | 16 กันยายน พ.ศ. 2500 | 1374 | |||
นายวิบูลย์ ธรรมบุตร | 23 กันยายน พ.ศ. 2500 | 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 | 392 | |||
นายสวัสดิ์ มหาผล | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 | 26 สิงหาคม พ.ศ. 2502 | 197 | |||
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 | 1770 | |||
จอมพล ถนอม กิตติขจร | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515 | 3186 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2515 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2517 | 729 | |||
หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2517 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2529 | 4382 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2529 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 | 730 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2531 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2535 | 1460 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2535 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2539 | 1460 | |||
นายอำพล เสนาณรงค์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2539 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2549 | 3651 | |||
อาจารย์ ปราโมทย์ ไม้กลัด | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 | 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 | 737 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล อดุลวิทย์ | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 | 6 มีนาคม พ.ศ. 2556 | 1580 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ เรืองพานิช | 7 มีนาคม พ.ศ. 2556 | 8 มีนาคม พ.ศ. 2558 | 731 | |||
รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ | 8 เมษายน พ.ศ. 2558 | 11 เมษายน พ.ศ. 2560 | 734 | |||
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร | 11 เมษายน พ.ศ. 2560 | ปัจจุบัน | 2787 |
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอธิการบดีมาแล้ว 15 คน ดังรายพระนามและรายนามต่อไปนี้[51]
ทำเนียบอธิการบดี และผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ลำดับ | รูป | รายพระนามและรายนาม (ยศและคำนำหน้าขณะดำรงตำแหน่ง) |
วาระ | |||
เริ่ม | สิ้นสุด | ระยะเวลา (วัน) | ||||
พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน | 28 กันยายน พ.ศ. 2486 | 27 กันยายน พ.ศ. 2488 | 730 | |||
นายทวี บุณยเกตุ | 28 กันยายน พ.ศ. 2488 | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 | 219 | |||
หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 | 14 เมษายน พ.ศ. 2501 | 4361 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ | 15 เมษายน พ.ศ. 2501 | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2508 | 2665 | |||
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู | 2 สิงหาคม พ.ศ. 2508 | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2510 | 820 | |||
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 | 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 | 19 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 | 30 เมษายน พ.ศ. 2512 | 526 | |||
หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 | 2039 | |||
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 | 918 | |||
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก | 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 | ||||
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
13 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 | 16 กันยายน พ.ศ. 2520 | 126 | |||
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก | 17 กันยายน พ.ศ. 2520 | 16 กันยายน พ.ศ. 2522 | 729 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
17 กันยายน พ.ศ. 2522 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 | 895 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ | 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 | ||||
ศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา ชุติมา (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
1 มีนาคม พ.ศ. 2525 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2525 | 98 | |||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก ปรีชานนท์ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2525 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2529 | 1460 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2529 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2535 | 2191 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล อดุลวิทย์ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2535 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2539 | 1460 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2545 | 2190 | |||
รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2545 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 | 1460 | |||
รองศาสตราจารย์ วัฒนา สวรรยาธิปัติ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
8 มิถุนายน พ.ศ. 2549 | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 | 161 | |||
รองศาสตราจารย์ นสพ. ดร. ธานีรัตน์ สานติวัตร (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 | 90 | |||
รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ | 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 | 2921 | |||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนามัย ดำเนตร (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558 | 180 | |||
รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ขวัญยืน (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 | 183 | |||
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 | 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 | 1604 | |||
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ | 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 | 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | 1461 | |||
- | ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์
(รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 | 125 | ||
16 | ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีพื้นที่จัดการเรียนการสอนใน 5 พื้นที่ ได้แก่ บางเขน กรุงเทพมหานคร วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ส่วนทางด้านโครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ได้มีมติสภามหาวิทยาลัยให้ตั้งเป็น สถานีวิจัยในสังกัดสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ มีการจัดการเรียนการสอนเป็นการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ภายในจังหวัดลพบุรี และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตกระบี่ ให้ตั้งเป็นศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ เพื่อให้บริการในลักษณะการต่อยอดด้านวิชาการต่าง ๆ [52]
บางเขน หรือ เกษตรกลาง เป็นวิทยาเขตแรกและวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เดิมคือสถานีเกษตรกลางซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงเกษตราธิการใน พ.ศ. 2481 ก่อนจะมีการจะย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากแม่โจ้มาบางเขน และสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2486 ปัจจุบัน เกษตรกลาง บางเขน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 18 คณะ 3 วิทยาลัย และ 2 โครงการจัดตั้งคณะภายใต้โครงการอุทยานการแพทย์ โดยมีคณะสหวิทยาการจัดการและเทคโนโลยี เป็นคณะล่าสุดของมหาวิทยาลัยและวิทยาเขต (โดยมีความรับผิดชอบในการจัดการเรียน-การสอน ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี) สำหรับวิทยาเขตบางเขนมีรายละเอียดหน่วยงานระดับคณะเปิดทำการเรียนการสอนประกอบด้วย ดังนี้
คณะกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์[แก้]
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ[แก้]
หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก[แก้]หลักสูตรนานาชาติ[แก้]โครงการจัดตั้งคณะ (ภายใต้โครงการอุทยานการแพทย์)[แก้]
|
วิทยาเขตกำแพงแสน ตั้งอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จัดตั้งขึ้นเป็นวิทยาเขตลำดับที่ 2 ตามดำริของหม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนที่ 5 หลังจากที่ได้พิจารณาว่าพื้นที่เกษตรกลาง บางเขน คับแคบและไม่สามารถรองรับการขยายงานด้านการศึกษาทางเกษตรให้กว้างขวางเพื่อรับกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติได้ โดยวิทยาเขตกำแพงแสนได้เริ่มจัดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 6 คณะ คือ
|
และ 3 คณะ และ 1 วิทยาลัยที่เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัย อันมีที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขตบางเขน ที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอน 2 วิทยาเขต ประกอบด้วย
วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จัดตั้งเป็นวิทยาเขตลำดับที่ 3 เริ่มก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2538 แรกเริ่มได้ใช้ชื่อว่า "วิทยาเขตสกลนคร (ภูพานกาญจนาภิเษก)" ต่อมาจึงได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น "วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร" โดยการจัดตั้งวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัย รวบรวมข้อมูลและให้บริการวิชาการต่าง ๆ พร้อมทั้งสนับสนุนและช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการศิลปาชีพ[54] ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 4 คณะ และ 1 โครงการจัดตั้งคณะ มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้
|
วิทยาเขตศรีราชา ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับพื้นที่บริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์เชิงเขาน้ำซับจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งเป็นสถานีวิจัยศรีราชาเพื่อใช้พื้นที่วิจัยและฝึกงานของนิสิตคณะเกษตรใน พ.ศ. 2498 โดยสถาบันวิจัยศรีราชาได้ปรับเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยชุมชนศรีราชาใน พ.ศ. 2535 และวิทยาเขตศรีราชาใน พ.ศ. 2542 เนื่องจากความต้องการในการขยายโอกาสทางการศึกษาและรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก โดยได้รับนิสิตเข้าศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2539[56] ประกอบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ 989 ไร่ ในอำเภอบ่อทองเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์นวัตกรรมการเกษตรบ่อทองเพื่อเติมให้วิทยาเขตศรีราชาด้วย ปัจจุบัน วิทยาเขตศรีราชามีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 5 คณะ ประกอบด้วย
|
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อการขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ภูมิภาคตะวันตกของประเทศ โดยเริ่มดำเนินการโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ซึ่งทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดหาที่สาธารณประโยชน์ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรีและอำเภอบางปลาม้าเพื่อรองรับโครงการจัดตั้งวิทยาเขต ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดตั้งคณะอย่างเป็นทางการในโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มอบหมายให้คณะในบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสนรับผิดชอบ ในยุคเริมแรกได้มีการเปิดสอนในบางหลักสูตรแล้วในระยะเริ่มต้น ได้แก่
ปี 2566 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศจัดตั้งคณะสหวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีขึ้นเป็นส่วนงานสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เพื่อมารับผิดชอบการเรียน การสอน ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตฯ ยังไม่เป็นส่วนงานในระดับวิทยาเขต อันเนื่องจาก การจะเป็น "วิทยาเขต" จะต้องประกอบด้วย คณะวิชา 2 คณะขึ้นไปมาสังกัด) ประกอบกับมหาวิทยาลัยฯ ได้โอนบุคคลากรโครงการจัดตั้ง ฯ มาสังกัดคณะดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัวขึ้น และได้ปรับสถานะสำนักงานโครงการจัดตั้งฯ เป็น “สำนักงานเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี” โดยเน้นการดำเนินงานภายใต้การบูรณาการทรัพยากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนกลางบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสนเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้สำนักงานเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี ยังทำหน้าที่ในการดูแลประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และโรงพยาบาลสมทบอื่น ๆ ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สถาบันการศึกษาสมทบปริญญาขั้นสูงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | ||
---|---|---|
สถาบัน | สังกัด | ที่ตั้ง |
วิทยาลัยการชลประทาน | กรมชลประทาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี |
สถาบันการศึกษาที่เคยสมทบปริญญาขั้นสูงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | |||
---|---|---|---|
สถาบัน | สังกัด | ที่ตั้ง | เหตุที่ยุติการสมทบปริญญา |
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ [57] | สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข | กรุงเทพมหานคร | หน่วยงานต้นสังกัด (สถาบันพระบรมราชชนก) สามารถออกปริญญาเองได้ |
โรงเรียนสัตวแพทย์ | กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | กรุงเทพมหานคร | โอนมาสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปัจจุบันคือ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) |
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทางด้านการวิจัยมากที่สุดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[58] โดยมหาวิทยาลัยได้วางนโยบาย มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยอย่างสมบูรณ์[59] โดยปรับปรุงกลไกเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยในภาพรวมให้เข้มแข็ง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรของทางมหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยของนักศึกษา ไปต่อยอดเทคโนโลยีที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง[60][61] ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการวิจัยที่ได้รับเงินอุดหนุนวิจัยภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[62] โดยมีการคัดเลือกผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดแบ่งตามประเภทของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เงินอุดหนุนวิจัยทั่วไป ได้แก่ โครงการวิจัย 3 สาขา คือ โครงการวิจัยสาขาเกษตร โครงการวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์และพฤติกรรม และกลุ่มที่ 2 คือ เงินอุดหนุนวิจัยเฉพาะกิจ
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็น มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดตั้งสถาบันวิทยาการขั้นสูงขึ้น 4 ศูนย์[63] คือ ศูนย์วิทยาการขั้นสูงเพื่อเกษตรและอาหาร ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อน ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเคมีอาหารและการเกษตร และศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อันเป็นการวางโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อรองรับการสร้างผลงานวิจัย สร้างบุคลากรนักวิจัย และผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ [64] และเป็นการระดมสมองและบูรณาการความรู้จากบุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนความเป็นเลิศทางวิชาการและแสดงศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยไปสู่เวทีระดับนานาชาติ[65][66] ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารการประสานงานด้านวิจัย และพัฒนาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[67] ทำหน้าที่ประสานและบริหารงานวิจัย รวมถึงบริการวิชาการและงานวิจัยให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย อันนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่สมบูรณ์แบบ[68]
ใน พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[69] โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัยและกลุ่มดัชนีชี้วัดตามด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเยี่ยมและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 8 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย [70]
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษา ผลปรากฏว่าในการประเมินครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาการจัดการศัตรูพืช (Pest Management) จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร[9]
นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่
QS WU Rankings by Subject | |
---|---|
อันดับสาขาวิชา | |
สาขาวิชา | อันดับ |
Agriculture & Forestry (2024) | 62 |
Environmental Sciences (2024) | 301-350 |
Modern Languages (2024) | 301-340 |
Engineering - Chemical (2024) | 351-400 |
Biological Sciences (2024) | 401-450 |
Life Sciences & Medicine (2024) | 401-450 |
Electrical and Electronic Engineering (2024) | 451-500 |
Engineering - Mechanical, Aeronautical & Manufacturing (2024) | 501-530 |
Economics & Econometrics (2024) | 501-550 |
Engineering & Technology (2024) | 501-550 |
Natural Sciences (2024) | 501-550 |
Chemistry (2024) | 501-550 |
Business & Management Studies (2024) | 551-600 |
THE WU Rankings by Subject | |
อันดับสาขาวิชา | |
สาขาวิชา | อันดับ |
Agriculture & Forestry (2020) | 51-100 |
Education (2024) | 601+ |
Life Sciences (2024) | 801-1000 |
Clinical and health (2024) | 801-1000 |
Business & Economics (2024) | 801+ |
Social Sciences (2024) | 801+ |
Computer Science (2024) | 1001+ |
Engineering (2024) | 1001+ |
Physical Science (2024) | 1001+ |
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS World University Rankings มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับไว้ที่ 751-760 ของโลกและอันดับที่ 150 ของเอเชียในภาพรวมประจำปี ค.ศ. 2024[71] ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย ส่วนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS World University Rankings by Subject หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยได้รับการจัดอันดับไว้ทั้งหมด 4 กลุ่มสาขาวิชากับอีก 12 สาขาวิชา โดยในปี ค.ศ. 2024 มี 10 สาขาวิชาที่ติดอันดับโลก ได้แก่ สาขาวิชา Agriculture & Forestry สาขาวิชา Biological Sciences สาขาวิชา Chemistry สาขาวิชา Engineering - Chemical สาขา Electrical and Electronic Engineering สาขาวิชา Engineering - Mechanical, Aeronautical & Manufacturing สาขาวิชา Environmental Sciences สาขาวิชา Business & Management Studies สาขา Economics & Econometrics และสาขา Modern Languages และมี 3 กลุ่มสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชา Life Sciences & Medicine กลุ่มสาขาวิชา Engineering & Technology และกลุ่มสาขาวิชา Natural Sciences โดยสาขาวิชา Agriculture & Forestry มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลกและติดอันดับที่ 29 ของโลกในปี ค.ศ. 2017[72] ในส่วนของสาขาวิชาอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยติดอันดับโลก ได้แก่
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้รับการจัดอันดับในด้าน Graduate Employability ไว้อันดับที่ 301-500 ของโลกในปี ค.ศ. 2022
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ The Times Higher Education World University Rankings ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้ที่ 1001+ ของโลกและอับดับที่ 251-300 ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) ประจำปี ค.ศ. 2020[73] นอกจากนี้ สาขาวิชา Computer Science สาขาวิชา Life Sciences สาขาวิชา Business & Economics สาขาวิชา Social Sciences สาขาวิชา Engineering & Technology และสาขาวิชา Physical Sciences ยังได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชาในปี ค.ศ. 2020[74] โดยสาขาวิชา Computer Science มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[75]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Best Global Universities Ranking ที่จัดทำโดย U.S. News & World Report ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นอันดับที่ 1187 ของโลก อันดับที่ 341 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยในภาพรวมประจำปี ค.ศ. 2022[76] โดยสาขาวิชา Agricultural Sciences ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 174 ของโลก เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย[77] สาขาวิชา Plant & Animal Science เป็นอันดับที่ 228 ของโลกเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย[78] สาขาวิชา Chemistry ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 879 ของโลก เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย[79] และสาขา Food Science and Technology เป็นอันดับที่ 166 ของโลกเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย[80]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Round University Ranking (RUR) ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นอันดับที่ 624 ของโลกและเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทยในภาพรวมประจำปี ค.ศ. 2020 โดยได้รับการจัดอันดับที่ 708 ของโลกในด้านการสอน (Teaching) อันดับที่ 529 ของโลกในด้านการวิจัย (Research) อันดับที่ 510 ของโลกในด้านความเป็นนานาชาติ (International Diversity) อันดับที่ 615 ของโลกในด้านความยั่งยืนทางการคลัง (Financial Sustainability) อันดับที่ 393 ของโลกในด้านชื่อเสียง (Reputation) และเป็นอันดับที่ 530 ของโลกในด้านวิชาการ (Academic)[81]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Center for World University Rankings (CWUR) ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นอับดับที่ 1243 ของโลกและเป็นอับดับที่ 6 ของประเทศไทยประจำปี ค.ศ. 2020-21 โดยได้รับการจัดอันดับที่ 1505 ในด้าน Alumni Employment และอันดับที่ 1180 ในด้าน Research Performance[82]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชาของ Academic Ranking of World Universities หรือ Shanghai Ranking ประจำปี ค.ศ. 2020 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกอยู่ 4 สาขาวิชา ได้แก่ อันดับที่ 101-150 ของโลกในสาขาวิชา Veterinary Sciences เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[83] อันดับที่ 201-300 ของโลกในสาขาวิชา Food Science & Technology เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยรองจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์[84] อันดับที่ 401-500 ของโลกในสาขาวิชา Agricultural Sciences เป็นอันดับที่ 2-3 ของประเทศไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[85] และอันดับที่ 401-500 ของโลกในสาขาวิชา Chemical Engineering เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยรองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[86]
การจัดอันดับสถาบันวิจัยโลกของ SCImago Institutions Rankings ซึ่งจัดอันดับสถาบันวิจัยโดยอาศัยดัชนีข้อมูลบทความวารสารวิชาการและจำนวนการอ้างอิงจากฐานข้อมูล โดยรวบรวมสถาบันวิจัยและแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ คือ กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา (University) กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ (Government) กลุ่มหน่วยงานสาธารณสุข (Health) กลุ่มหน่วยงานภาคเอกชน (Company) และกลุ่มองค์การไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit) ในปี ค.ศ. 2022 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 628 ของโลกและเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยในภาพรวมจากทุกกลุ่ม รองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับการจัดอันดับที่ 382 ของโลก อันดับที่ 5 ของประเทศไทยในด้านการวิจัย (Research) อันดับที่ 404 ของโลก อันดับที่ 15 ของประเทศไทยในด้านนวัตกรรม (Innovation) และอันดับที่ 225 ของโลก อันดับที่ 4 ของไทยในด้านสังคม (Societal) ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกอยู่ 17 สาขาวิชา อาทิ อันดับที่ 385 ของโลก อันดับที่ 3 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Agricultural and Biological Sciences อันดับที่ 599 อันดับที่ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Economics, Econometrics and Finance อันดับที่ 488 อันดับที่ 13 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Environmental Science อันดับที่ 709 ของโลก อันดับที่ 5 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Medicine อันดับที่ 605 ของโลก อันดับที่ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Pharmacology, Toxiology and Pharmaceutics อันดับที่ 655 ของโลก อันดับที่ 10 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Physics and Astronomy อันดับที่ 678 ของโลก อันดับที่ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Social Sciences และอันดับที่ 87 ของโลก อันดับที่ 2 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Veterinary[87]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของ UI Green Metric World University Ranking ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวจากจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ส่งข้อมูลเข้าร่วมการจัดอันดับรวมทั้งหมด 956 แห่งในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งมีผลการประเมินจาก 6 ด้าน ได้แก่ สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค (Setting & Infrastructure) การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Energy & Climate Change) การจัดการขยะ (Waste) การใช้น้ำ (Water) การจัดการระบบขนส่ง (Transportation) และการศึกษาวิจัย (Education & Research) โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 45 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยไทยเคยได้รับการจัดอันดับ และเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย[88] โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ใน 1 ตัวชี้วัด ได้แก่ การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ[89]
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดการเรียนการสอนใน 5 พื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี, วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี (โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี) โดยมีแหล่งที่ตั้งและจำนวนพื้นที่ของแต่ละวิทยาเขต ดังนี้[90]
นอกเหนือจากพื้นที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีพื้นที่ในศูนย์สถานีวิจัยที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ใช้สำหรับเพื่อจัดการศึกษาค้นคว้าวิจัยและฝึกปฏิบัติงานของนิสิตคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะเกษตร กำแพงแสน โดยศูนย์สถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถแบ่งตามคณะที่รับผิดชอบได้ ดังนี้[91]
คณะเกษตร
คณะประมง
คณะวนศาสตร์
คณะเกษตร กำแพงแสน
โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ในความดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ก่อสร้างขึ้นเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกของนิสิตตามหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นหน่วยงานให้บริการทางสัตวแพทย์ หน่วยชันสูตรโรคสัตว์ และฟาร์มสัตว์เพื่อการเรียนการสอน ปัจจุบัน คณะสัตวแพทยศาสตร์มีโรงพยาบาลสัตว์ 5 แห่ง ดังนี้[92]
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) [93] ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้วางเครือข่ายโครงสร้างและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกหน่วยงานและทุกวิทยาเขตให้มีความพร้อมรองรับการเป็น e-University
การดำเนินงานเพื่อพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการไปแล้วคือ การวางโครงสร้างเครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในวิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตต่าง ๆ โดยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนใน พ.ศ. 2546 รวม 34.5 ล้านบาท[93] และมหาวิทยาลัยได้เตรียมงบประมาณรองรับการวางโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไว้แล้วรวมกว่า 192 ล้านบาท[93] ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยได้วางระบบเครือข่ายสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation) และเริ่มใช้ระบบสำนักงานอัตโนมัติในหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ดำเนินการบริหารการประชุมโดยเริ่มระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ในการประชุมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อลดปริมาณการใช้เอกสาร ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพื่อความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการวางระบบโครงสร้างเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking System) ในคณะ สำนัก สถาบัน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น Wireless Campus ซึ่งได้ดำเนินการแล้วหลายหน่วยงาน เช่น สำนักบริการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี และ สำนักหอสมุด
โดยมีโครงการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการไปแล้วประกอบด้วย[94] โครงการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) โครงการระบบสำนักงานอัตโนมัติ (e-Office) โครงการระบบการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) โครงการข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (e-News) โครงการไวร์เลสแคมปัส (Wireless Campus) โครงการบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โครงการจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัย (e-Publication) โครงการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานบริหารของมหาวิทยาลัย (e-MIS) โครงการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมด้านไอที (e-Personal) โครงการปรับปรุงและขยายเครือข่ายของมหาวิทยาลัย (e-Campus)
และมีแผนที่จะดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้ ดำเนินการโครงการ e-MIS ให้ครอบคลุมระบบงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย พัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอนเพื่อก้าวสู่การใช้ e-Learning ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและพัฒนาโครงการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการก้าวสู่การเป็น e-University ที่สมบูรณ์แบบต่อไปดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลอัจฉริยะทางการเกษตร (Intelligent Agriculture System - e-Ag) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การให้บริการข้อมูลทางการเกษตรโดยระบบอัจฉริยะ (Intelligent Systems) และการสื่อสารโดยผ่านทางสถานีวิทยุของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งการให้บริการถามตอบข้อมูลผ่านทาง Agriculture Call Center ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[95]
การรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
การรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ระยะเวลาในการเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในระดับปริญญาตรีนั้นโดยหลักสูตรปกติจะเป็นหลักสูตร 4 ปี[97] ยกเว้นบางสาขาวิชาที่ต้องมีการเรียนการสอนที่มากกว่า 4 ปี[98]ส่วนปริญญาโทและเอก[99]นั้นเป็นไปตามที่หลักสูตรกำหนด
สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรีนั้นนอกจากจะต้องเรียนตามที่หลักสูตรกำหนดแล้วระเบียบการศึกษาและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้นจะต้องทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ให้ครบหน่วยชั่วโมงกิจกรรม โดยกิจกรรมแต่ละประเภทจะเป็นการพัฒนานิสิตในด้านจริยธรรมและคุณธรรม วิชาการและทักษะวิชาชีพ สุขภาพ โดยเป็นการพัฒนาตนเองและเป็นการทำประโยชน์แก่สังคมอีกด้วย[97]
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บัญญัติข้อบังคับสำหรับการดำเนินกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและกิจกรรมมีประสิทธิภาพ สภามหาวิทยาลัยจึงมีประกาศสภามหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อบังคับว่าด้วยธรรมนูญนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2549 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าการดำเนินกิจกรรมนิสิตของมหาวิทยาลัยจะกระทำได้โดยองค์กรกิจกรรมนิสิต ดังต่อไปนี้[97]
กิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นสามารถที่จะแบ่งได้ออกเป็นหลายลักษณะดังต่อไปนี้ กิจกรรมวิชาการ คือกิจกรรมที่ให้ความรู้แก่นิสิต อาทิ กิจกรรมก้าวแรกสู่บัณฑิตยุคใหม่ เป็นกิจกรรมแรกที่นิสิตชั้นปีที่ 1 จะต้องเข้าร่วมเป็นงานที่อธิบายประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย วิทยาเขตต่าง ๆ [100]
งานเกษตรแห่งชาติ เป็นงานวิชาการด้านการเกษตรที่จัดร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจัดในส่วนกลางที่วิทยาเขตบางเขน สลับกับในส่วนของภูมิภาคที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยจัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2495 โดยใช้ชื่องานว่า "งานประจำปีเกษตรกลางบางเขน" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดงานอีกด้วย [101] นอกจากนี้ยังมี งานเกษตรแฟร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดแสดงงานวิชาการประจำปีซึ่งมีทุกวิทยาเขต โดยจะมีการจัดในสัปดาห์ในวันก่อตั้งของแต่ละวิทยาเขต สำหรับวิทยาเขตบางเขนจะมีการจัดงานปีเว้นปีโดยสลับกับงานเกษตรแห่งชาติ สำหรับวิทยาเขตกำแพงแสนจะใช้ชื่อเรียกว่า "งานเกษตรกำแพงแสน"
กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม อาทิ กิจกรรมคอนเสิร์ตประสานเสียงสามสถาบัน จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (CKT) เป็นการแสดงคอนเสิร์ตร่วมของ 3 สถาบันที่ได้รับพระราชทานเพลงจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[102] กิจกรรมลอยกระทง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีโดยองค์การบริหารองค์การนิสิตกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและรักษาประเพณีอันดีงามของไทย พร้อมกิจกรรมการแสดงบนเวที การประกวดนางนพมาศ และงานธิดาเกษตร งานประกวดบุคคลที่มีความงามที่มีความรู้ด้านการเกษตร[103]
นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และอาสาสมัคร ซึ่งก็คือการออกค่ายอาสา ซึ่งการออกค่ายอาสาสมัครของนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลายองค์กรนิสิต เช่น ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ชมรมโรตาแรคท์ ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ชมรมค่ายอาสาพัฒนานนทรีทักษิณ ชมรมคนสร้างป่า ชมรมธารความรู้นนทรี ชมรมมหาลัย-ชาวบ้าน เป็นต้น
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรวม 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 49 โดยใช้พื้นที่ของวิทยาเขตกำแพงแสนเป็นสถานที่จัดการแข่งขันหลัก โดยมีรายละเอียดที่จัดการแข่งขัน ดังนี้
เจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย | |||
---|---|---|---|
ลำดับ | เจ้าภาพการจัดการแข่งขัน | ช่วงเวลา | สถานที่จัดการแข่งขันหลัก |
1 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20 | 8 - 15 มกราคม พ.ศ. 2536 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน |
2 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 26 | 29 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
3 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 | 15 - 24 มกราคม พ.ศ. 2558 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
4 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 | 27 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นเจ้าภาพร่วม การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5, ครั้งที่ 6, ครั้งที่ 7, ครั้งที่ 9
มีหลักฐานจากสูจิบัตรวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 โดยสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในคราวนั้นคือ ห้องโถงชั้นบนตึกสัตวบาล ซึ่งเป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรระหว่าง พ.ศ. 2493 - 2495 (อาคารหอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน) [104][105]
ต่อมาพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษา ได้ใช้อาคารห้องสมุดกลางในขณะนั้นในระหว่าง พ.ศ. 2496 ถึง 2499[106] และหลังจากหอประชุมใหญ่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2500 จึงได้ใช้อาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนในเวลาต่อมา
ใน พ.ศ. 2520 ได้มีการย้ายสถานที่ในการพระราชทานปริญญาบัตรจากหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปเป็น อาคารใหม่ สวนอัมพร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2519 - 2520 โดยอาคารใหม่ สวนอัมพร นี้ เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรระหว่าง พ.ศ. 2520 - 2528[107]
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำ พ.ศ. 2529 ได้กลับมาจัดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้ง แต่เปลี่ยนสถานที่จากหอประชุมเป็นอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งมีขนาดกว้างขวางกว่าและจุผู้เข้าร่วมพิธีได้มากกว่า โดยในวาระนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงประกอบพิธีเปิดอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งตั้งชื่อตามพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และใช้เป็นสถานพระราชทานปริญญาบัตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 จวบจนถึงปัจจุบัน[108]
หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2542 - 2543 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2541 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [109]
และใน พ.ศ. 2544 ถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากทุกวิทยาเขต โดยมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี[110] ใน พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนเวลาการเปิดการสอนภาคต้นจากเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนสิงหาคมจึงได้เลื่อนกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นช่วงเดือนตุลาคม
วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[111][112] ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยถือเอาการมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดพิธีรำลึกและวางพวงมาลาคารวะสามบูรพาจารย์ผู้บุกเบิกมหาวิทยาลัยและพิธีรดน้ำบูรพาจารย์อาวุโส เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบทุกปี ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
วันรำลึกถึงรัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน [113] เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน และกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว ซึ่งปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร เหตุการณ์ในวันนั้นจึงนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเกษตรของไทยและของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดไป
วันหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร[114] เป็นวันรำลึกซึ่งหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2514 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ทรงเป็นประธานคณะกรรมการข้าวระหว่างชาติ ทรงได้รับรางวัลแมกไซไซด้านบริการสาธารณะ และที่สำคัญทรงได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดพิธีรำลึกในวันที่ 22 มิถุนายน ของทุกปี ณ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันสระสุวรรณชาดพระราชทาน เป็นวันครบรอบสระสุวรรณชาดซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัดให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกและระบบประสาท โดยเป็นเงินพระราชทานจากรายได้การจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า สระสุวรรณชาด เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในครั้งนี้ด้วย
วันสืบ นาคะเสถียร เป็นวันรำลึกถึงคุณงามความดีของสืบ นาคะเสถียร นิสิตเก่าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย ผู้ซึ่งพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และได้กระทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับคณะวนศาสตร์และสโมสรนิสิตคณะวนศาสตร์ได้จัดพิธีประกาศสดุดีรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียร พิธีวางพวงมาลา และจัดกิจกรรมนิทรรศการให้ความรู้เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ ให้นิสิตเห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี[115]
วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน 9 ต้น ณ บริเวณด้านหน้าอาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานต้นนนทรีเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยตามคำกราบบังคมทูลของทางมหาวิทยาลัย[116] และหลังจากทรงปลูกต้นนนทรีแล้ว ได้ทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก โดยล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเข้าสู่หอประชุม เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งมี อาจารย์ นิสิต และนิสิตเก่าแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมอยู่ด้วย ได้แก่ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ว่าที่ร้อยตรี อวบ เหมะรัชตะ เป็นต้น เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสด็จ "เยี่ยมต้นนนทรี" และ "ทรงดนตรี" อีก 9 ครั้งในปีต่อ ๆ มา
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
13°50′52″N 100°34′15″E / 13.847747°N 100.57084°E