มะแว้งต้น | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Asterids |
อันดับ: | Solanales |
วงศ์: | Solanaceae |
สกุล: | Solanum |
สปีชีส์: | S. violaceum |
ชื่อทวินาม | |
Solanum violaceum Ortega 1798 | |
ชื่อพ้อง | |
รายการ
|
มะแว้งต้น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Solanum violaceum) เป็นพืชในสกุลมะเขือ กระจายพันธุ์ในอินเดีย จีน และอินโดจีน[2] ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1–1.5 เมตร ลำต้นมีขนนุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่หรือขอบขนาน เรียงสลับกัน ขนาด 4–10 x 6–12 เซนติเมตร โคนใบป้านกว้าง ขอบใบหยักเว้าหรือเป็นแฉกมน ๆ ไม่สม่ำเสมอกัน ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง มีดอกย่อย 2–8 ดอก ดอกสีม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 กลีบเช่นกัน มีอับเรณูสีเหลือง มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ผลกลมสีเขียวขนาดราว 1 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก[3]
ตำรายาไทยระบุว่าผลมะแว้งต้นมีรสขมขื่นเปรี้ยว ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยให้เจริญอาหาร รากมะแว้งต้นมีรสขมขื่นเปรี้ยวเช่นกัน มีสรรพคุณแก้ไอ แก้ไข้สันนิบาต กัดเสมหะ[3] นอกจากนี้ยังเข้ากับสมุนไพรอื่นเป็นยาประสะมะแว้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจในบัญชียาหลักแห่งชาติ[4]
ผลมะแว้งต้นรับประทานเป็นอาหารกับน้ำพริก แต่นิยมน้อยกว่ามะแว้งเครือ ลูกมะแว้งต้นมีวิตามินเอค่อนข้างสูง ชาวกะเหรี่ยงนำผลมาใส่แกงหรือน้ำพริก[5]