เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์เกี่ยวกับ |
อนิเมะและมังงะ |
---|
สถานีย่อยการ์ตูนญี่ปุ่น |
มังงะแนวทำอาหาร หรือ เรียวริมังงะ (ญี่ปุ่น: 料理漫画; โรมาจิ: ryōri manga) หรือ กูร์เมต์มังงะ (ญี่ปุ่น: グルメ漫画; โรมาจิ: gurume manga) เป็นแนวของมังงะและอนิเมะญี่ปุ่นที่มีองค์ประกอบหลักของเนื้อเรื่องเป็นเรื่องของอาหาร การทำอาหาร การกิน หรือการดื่ม มังงะแนวนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นผลมาจาก "กูร์เมต์บูม" ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่น
ในหนังสือ มังงะ! มังงะ! เดอะเวิร์ลออฟเจเปนนิสคอมิกส์ (Manga! Manga! The World of Japanese Comics) ที่เขียนโดย Frederik L. Schodt จัดหมวดหมู่มังงะแนวทำอาหารเป็นประเภทหนึ่งของ "มังงะอาชีพ" ซึ่งเป็นหมวดหมู่หลวม ๆ ที่กำหนดโดยเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมและอาชีพที่เน้น "ความอุตสาหะในการเผชิญกับโอกาสที่เป็นไปได้ยาก งานฝีมือ และการแสวงหาความเป็นเลิศ" และตัวเอกของเรื่อง มักเป็น "ชายหนุ่มที่มีภูมิหลังอันด้อยโอกาสผู้เข้าสู่สายอาชีพและกลายเป็น 'ผู้ที่เก่งที่สุดในญี่ปุ่น'"[1] มังงะแนวทำอาหารในแต่ละตอนมักจะเน้นไปที่อาหารจานใดจานหนึ่งโดยเฉพาะ และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการปรุงอาหารนั้น ๆ ในขณะที่เรื่องราวยังคงรวมเอาองค์ประกอบการเล่าเรื่องมาตรฐาน เช่น โครงเรื่องและพัฒนาการของตัวละคร มักเน้นความสำคัญไปที่เทคนิคของการทำอาหารและการรับประทานอาหาร[2] เรื่องราวในมังงะแนวทำอาหารมักจะมีคำอธิบายโดยละเอียดหรือภาพประกอบที่เหมือนจริงของอาหาร[3] มักจะมีสูตรอาหารรวมอยู่ด้วย[4]
มังงะแนวทำอาหารเป็นหมวดหมู่ที่ผสมผสานกับมังงะแนวอื่นหลายแนว[4] โดยมีเรื่องราวมังงะแนวทำอาหารที่เน้นเรื่องราวแนววีรคติ อาชญนิยาย รหัสคดี และแนวอื่น ๆ อีกจำนวนมากเท่าที่มีการผลิตมา[5] อายุและเพศของตัวละครเอกเอกของมังงะแนวทำอาหารมักจะบ่งบอกถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยทั้งชายและหญิงจะเป็นกลุ่มผู้ชมสำหรับประเภทดังกล่าว[6] ในขณะที่การเตรียมอาหารที่บ้านถูกเหมารวมว่าเป็นงานของผู้หญิงในญี่ปุ่นเช่นเดียวกับโลกตะวันตก การทำอาหารอย่างมืออาชีพและผู้ชำนาญการก็มักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของผู้ชาย[7] มังงแนวทำอาหารนั้นรวมเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารโลกที่หลากหลาย และไม่จำกัดเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น[8]
ในขณะที่มังงะมีการอ้างอิงถึงอาหารและการทำอาหารมาเป็นเวลานาน[9] มังงะแนวทำอาหารยังไม่ปรากฏเป็นประเภทแยกจนกระทั่งทศวรรษ 1970 มังงะสามเรื่องที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกของมังงะแนวทำอาหารสมัยใหม่ ได้แก่ ทตสึเงกิ ราเม็ง (นิตยสารโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์, พ.ศ. 2513) โดยมิกิยะ โมจิซูกิ, เค้ก เค้ก เค้ก (นิตยสารนากาโยชิ, พ.ศ. 2513) โดยโมโตะ ฮางิโอะและอายะ อิจิโนกิ และ คิตเชน เคนโป (สำนักพิมพ์ชิมบุงอากาฮาตะ, ค.ศ. 2513) โดยมิเอโกะ คาเม ความสนใจในมังงะเกี่ยวกับการทำอาหารที่เพิ่มขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยของครอบครัวในทศวรรษ 1970 และความสามารถของครอบครัวชาวญี่ปุ่นทั่วไปในการรับประทานอาหารนอกบ้าน[10]
ซีรีส์มังงะเรื่องโฮโจนิง อาจิเฮ โดยจิโร กีว และ โจ บิก[6] ตีพิมพ์ในนิตยสาร โชเน็งจัมป์รายสัปดาห์ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2520 ขึ้นชื่อว่าเป็นการ์ตูนแนวทำอาหารเรื่องแรก ๆ โฮโจนิง อาจิเฮได้สร้างลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่ยังคงปรากฏอยู่ในมังงะแนวทำอาหารในปัจจุบัน เช่นปฏิกิริยาที่เกินจริงของผู้ที่รับประทานอาหารเพื่อถ่ายทอดความอร่อยให้กับผู้อ่านที่อาจไม่เคยลิ้มรสส่วนผสมในภาพ และการประลองปรุงอาหารที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอธิบายรสชาติให้กับผู้อ่าน
มังงะแนวทำอาหารได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อันเป็นผลจาก "กูร์เมต์บูม" ในญี่ปุ่น ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นได้ขยายไปถึงสินค้าฟุ่มเฟือยและทำให้ความนิยมในอาหารรสเลิศและศิลปะการทำอาหารกลายเป็นความสนใจและงานอดิเรกยอดนิยม[9][11] ในช่วงเวลานี้ ซีรีส์มังงะเรื่อง โออิชินโบะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมังงะ บิกคอมิกสปิริตส์ เป็นซีรีส์มังงะจำนวน 103 เล่มที่กลายเป็นมังงะทำอาหารที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดตลอดกาล[9] โออิชินโบะ มีชื่อเสียงในด้านการเปลี่ยนจุดสนใจของการ์ตูนแนวทำอาหารจากเรื่องทักษะหรืองานฝีมือของช่างฝีมือไปสู่ความฉลาดหลักแหลมของนักวิจารณ์อาหาร ตัวละครแสดงรสชาติอันเลิศผ่านการพูดคนเดียวเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของส่วนผสมหรือเทคนิคที่ใช้ในการดึงรสชาติที่ดีที่สุดออกมา นอกจากโออิชินโบะ แล้ว มังงะแนวทำอาหารอีก 2 เรื่องที่ได้รับอิทธิพลในช่วงเวลานี้คือ เดอะเชฟ (พ.ศ. 2528) โดยทาดาชิ คาโต และ คุณพ่อยอดกุ๊ก (นิตยสารมอร์นิงรายสัปดาห์, พ.ศ. 2529) โดยโทจิ อูเอยามะ
ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มังงะแนวทำอาหารเริ่มให้ความสำคัญกับอาหารที่หาได้ง่ายหรืออาหารในชีวิตประจำวันมากขึ้น การแสดงภาพความชำนาญการของร้านอาหารที่อยู่จริงจริงกลายเป็นเรื่องทั่วไป เช่นเดียวกับการใส่สูตรอาหารในตอนท้ายของตอนของมังงะหรือตอนของอนิเมะ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ คุณพ่อยอดกุ๊ก เป็นผู้บุกเบิก หลังจากที่ โออิชินโบะ หยุดตีพิมพ์ไปในปี พ.ศ. 2557 ก็มีมังงะเกี่ยวกับอาหารและการทำอาหารที่เน้นเรื่องอาหารในวงแคบ ๆ ออกมาจำนวนมาก สาระของเรื่องมีตั้งแต่ เอกิเบ็งไปจนถึงแฮมเบอร์เกอร์และปลาไหล
จนถึงปัจจุบัน มีการผลิตมังงะแนวทำอาหารเกือบ 1,000 เรื่อง[12]