ท้าวมาลีวราช ท้าวมาลีวัคคพรหม | |
---|---|
จิตรกรรมรามเกียรติ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอน “ท้าวมาลีวราชว่าความ” โดยมีท้าวมาลีวราชหรือมาลีวัคคพรหมเป็นประธาน | |
ชื่ออื่น | ท้าวมาลยวานะ (Malyavan) ในรามายณะ |
ส่วนเกี่ยวข้อง | รามายณะ รามเกียรติ์ เรียมเกร์ |
บิดา-มารดา | ท้าวสุรเกศ (Sukesh) - ในรามายณะ นางเทววดี (Devavati) ในรามายณะ[1] |
ท้าวมาลยวานะ (ภาษาสันสกฤต: Malyavan) ในรามายณะ หรือ ท้าวมาลีวราช หรือ ท้าวมาลีวัคคพรหม ในรามเกียรติ์และเรียมเกร์เป็นรายชื่อตัวละครในรามเกียรติ์ในศาสนาฮินดู โดยมีศักดิ์เป็นตาของท้าวราวณะในรามายณะส่วนในรามเกียรติ์และเรียมเกร์มีศักดิ์เป็นปู่ของท้าวทศกัณฐ์[2]
ในรามายณะคือท้าวมาลียวัน มีเชษฐาอีกสององค์ คือ ท้าวสุมาลี (Sumali) ท้าวมาลี (Mali) ซึ่งเคยเป็นพระเจ้านครลงกามาก่อนแต่รบแพ้และได้หลบหนีพระนารายณ์ไปอยู่ที่อื่น โดยท้าวสุมาลีมีภรรยาสองคนนามว่า นางเกษมาทรี (Ketumati) มีบุตรรวมสิบสี่ตน และมีบุตรกับ นางทัศทกา (Thataka) อีกสามตน โดยบุตรีสุดท้องของนางคือ นางไกกาสี ซึ่งชายาองค์ที่สองของท้าววิสรวะ ผู้เป็นเหลนของพระพรหม เป็นพระเจ้านครลงกาใหม่ โดยนางไกกาสีนี้ คือ มารดาของทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และสำมนักขา ท้าวมาลียวัน เป็นผู้ที่ทุกคนในลงกาเกรงใจและให้ความเคารพ เป็นที่ปรึกษาทั้งในและนอกสภาของทศกัณฐ์ ท้าวมาลียวันเป็นอีกผู้หนึ่งที่แนะนำให้ทศกัณฐ์ส่งคืนนางสีดาอยู่เสมอ ไม่สนับสนุนให้ทำการสงครามเพื่อสตรีเพียงนางเดียว[3]
ท้าวมาลีวราช หรือมาลีวัคคพรหม เป็นพระพรหมมีสี่พักตร์แปดกร มีความยุติธรรมมากจึงได้รับพรจากพระอิศวรให้มีวาจาสิทธิ์ ท้าวมาลีวราช มีศักดิ์เป็นปู่ของทศกัณฐ์เนื่องจากเป็นเชษฐาของท้าวจตุรพักตร์[4] เมื่อทศกัณฐ์ทำสงครามกับพระรามต้องสูญเสียญาติมิตรและบริวารเป็นจำนวนมาก ทศกัณฐ์หวังจะให้ท้าวมาลีวราชสาปแช่งพระราม จึงฟ้องร้องต่อท้าวมาลีวราชใส่ร้ายพระรามมากมาย ท้าวมาลีวราชไม่ต้องการฟังความข้างเดียวจึงให้เชิญพระรามและนางสีดาไปสอบสวนจนได้ความจริง ท้าวมาลีวราชสั่งให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาไป แต่ทศกัณฐ์ไม่ยินยอม ท้าวมาลีวราชโกรธมากกล่าวคำสาปแช่งให้ทศกัณฐ์ต้องตายด้วยศรของพระราม[5][6]
หน้าพรหมสีขาวสี่พักตร์ ทำเป็นสองชั้นชั้นแรกมีสี่หน้า ชั้นที่สองทำเป็นหน้าเล็ก ๆ สามหน้าเรียงอยู่ด้านหลังท้ายทอย จะสวมมงกุฎน้ำเต้ากาบห้ายอดกายสีขาว[7][8]