มิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยาม
ด้านหน้าอาคารมิวเซียมสยามในปี พ.ศ. 2566
แผนที่
ก่อตั้ง2 เมษายน พ.ศ. 2551
ที่ตั้ง4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิกัดภูมิศาสตร์13°44′39″N 100°29′39″E / 13.744140°N 100.494200°E / 13.744140; 100.494200
เจ้าของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ขนส่งมวลชน สนามไชย

มิวเซียมสยาม หรือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (อังกฤษ: Museum Siam, Discovery Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2551 มิวเซียมสยามดูแลโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้นี้ ถือเป็นแหล่งการเรียนรู้หนึ่งที่เน้นจุดมุ่งหมายในการแสดงตัวตนของชนในชาติ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เข้าชมที่อยู่ในวัยเด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้รากเหง้าของชาวไทย โดยเน้นไปที่กลุ่มชนในเขตเมืองบางกอก หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า กรุงเทพมหานคร เป็นสำคัญ เนื่องจากตัวมิวเซียมสยามแห่งนี้ได้ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่มิได้หมายความว่าถ้าเป็นคนไทยต่างจังหวัด จะไม่สามารถมาเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์นี้ได้ ด้วยเพราะสิ่งที่จัดแสดงในตู้ เน้นการนำเสนอความเป็นไทย ในมิติที่ร่วมสมัยมากขึ้น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอด้วยสื่อผสมหลายรูปแบบ ทำให้มีความน่าสนใจ และดึงดูดใจผู้เข้าชมได้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังตั้งอยู่ในสถานที่สวยงาม

ปัจจุบัน ได้ทำการปรับปรุงนิทรรศการชุด เรียงความประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ต่อมาได้มีการจัดทำนิทรรศการชุดใหม่โดยมีจุดประสงค์ให้มีเนื้อหาเท่าทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้าชม มีชื่อชุดว่า นิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" นำเสนอภายใน 14 ห้องนิทรรศการ ที่จะพาไปเรียนรู้ทุกมุมมองความเป็นไทย และพัฒนาการความเป็นไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย

สำหรับ นิทรรศการ "เรียงความประเทศไทย" ได้ทำการจัดแสดงกับ Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ เป็นการจัดนิทรรศการในตู้คอนเทนเนอร์เคลื่อนที่ไปจัดแสดง ในสถานที่ต่างๆ โดยเล่าถึงประวัติศาสตร์ของประเทศและคนไทย ผ่านรูปแบบนิทรรศการที่ทันสมัยในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่

พื้นที่จัดแสดง

[แก้]

มิวเซียมสยาม ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) โดยมีอาคารสำคัญที่ใช้ในการจัดแสดงและจัดกิจกรรม ประกอบด้วย

  1. อาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม เป็นอาคาร 3 ชั้น มีห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร และร้านค้าของที่ระลึก มีทางเข้าออกบริการผู้พิการและผู้สูงอายุ อาคารนี้เคยจัดแสดง นิทรรศการ "เรียงความประเทศไทย" (พ.ศ. 2551-2559) ทั้งหมด 17 ห้อง และ นิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" (พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน) ทั้งหมด 14 ห้อง และบางห้องมีการแบ่งสัดส่วนสำหรับเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน เช่น นิทรรศการกินของเน่า นิทรรศการปรากฏการณ์อินเทรนด์ไม่เว้นวรรค (XENOMANIA) นิทรรศการ Please mind the gap (โปรดระวังห้องว่าง ระหว่างเรา) นิทรรศการมาแลสาบ กิจกรรม Muse Playground เป็นต้น
  2. อาคารอเนกประสงค์ 1 เป็นอาคาร 2 ชั้น โครงสร้างกระจก ตั้งอยู่ด้านถนนเศรษฐการ ด้านหลังร้านอาหาร ใช้เป็นอาคารโถงสำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน งานเสวนา และกิจกรรม workshop ต่างๆ อาทิ นิทรรศการปริศนาแห่งลูกปัด, นิทรรศการเลขไทย, นิทรรศการมองใหม่ด้ายไหม, นิทรรศการไฉไลไปไหน, นิทรรศการท่าเตียน กรุงเทพฯ บทที่ 1 , นิทรรศการพม่าระยะประชิด, นิทรรศการชาย-หญิงสิ่งสมมุติ เป็นต้น
  3. อาคารสำนักงาน เป็นอาคาร 5 ชั้น เดิมเป็นอาคารหน่วยงานราชการสมัยเป็นที่ตั้งของกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันปรับปรุงเพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานของ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ มิวเซียมสยาม บางส่วนของพื้นที่เปิดให้บริการเป็นห้องประชุม ห้องสมุด (ห้องคลังความรู้) และห้องคลังโบราณวัตถุและปฏิบัติการ ใช้พื้นที่ในการจัดงานอบรมและเสวนาต่างๆ
  4. ลานสนามหญ้าด้านหน้าอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม คือ สนามหญ้าขนาดเล็กด้านหน้าอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม ตั้งอยู่ด้านติดกับถนนสนามไชย เป็นพื้นที่จัดแสดงประติมากรรมโลหะร่วมสมัยที่มีความหมายเกี่ยวกับ สายรุ้ง เมฆฝน และความอุดมสมบูรณ์ และบางครั้งใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศหมุนเวียน หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น นิทรรศการ Know how ชาวนา ที่ดัดแปลงพื้นที่สนามหญ้าเป็นนาข้าว กิจกรรมภาพยนตร์กลางแจ้ง เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้เป็นทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) สถานีสนามไชย
  5. ลานคนกบแดงและสนามหญ้า เป็นลานอิฐและสนามหญ้า ด้านหลังอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม ตั้งอยู่ใกล้กับประตูถนนมหาราช ใช้จัดนิทรรศการและกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น Noise Market, Night at the museum เป็นต้น
  6. อาคารอเนกประสงค์ 2 ใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ
  7. นิทรรศการเคลื่อนที่ เช่น Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ เป็นการจัดนิทรรศการในตู้คอนเทนเนอร์เคลื่อนที่ไปจัดแสดง ในสถานที่ต่างๆ โดยเล่าถึงประวัติศาสตร์ของประเทศและคนไทย ผ่านรูปแบบนิทรรศการที่ทันสมัยในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีการนำนิทรรศการถาวรชุดเรียงความประเทศไทย ซึ่งได้ถูกปิดปรับปรุงในปี พ.ศ. 2551 มาจัดแสดงในรูปแบบใหม่นี้ด้วย เป็นต้น

นิทรรศการ "เรียงความประเทศไทย"

[แก้]
สถาปัตยกรรมภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์

นิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย” (จัดแสดง พ.ศ. 2551 จนถึง พ.ศ. 2559) เป็นการบอกเล่าถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ของภูมิภาคอุษาคเนย์ นับตั้งแต่สมัยแผ่นดิน “สุวรรณภูมิ” (3,000 ปีก่อน) อันประกอบด้วยอารยธรรมต่างๆ ก่อนการรับวัฒนธรรมจากอินเดียและจีน เรื่อยมาจนถึงกำเนิดสยามประเทศและก้าวสู่ประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ นิทรรศการได้ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบโต้ตอบโดยใช้ตัวละคร 7 ตัวเป็นตัวกลาง ผนวกกับแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ช่วง และนำเสนอโดยอธิบายลึกลงไปถึงรายละเอียด ผ่านห้องนิทรรศการจำนวน 17 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องมีรายละเอียดสังเขปดังต่อไปนี้ดังนี้

ช่วงที่ 1 “สุวรรณภูมิ” นำเสนอเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิและประเทศไทยในปัจจุบัน ย้อนกลับไปราว 3,000 ปีก่อนการรับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูเข้ามา จนกระทั่งกลายเป็นศาสนาหลักจนถึงปัจจุบัน

  1. เบิกโรง (Immersive Theater) ห้องฉายภาพยนตร์สั้นเพื่อนำเข้าสู่การชมมิวเซียมสยาม ผ่านตัวละครต่าง ๆ
  2. ไทยแท้ (Typically Thai) ห้องแสดงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของไทย พร้อมการไขว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นของไทยแท้หรือไม่
  3. เปิดตำนานสุวรรณภูมิ (Introduction to Suvarnabhumi) ห้องจัดแสดงที่ตั้งของดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ชาติพันธุ์ในดินแดนนี้ และวิธีการขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
  4. สุวรรณภูมิ(Suvarnabhumi) ห้องจัดแสดงความเป็นอยู่ของผู้คนในสุวรรณภูมิ การติดต่อกับต่างประเทศ และหลักฐานประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ
  5. พุทธิปัญญา (Buddhism) ห้องแสดงหัวใจพระพุทธศาสนาและเรื่องราวที่แสดงถึงสัจจธรรม

ช่วงที่ 2 “สยามประเทศไทย” นำเสนอเรื่องราวการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นอาณาจักรใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเกือบทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญในการกำเนิดขึ้นของ “สยามประเทศไทย”

  1. กำเนิดสยามประเทศ (Founding of Ayutthaya) ห้องแสดงเรื่องราวความเป็นมาอาณาจักรต่าง ๆ ในดินแดนสยาม และตำนานต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา
  2. สยามประเทศ (Siam) ห้องแสดงเรื่องราวความเป็นอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และรูปจำลองเรือแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เรือพื้นบ้านถึงเรือพระราชพิธี
  3. สยามยุทธ์ (War Room) ห้องแสดงรูปแบบการรบ กำลังพล และการทำสงครามในสมัยอยุธยา
  4. แผนที่ ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ (Map Room) ห้องแสดงแผนที่ประเทศไทยในสมัยต่าง ๆ
  5. กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา (Bangkok, New Ayutthaya) ห้องแสดงเรื่องราวเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา เริ่มตั้งกรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ การอพยพของคนชาติต่าง ๆ ในสยาม และการเปรียบเทียบว่ากรุงรัตนโกสินทร์เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาอย่างไร
  6. ชีวิตนอกกรุงเทพฯ (Village Life) ห้องแสดงวิถีชีวิตของคนในชนบทนอกกรุงเทพฯ โดยมีเรื่องข้าวเป็นหลัก
  7. แปลงโฉมสยามประเทศ (Change) ห้องแสดงการเปลี่ยนแปลงสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 และเรื่องราวของถนนเจริญกรุง

ช่วงที่ 3 “ประเทศไทย” นำเสนอพัฒนาการของดินแดน ผู้คน และสังคมจากแบบจารีตมาสู่สังคมสมัยใหม่ในปัจจุบัน

  1. กำเนิดประเทศไทย (Politics & Communications) ห้องแสดงเรื่องราวในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
  2. สีสันตะวันตก (Thailand and the World) ห้องแสดงวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทย
  3. เมืองไทยวันนี้ (Thailand Today) ห้องอุโมงค์กระจกขนาดใหญ่ มีโทรทัศน์ขนาดเล็กรายล้อมทั่วห้อง
  4. มองไปข้างหน้า (Thailand Tomorrow) ห้องสำหรับแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าชม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์แสดงข้อความบนผนัง
ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์

นิทรรศการอื่น นอกจากนี้ยังมีห้องนิทรรศการที่เปิดตัวคราวเดียวกัน แต่มีเนื้อหาต่างหากจากนิทรรศการเรียงความประเทศไทย โดยเนื้อหาจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบูรณะซ่อมแซมอาคารโบราณสำหรับใช้ประโยชน์ในการสร้างมิวเซียมสยาม ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังห้องโถงทางเข้า คือ ตึกเก่าเล่าเรื่อง ห้องจัดแสดงความเป็นมาของอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม การบูรณะซ่อมแซม รวมถึงการกลายเป็นมิวเซียมสยามในปัจจุบัน

นิทรรศการ "ถอดรหัสไทย"

[แก้]

นิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" (จัดแสดง พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน) เป็นนิทรรศการถาวร ที่จัดแสดงภายหลังการปรับปรุงนิทรรศการชุด เรียงความประเทศไทย ส่วนนิทรรศการนี้ มีจุดประสงค์ให้มีเนื้อหามุมมองความเป็นไทย และพัฒนาการความเป็นไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่าน 14 ห้องนิทรรศการ อาทิ เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ อาหารการกิน การแต่งกาย การศึกษา วัฒนธรรมร่วมสมัย

ข้อวิจารณ์

[แก้]

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากกว่า 4,000 ล้านบาท จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นโครงการสุรุ่ยสุร่ายเกินเหตุ เต็มไปด้วยลักษณะ ไร้เดียงสา อย่างหาที่เปรียบมิได้[1] จนทำให้ รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ประธานกรรมการ ต้องลาออกจากตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2550 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงกรณีเข้าร่วมประชุมกับศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และมีมติให้ ยุบศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ไปควบรวมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) ว่า เป็นนโยบายของตนที่ต้องการปรับการบริหารจัดการหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ สบร.ที่มี 7 หน่วยงาน ให้มีประสิทธิภาพและใช้งบประมาณคุ้มค่ามากขึ้นจึงให้นโยบายว่าต้องควบรวมให้เหลือ 4 หน่วยงาน ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้มีการควบรวม สถาบันวิทยาการเรียนรู้ (NBL) กับศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ (NGT) และต่อไปจะให้ศูนย์คุณธรรมไปสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกด้วย [2]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]