ม้าเจ๊ก

ม้าเจ๊ก (หม่า ซู่)
馬謖
ภาพวาดม้าเจ๊กสมัยราชวงศ์ชิง
ที่ปรึกษา
(參軍 ชานจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. 228 (228)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
เจ้าเมืองอวดจุ้น (越嶲太守 เยฺว่ซีไท่โฉ่ว)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้/
เล่าปี่ (ตั้งแต่ ค.ศ. 219)
นายอำเภอเซงโต๋ (成都令 เฉิงตูลิ่ง)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 214 (214) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
นายอำเภอกิมก๊ก (綿竹令 เหมียนจู๋ลิ่ง)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 213 (213) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ก่อนหน้าบิสี
เจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 209 (209) – ค.ศ. 213 (213)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 190[a]
เมืองอี๋เฉิง เมืองซงหยง
(ปัจจุบันคือนครอี๋เฉิง มณฑลหูเป่ย์)
เสียชีวิตค.ศ. 228 (38 ปี)[a]
ญาติ
อาชีพขุนพล, นักยุทธศาสตร์
ชื่อรองโย่วฉาง (幼常)

ม้าเจ๊ก (ค.ศ. 190–228)[a][2] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หม่า ซู่ (จีนตัวย่อ: 马谡; จีนตัวเต็ม: 馬謖; พินอิน: Mǎ Sù) ชื่อรอง โย่วฉาง (จีน: 幼常; พินอิน: Yòucháng) เป็นขุนพลและนักยุทธศาสตร์การทหารของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน ม้าเจ๊กมีความสามารถโดดเด่นในเรื่องทฤษฎีการทหารและได้รับความชื่นชมจากจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของจ๊กก๊ก อย่างไรก็ตามความผิดพลาดทางยุทธวิธีของม้าเจ๊กในยุทธการที่เกเต๋งทำให้จ๊กก๊กพ่ายแพ้ครั้งใหญ่แก่เตียวคับขุนพลของวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ ม้าเจ๊กเป็นน้องชายของม้าเลี้ยง

ประวัติช่วงต้น

[แก้]

ม้าเจ๊กเกิดที่อำเภออี๋เฉิง (宜城) เมืองซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) ซึ่งปัจจุบันคือนครอี๋เฉิง มณฑลหูเป่ย์ ม้าเจ๊กในหนึ่งในพี่น้องห้าคนของตระกูลม้าซึ่งทุกคนมีชื่อเสียงในด้านสติปัญญาและเป็นที่รู้จักกันทั่วในชื่อว่า "ห้าฉาง" (五常 อู่ฉาง) เพราะชื่อรองของทุกคนล้วนมีอักษร "ฉาง" (常) อยู่ในชื่อ โดยม้าเลี้ยงพี่ชายของม้าเจ๊กจะถือว่ามีความสามารถมากที่สุดในบรรดาพี่น้องห้าคน [3] นอกเหนือจากความสามารถและความรู้ด้านการทหารแล้ว ม้าเจ๊กยังได้รับบรรยายลักษณะว่าเป็นชายสูงประมาณ 8 ฉื่อ (ประมาณ 1.84 เมตร) มีมนุษยสัมพันธ์ดีและหาเพื่อนเก่ง มีความคิดแจ่มใสและเชี่ยวชาญลึกซึ้ง[4]

ม้าเจ๊กร่วมกับม้าเลี้ยงเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ) ของเล่าปี่เมื่อราวปี ค.ศ. 209 เมื่อเล่าปี่สืบทอดตำแหน่งเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ถัดจากเล่ากี๋ ในปี ค.ศ. 211 ม้าเจ๊กติดตามเล่าปี่เข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว ภายหลังเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างเล่าปี่และเล่าเจี้ยง ม้าเจ๊กได้ติดตามเล่าปี่ในกองทัพและทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการทหารร่วมกับบังทองและหวดเจ้ง ม้าเจ๊กได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอกิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) และเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) ภายหลังม้าเจ๊กย้ายไปทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองอวดจุ้น (越嶲太守 เยฺว่ซีไท่โฉ่ว) เมืองทางใต้ที่กำลังประสบปัญหา เมืองอวดจุ้นเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมาก ซึ่งหลายเผ่าไม่ยอมรับอำนาจของเล่าปี่ จึงเป็นที่ตั้งของการจลาจลโดยชนเผ่าสำคัญที่นำโดยโกเตง (高定 เกา ติ้ง) หัวหน้าของชนเผ่าโสฺ่ว (叟族 โสฺ่วจู๋) ในปี ค.ศ. 218 ซึ่งก็ถูกปราบปรามได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากลิเงียม[5][6]

เนื่องจากม้าเจ๊กมีพรสวรรค์และความสามารถที่เหนือกว่าผู้อื่นและชอบหารือเกี่ยวกับการวางแผนและกลยุทธ์ จูกัดเหลียงหัวหน้าที่ปรึกษาของเล่าปี่จึงประทับใจม้าเจ๊กและยกย่องม้าเจ๊กในฐานะบุคคลที่มีความสามารถเป็นพิเศษ[7] อย่างไรก็ตาม ก่อนเล่าปี่จะสวรรคตในปี ค.ศ. 223 ได้เตือนจูกัดเหลียงว่าความรู้และคำพูดของม้าเจ๊กเกินกว่าความสามารถที่แท้จริงของตัวม้าเจ๊กเอง และไม่ควรมอบหมายหน้าที่สำคัญให้[8] แต่จูกัดเหลียงไม่ใส่ใจต่อคำเตือนนั้น แต่งตั้งให้ม้าเจ๊กเป็นที่ปรึกษาการทหาร (參軍 ชานจฺวิน) ไม่นานหลังจากเล่าปี่สวรรคต ทั้งสองสนิทกันมากและมักสนทนากันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ[9]

การบุกลงใต้

[แก้]

ระหว่างการศึกกับเบ้งเฮ็ก ม้าเจ๊กออกไปส่งจูกัดเหลียงหลายสิบลี้ จูกัดเหลียงบอกม้าเจ๊กว่า "หลายปีมาแล้วที่เราวางกลยุทธ์ร่วมกัน บัดนี้จะขอให้ท่านช่วยด้วยการวางแผนอันชาญฉลาดของท่าน"[10]

ม้าเจ๊กตอบจูกัดเหลียงว่า "หนานจงอาศัยการที่ห่างไกลจากราชธานีและเข้าถึงลำบากจึงไม่ยอมสวามิภักดิ์มาช้านาน ถ้าเราปราบปรามและจากไป วันพรุ่งก็อาจก่อกบฏขึ้นอีก บัดนี้ท่านกำลังจะรวบรวมทั้งรัฐและทหารเพื่อบุกขึ้นเหนือปราบโจรทรงอำนาจ เมื่อทางใต้รู้ว่าอำนาจของราชสำนักอ่อนแอก็จะก่อกบฏขึ้นอีกครั้งทันที แต่หากเผ่าทั้งหมดถูกล้างบางเพื่อยุติความกังวลในอนาคตก็ดูจะไร้มนุษยธรรมเพราะไม่ใช่วิถีของผู้ทรงคุณธรรม นอกจากนั้นก็คงจะเสียเวลาจัดการอย่างมาก ข้าพเจ้าเรียนรู้มาว่าในวิถีของการใช้กำลังพล "โจมตีใจเป็นทางที่ดีที่สุด โจมตีเมืองเป็นทางที่เลวที่สุด การทำสงครามทางจิตวิทยาเป็นทางที่ดีที่สุด การทำสงครามด้วยกำลังทหารเป็นทางที่เลวที่สุด" ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าท่านควรจะมุ่งเน้นไปที่การสยบจิตใจของพวกเหล่านั้น"[11]

จูกัดเหลียงทำตามคำแนะนำของม้าเจ๊ก ให้อภัยแก่เบ้งเฮ็กหลายครั้งเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้คนทางใต้ ด้วยเหตุนี้ภาคใต้จึงไม่ก่อกบฏขึ้นอีกตราบจนจูกัดเหลียงเสียชีวิต[12]

ยุทธการที่เกเต๋ง

[แก้]
ม้าเจ๊กในการแสดงงิ้วเรื่อง เสียเกเต๋ง ที่โด่งดัง

ในปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงเริ่มการบุกเหนือรบกับวุยก๊ก เวลานั้นมีผู้นำทัพที่มีประสบการณ์อย่างอุยเอี๋ยนและงออี้ มีที่ปรึกษาหลายคนในกองทัพเสนอให้แต่งตั้งคนใดคนหนึ่งเป็นผู้บัญชาการทัพหน้า แต่จูกัดเหลียงไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่และเลือกม้าเจ๊กเป็นผู้บัญชาการทัพหน้าแทน[13]

กองกำลังของม้าเจ๊กเผชิญหน้ากับกองกำลังของเตียวคับที่เกเต๋ง ที่เกเต๋งนี้เองที่ม้าเจ๊กทำผิดพลาดทางยุทธวิธีอย่างร้ายแรง ม้าเจ๊กไม่เชื่อฟังคำสั่งของจูกัดเหลียงที่ให้ตั้งกองกำลังภายในตัวเมืองเกเต๋ง กลับนำกำลังไปตั้งค่ายบนเนินเขาแทนโดยเชื่อว่าบนที่สูงจะช่วยได้เปรียบมากขึ้นในแง่ของการสังเกตการณ์และจุดโจมตี อองเป๋งผู้ใต้บังคับบัญชาของม้าเจ๊กไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของม้าเจ๊กโดยให้เหตุผลว่าทางน้ำของพวกตนอาจถูกข้าศึกตัดขาดและกองกำลังก็จะถูกล้อมไว้ แม้ว่าคำแนะนำที่ดีของอองเป๋งจะถูกปฏิเสธ แต่ม้าเจ๊กก็อนุญาตให้อองเป๋งนำกำลัง 1,000 นายไปตั้งค่ายใกล้กับทัพจ๊กก๊กเพื่อคอยสนับสนุน[14][15]

การณ์เป็นไปตามที่อองเป๋งคาดไว้ เมื่อเตียวคับใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดของม้าเจ๊กเข้าตัดทางน้ำของค่ายจ๊กก๊กเป็นผลสำเร็จ ทหารที่กระหายน้ำของฝ่ายจ๊กก๊กพ่ายแพ้อย่างง่ายดายเมื่อเตียวคับเข้าโจมตีค่ายหลัก อองเป๋งซึ่งมีทหารจำนวนน้อยพยายามสุดกำลังเพื่อให้การล่าถอยเป็นไปด้วยดีและสั่งให้ทหารตีกลองเสียงดังเพื่อทำให้ข้าศึกเข้าใจว่ากำลังเสริมมาถึงแล้ว เตียวคับเชื่อว่าเป็นการซุ่มโจมตีจึงไม่ได้ไล่ตาม เมื่อจูกัดเหลียงมาถึงก็ไม่สามารถขับไล่เตียวคับจากที่ตั้งได้จึงล่าถอยไปที่ฮันต๋ง[16][17]

บันทึกเกี่ยวกับการเสียชีวิตของม้าเจ๊ก

[แก้]
ขงเบ้งหลั่งน้ำตาประหารม้าเจ๊ก

จากบันทึกในชีวประวัติของเอี่ยงลองระบุว่าเอี่ยงลองที่เป็นสหายสนิทของม้าเจ๊กไม่ได้รายงานเรื่องที่ม้าเจ๊กหลบหนี แม้ว่าบันทึกไม่ได้ระบุว่าม้าเจ๊กหลบหนีระหว่างหรือภายหลังยุทธการที่เกเต๋ง[18][b]

แม้ว่าม้าเจ๊กจะรอดชีวิตจากยุทธการ แต่กองกำลังของม้าเจ๊กก็พ่ายแพ้ย่อยยับ (อองเป๋งสามารถรวมกองกำลังที่กระจัดกระจายได้อีกครั้ง) ดังนั้นจึงถูกจับในเวลาต่อมาไม่นานและถูกตัดสินโทษประหารชีวิตโดยจูกัดเหลียงผู้ซึ่งออกคำสั่งอย่างไม่เต็มใจพร้อมหลั่งน้ำตา[19][c] เพื่อปลอบประโลมมวลชน ((亮)戮謖以謝眾。) (แปลว่า (จูกัด) เหลียงประหาร (ม้า) เจ๊กเพื่อขอขมาโทษแก่ราษฎร) ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตม้าเจ๊กเขียนหนังสือถึงจูกัดเหลียงว่า "ท่านผู้ปราดเปรื่องมองข้าพเจ้าดั่งบุตรชายและตัวข้าพเจ้าเองก็มองท่านดั่งบิดา ข้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่คือความชอบธรรมในการประหารชีวิตกุ่นซึ่งนำไปสู่ความรุ่งโรจน์ของต้า-ยฺหวี่ ขอให้ความสัมพันธ์ทั้งชีวิตของเราไม่ลดลงไปกว่านี้ แม้ว่าข้าพเจ้าจะตาย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่มีความแค้นเคืองต่อแผ่นดินเหลือง"[20] เวลานั้นทหารหลายคนร้องไห้ให้กับการเสียชีวิตของม้าเจ๊ก[21]

ภายหลังเมื่อเจียวอ้วนเดินทางมาฮันต๋ง ได้พูดกับจูกัดเหลียงในเรื่องนี้ว่า "ในอดีต รัฐฉู่สังหารเต๋อเฉิน (得臣) เมื่อจิ้นเหวินกงทราบเรื่องก็ยินดี ทุกวันนี้แผ่นดินยังไม่เป็นปึกแผ่น แต่ท่านนำนักยุทธศาสตร์ผู้มีความรู้ไปสู่ความตาย ไม่น่าเสียดายหรอกหรือ" จูกัดเหลียงตอบทั้งน้ำตาว่า "สาเหตุที่ซุนวูสามารถปกครองแผ่นดินก็เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใส ฉะนั้นด้วยเหตุเพราะหยาง ก้าน (楊干) ทำให้กฎหมายสับสน เว่ย์ เจี้ยง (魏絳) จึงสังหารคนขับรถของตน บัดนี้แผ่นดินยังคงแตกแยกและสงครามเพิ่งเริ่มต้น หากเราละทิ้งกฎหมายอีก จะปราบกบฏได้อย่างไร"[22]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติม้าเจ๊กในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าม้าเจ๊กเสียชีวิตขณะอายุ 39 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในปี ค.ศ. 228[1] เมื่อคำนวณแล้วปีเกิดของม้าเจ๊กจึงควรเป็นราว ค.ศ. 190
  2. จากบันทึกดังกล่าวสามารถตีความร่วมกับแหล่งข้อมูลอื่นได้ว่าม้าเจ๊กหลบหนีทิ้งทหารไปก่อน แต่ภายหลังถูกจับได้และถูกส่งเข้าคุก
  3. แม้ว่าข้อความจะระบุว่าเพียงม้าเจ๊กเสียชีวิต (物故 อู้กู้) แต่มีนัยชัดเจนว่าม้าเจ๊กถูกประหารชีวิต

อ้างอิง

[แก้]
  1. (... 謖年三十九。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  2. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 649. ISBN 978-90-04-15605-0.
  3. (馬良字季常,襄陽宜城人也。兄弟五人,並有才名,鄉里為之諺曰:「馬氏五常,白眉最良。」良眉中有白毛,故以稱之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  4. (長八尺,才器過人,善與人交,好論軍計,亮深器異。) เซียงหยางจี้ เล่มที่ 02.
  5. (良弟謖,字幼常,以荊州從事隨先主入蜀,除綿竹成都令、越雋太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  6. (輔又越嶲夷率高定遣軍圍新道縣,嚴馳往赴救,賊皆破走。加輔漢將軍,領郡如故。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  7. (才器過人,好論軍計,丞相諸葛亮深加器異。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  8. (先主臨薨謂亮曰:「馬謖言過其實,不可大用,君其察之!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  9. (亮猶謂不然,以謖為參軍,每引見談論,自晝達夜。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  10. (《襄陽記》曰:建興三年,亮征南中,謖送之數十里。亮曰:「雖共謀之歷年,今可更惠良規。」) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  11. (謖對曰:「南中恃其險遠,不服久矣,雖今日破之,明日復反耳。今公方傾國北伐以事強賊。彼知官勢內虛,其叛亦速。若殄盡遺類以除後患,既非仁者之情,且又不可倉卒也。夫用兵之道,攻心為上,攻城為下,心戰為上,兵戰為下,原公服其心而已。」) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  12. (亮納其策,赦孟獲以服南方。故終亮之世,南方不敢復反。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  13. (建興六年 ,亮出軍向祁山,時有宿將魏延、吳壹等,論者皆言以為宜令為先鋒,而亮違眾拔謖,統大眾在前,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  14. (與魏將張郃戰於街亭,為郃所破,士卒離散。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  15. (建興六年,屬參軍馬謖先鋒。謖舍水上山,舉措煩擾,平連規諫謖,謖不能用,大敗於街亭。) Sanguozhi vol. 43.
  16. (亮進無所據,退軍還漢中。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  17. (眾盡星散,惟平所領千人,鳴鼓自持,魏將張郃疑其伏兵,不往偪也。於是平徐徐收合諸營遺迸,率將士而還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  18. (朗素與馬謖善,謖逃亡,朗知情不舉,亮恨之,免官還成都。). จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
  19. (謖下獄物故,亮為之流涕。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  20. (襄陽記曰:謖臨終與亮書曰:「明公視謖猶子,謖視明公猶父,原深惟殛鯀興禹之義,使平生之交不虧於此,謖雖死無恨於黃壤也。」) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  21. (於時十萬之眾為之垂涕。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.
  22. (蔣琬後詣漢中,謂亮曰:「昔楚殺得臣,然後文公喜可知也。天下未定而戮智計之士,豈不惜乎!」亮流涕曰:「孫武所以能製勝於天下者,用法明也。是以楊乾亂法,魏絳戮其僕。四海分裂,兵交方始,若復廢法,何用討賊邪!」) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 39.