ย่านการค้า

ย่านการค้า คือ ศูนย์รวมหรือแหล่งรวมสรรพสินค้าและสรรพบริการ สามารถแยกเป็นย่านการค้าปลีก และย่านการค้าส่ง หรือมีกิจกรรมการขายแบบผสมผสานทั้งสองอย่างในย่านเดียว และย่านการค้าสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทดังต่อไปนี้

ประเภทของย่านการค้า

[แก้]
ย่านธุรกิจ
มักอยู่ใจกลางเมือง จังหวัดใดๆ เรียกเป็นย่านธุรกิจของจังหวัด มักเป็นศูนย์กลางของจังหวัดหรือที่นิยมเรียกกันว่า "กลางเมือง" ถ้าในกรุงเทพย่านธุรกิจจะมีหลายแห่ง เช่น ย่านสีลม หรือ เดอะ แกรนด์ พระราม 9 จุดเด่นของย่านนี้คือจะมีตึกสูง ออฟฟิศต่างๆ และร้านค้าปลีก อยู่ในตึกหรือรอบตึก ซึ่งความเจริญที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการที่ย่านกลายเป็นแหล่งที่ทำงานของคนในจังหวัดหรือละแวกใกล้เคียง เป็นสถานที่นัดหมาย ประชุมในธุรกิจต่างๆ ย่านนี้จะมีสถานนีรถไฟฟ้า รถใต้ดิน ทางด่วน โรงแรมระดับ 4-5 ดาว ร้านอาหาร บางครั้งย่านนี้จะมีคนพลุกพล่านเพียงช่วงกลางวันหรือหัวค่ำ
ย่านช็อปปิ้งและบันเทิง
แบ่งออกได้เป็นย่านกลางวัน และย่านกลางคืน วัตถุประสงค์ของการไปย่านแบบนี้คือการไปเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ช็อปปิ้ง ซื้อสินค้าเสื้อผ้า แฟชั่น กิ๊ฟช๊อปโดยความหนาแน่นของคนจะเป็นไปตามเวลาห้างเปิดและปิด เช่น ย่านราชประสงค์ สยาม มาบุญครอง ย่านบางกะปิ เอ็มดิสทริค สุขุมวิท หรือตามเวลาที่ร้านค้าเปิดและปิด ย่านประเภทนี้จะมีสินค้าหลากหลายให้เลือกซื้อ แต่บางแห่งอาจมีสินค้าเพียงหมวดเดียวให้เลือกซื้อมากมาย เช่น ย่านประตูน้ำ ย่านโบ๊เบ๊แหล่งขายปลีก ส่งเสื้อผ้า ส่วนย่านกลางคืนนั้นมักเป็นเวลาของการเที่ยวกลางคืน เช่น ย่านพัฒน์พงศ์ ย่านรัชดา ย่าน Bukit Bintang(หรือ Starhill)ย่านช็อปปิ้งและความบันเทิงในกัวลาลัมเปอร์
ย่านดำรงชีวิต
คือย่านประเภทที่มีตลาดนัด หรือตลาดสด และร้านค้าเป็นหลัก ที่คนในท้องถิ่นจะเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยของสด ของชำในชีวิตประจำวัน คือสถานที่ที่ไปซื้อกับข้าว เนื้อสัตว์มาปรุง ประกอบอาหารเพื่อรับประทานในครอบครัว หรือถ้าเป็นร้านอาหารก็จะไปซื้อของสดจากย่านนี้ มาเพื่อประกอบอาหารขาย ทั้งนี้รวมถึงย่านที่ขายอาหารสำเร็จรูปทั่วไปและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาจมีขายหนังสือพิมพ์ เสื้อผ้าบ้างประปราย ย่านนี้มักไม่สามารถดึงดูดคนนอกพื้นที่ให้มาสม่ำเสมอได้ เนื่องจากไม่มีจุดเด่นเพียงพอ ผู้ขายอาจเป็นพ่อค้า แม่ค้ามาจากนอกชุมชน แต่มาเพื่อค้าขายและกลับไปในแต่ละวัน เช่น ตลาดบางใหญ่
ย่านแลกเปลี่ยนประจำถิ่น(เขต จังหวัด)
เป็นย่านที่คล้ายๆกับย่านดำรงชีวิต แต่เป็นที่จับจ่ายใช้สอยของคนในละแวกนั้นกับคนละแวกใกล้เคียง อาจมีช่องทางการสัญจรที่ดี ทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมสินค้าสำหรับคนในท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ และใกล้เคียงกัน นำผักผลไม้ในสวนมาซื้อขายกันได้ เป็นย่านที่คนในจังหวัดหรือหมู่บ้าน หรือชุมชนตั้งรกรากอยู่ที่นั้น ซึ่งย่านท้องถิ่นนั้น หากมีสินค้าที่ดีมีเอกลักษณ์ หรือชุมชนสามารถช่วยกันพัฒนาให้ย่านมีชื่อเสียงได้ ก็จะสามารถดึงดูดคนจากนอกชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไป ให้มาจับจ่ายใช้สอยได้ เช่น ย่านบางซื่อ เป็นย่านที่ขายผลไม้จากสวนผลไม้แถบเมืองนนท์ ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลาดไท เกาะเกร็ด ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตลาดน้ำอัมพวา เป็นต้น
ย่านท่องเที่ยว
เป็นแหล่งที่มีปัจจัยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ ลักษณะภูมิประเทศสวยงามตามธรรมชาติหรือเกิดจากฝีมือมนุษย์ มีปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่นขนมธรรมเนียมประเพณี ศิลปกรรม เป็นต้น ย่านแบบนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศแล้วแต่ความน่าดึงดูดใจของสถานที่ ในย่านจะมีสถานีรถไฟ รถทัวส์ แหล่งหรือย่านแบบนี้ ร้านค้าปลีก การที่อยู่ในย่านสามารถ รวบรวม คัดเลือก หรือพัฒนาสินค้า บริการที่แตกต่างจากที่อื่น สร้างเป็นจุดเด่นเฉพาะของย่านเพื่อเป็นของฝาก เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ ย่านประเภทนี้มักมีการสร้างความร่วมมือกันในแบบที่ทั้งมองเห็นได้ และไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น ตลาดน้ำสี่ภาคพัทยา ย่านการค้าหาดเฉวง
ย่านพิเศษ
คือย่านที่มีของหายาก ไม่สามารถหาซื้อได้จากแหล่งอื่น หรือสามารถหาซื้อได้แต่ไม่มีให้เลือกมากเท่าย่านนี้ ย่านแบบนี้มักจะแข่งขันกันสูง เพราะมีสินค้าเหมือนกัน สั่งมาจากซัพพลายเออร์เดียวกัน ร้านต้องมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน สามารถสร้างความแตกต่างในองค์ประกอบการตลาดอื่นๆได้ อาจขายส่งหรือปลีกเช่น ย่าน สำเพ็ง ย่านทองเยาวราช ย่านอาหารจีน เยาวราช ย่าน พาหุรัด ย่าน คลองถม ย่าน ปากคลองตลาด ย่าน โบ๊เบ๊ ย่านเหล่านี้จะมีจุดเด่นที่แข็งกร่งมาก กล่าวคือเมื่อนึกถึงชื่อย่านจะทราบทันทีว่าขายอะไร

อ้างอิง

[แก้]
  • ดร.จินต์จุฑา อิสริยภัทร์,การจัดการย่านการค้า,มหาวิทยาลัยศรีปทุม,2553, บทที่1