รอยโรคฮิลล์–แซ็กส์

รอยโรคฮิลล์–แซ็กส์
ชื่ออื่นรอยแตกแบบฮิลล์–แซ็กส์
ภาพเอ็กซ์เรย์ไหล่ซ้ายแสดงไหล่หลุดไปข้างหน้า ก่อนและหลังการรีดักชั่น (ภาพซ้ายและขวาตามลำดับ) โดยพบรอยโรคฮิลล์-แซ็กส์ และรอยโรคแบงคาร์ตหลังการรีดักชั่นสำเร็จและทำการหมุนเข้าใน (internal rotation)
สาขาวิชาออร์โทพีดิกส์

รอยโรคฮิลล์-แซ็กส์ (อังกฤษ: Hill–Sachs lesion) หรือ กระดูกหักแบบฮิลล์-แซ็กส์ (อังกฤษ: Hill–Sachs fracture) เป็นการยุบตัวของเปลือกกระดูก (cortical depression) ที่ส่วนหัวของกระดูกฮิวเมอรัสทางฝั่งโพสเทอโรลาเทอรอล (posterolateral) อันเกิดจากการกระทบกระเทือนของหัวของกระดูกฮิวเมอรัสเข้ากับขอบกลีนอยด์ทางฝั่งอันเทอโรอินฟีเรียร์ (anteroinferior) ในขณะเกิดการเคลื่อนของข้อไหล่ไปทางด้านหน้า

รอยโรคนี้สัมพันธ์กับการเคลื่อนของไหล่ไปด้านหน้า (anterior shoulder dislocation)[1] เมื่อกระดูกฮิวเมอรัสถูกผลักออกจากโพรงกลีนอยด์ หัวของกระดูกฮิวเมอรัสซึ่งมีลักษณะค่อนข้างนุ่มจะกระทบกับขอบทางด้านหน้าของกลีนอยด์ ส่งผลให้เกิดการแบนลงทางโพสเทอโรลาเทอรอล (posterolateral) ของหัวของกระดูกฮิวเมอรัส

รอยโรคฮิลล์-แซ็กส์ มีการจัดประเภทไว้อยู่สองชนิด คือแบบ "engaging" และ "non-engaging" รอยโรคแบบ engaging นิยามดิวยการที่กลีนอยด์สามารถเคลื่อนเล็กน้อยเข้าไปในหัวของกระดูกฮิวเมอรัสส่วนที่มีพยาธิสภาพขณะทำการแอบดักชั่นและหมุนออกนอก (external rotation) การเคลื่อนลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดการหลุดของไหล่ไปด้านหน้าซ้ำอีก และถ้าหากพบก็สามารถช่วยในการวางแผนการผ่าตัด[2]

การวินิจฉัยโดยทั่วไปเริ่มต้นด้วยการทำเอ็กซ์เรย์ โดยภาพในลักษณะอันเทอโรโพสทีเรียร์ (anteroposterior; AP) ของไหล่โดยที่แขนอยู่ในท่าหมุนเข้าใน (internal rotation) ให้ภาพที่ดีที่สุด ในขณะที่ภาพในลักษณะอักซิลลารี (axillary views) กับ AP ที่แขนหมุนออกนอก (external rotation) มีแนวโน้มจะปิดบังรอยโรค อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดตรงข้อไหล่ที่บาดเจ็บอาจทำให้การจัดท่าอย่างเหมาะสมเพื่อการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์เป็นไปได้ยาก ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าความไว (sensitivity) ต่ิการตรวจจับรอยโรคฮิลล์-แซ็กส์ โดยใช้เอ็กซ์เรย์ในครั้งแรกอยู่ที่ 20% [3] ในขณะที่การวินิจฉัยโดยใช้อัลตราซาวด์พบความไวสูงถึง 96% ในประชากรกลุ่มที่มีการหลุดของไหล่ไปทางข้างหน้าแบบเกิดซ้ำ (recurrent anterior shoulder dislocation)[4]

มีรายงานความชุกของรอยโรคฮิลล์-แซ็กส์อยู่ที่ 40% ถึง 90% ของผู้ป่วยที่ข้อไหล่ไม่มั่นคงลักษณะเคลื่อนไปข้างหน้า (anterior shoulder instability) ทั้งไหล่เคลื่อน (subluxation) และไหล่หลุด (dislocation)[5][6] ส่วนในรายที่เป็นข้อไหล่ไม่มั่นคงลักษณะเคลื่อนไปข้างหน้าที่เป็นซ้ำ (recurrent) อาจพบความชุกของรอยโรคฮิลล์-แซ็กส์ ได้สูงถึง 100%[7]

ชื่อของรอยโรคนี้ตั้งตามแพทย์รังสีวิทยาจากซานฟรานซิสโกสองคน คือ แฮโรลด์ อาร์เทอร์ ฮิลล์ (Harold Arthur Hill, 1901–1973) และ มอริซ เดวิด แซ็กส์ (Maurice David Sachs, 1909–1987) ที่ได้ตีพิมพ์รายงานผู้ป่วยไหล่หลุด 119 กรณีที่พบพยาธิสภาพอันเกิดจากการกดอัดโดยตรงของหัวกระดูกฮิวเมอรัสในปี 1940 รอยหักนี้เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วก่อนที่รายงานดังกล่าวจะตีพิมพ์ แต่ไม่เป็นที่ทราบถึงกลไกการเกิดมาก่อน[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Calandra, Joseph (December 1989). "The incidence of Hill-Sachs lesions in initial anterior shoulder dislocations". The Journal of Arthroscopic & Related Surgery. 5 (4): 254–257. doi:10.1016/0749-8063(89)90138-2. PMID 2590322.
  2. Burkhart, SS; De Beer, JF (October 2000). "Traumatic glenohumeral bone defects and their relationship to failure of arthroscopic Bankart repairs: significance of the inverted-pear glenoid and the humeral engaging Hill-Sachs lesion". Arthroscopy. 16 (7): 677–94. doi:10.1053/jars.2000.17715. PMID 11027751.
  3. Auffarth A, Mayer M, Kofler B, Hitzl W, Bogner R, Moroder P, Korn G, Koller H, Resch H (Nov 2013). "The interobserver reliability in diagnosing osseous lesions after first-time anterior shoulder dislocation comparing plain radiographs with computed tomography scans". J Shoulder Elbow Surg. 22 (11): 1507–13. doi:10.1016/j.jse.2013.04.020. PMID 23790679.
  4. Cicak N, Bilić R, Delimar D (Sep 1998). "Hill-Sachs lesion in recurrent shoulder dislocation: sonographic detection". J Ultrasound Med. 17 (9): 557–60. doi:10.7863/jum.1998.17.9.557. PMID 9733173. S2CID 35184794.
  5. Taylor DC, Arciero RA (May–Jun 1997). "Pathologic changes associated with shoulder dislocations. Arthroscopic and physical examination findings in first-time, traumatic anterior dislocations". Am J Sports Med. 25 (3): 306–11. doi:10.1177/036354659702500306. PMID 9167808. S2CID 25898029.
  6. Calandra JJ, Baker CL, Uribe J (1989). "The incidence of Hill-Sachs lesions in initial anterior shoulder dislocations". Arthroscopy. 5 (4): 254–7. doi:10.1016/0749-8063(89)90138-2. PMID 2590322.
  7. Yiannakopoulos CK, Mataragas E, Antonogiannakis E (Sep 2007). "A comparison of the spectrum of intra-articular lesions in acute and chronic anterior shoulder instability". Arthroscopy. 23 (9): 985–90. doi:10.1016/j.arthro.2007.05.009. PMID 17868838.
  8. Hill HA, Sachs MD (1940). "The grooved defect of the humeral head: a frequently unrecognized complication of dislocations of the shoulder joint". Radiology. 35: 690–700. doi:10.1148/35.6.690.

บรรณานุกรม

[แก้]