ระบบการลงคะแนนแบบผสม

ระบบการลงคะแนนแบบผสม (อังกฤษ: mixed electoral system) เป็นระบบการลงคะแนนที่ผสมผสานระหว่างแบบคะแนนนำ/เสียงข้างมากกับระบบสัดส่วน (PR)[1][2][3] โดยส่วนแรกที่เป็นแบบคะแนนนำ/เสียงข้างมากนั้นมักจะใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (FPTP)[4] ในขณะที่ส่วนที่แบบระบบสัดส่วนนั้นใช้ระบบบัญชีรายชื่อ (party list PR)[5] ลักษณะเฉพาะของระบบผสมนี้ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถมีบทบาทได้ทั้งในการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากและแบบสัดส่วนพร้อม ๆ กัน[6] ส่วน ระบบลูกผสม นั้นใช้สูตรการคำนวณผลคะแนนอีกแบบหนึ่งและมักใช้กันในการเลือกตั้งในระดับภูมิภาค[7]

ระบบการลงคะแนนแบบผสมที่สำคัญได้แก่ ระบบสัดส่วนผสม (MMP) และระบบคู่ขนาน หรือเรียกอีกอย่างว่า ระบบการลงคะแนนแบบเสียงข้างมากผสม (MMM) ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นสัดส่วน[2] ในระบบสัดส่วนผสมนั้นพรรคการเมืองที่ชนะคะแนนเสียงร้อยละ n ของคะแนนเสียงทั้งหมดจะได้รับจำนวนที่นั่งคร่าว ๆ ร้อยละ n ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ส่วนระบบคู่ขนานนั้นมักจะให้ผลลัพธ์กึ่งสัดส่วน กล่าวคือ มีความเป็นสัดส่วนมากกว่าระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมากแต่มีความเป็นสัดส่วนน้อยกว่าการเลือกตั้งระบบสัดส่วน โดยทั้งสองแบบนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีการเลือกผู้แทนซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกมาจากแบบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก และอีกส่วนหนึ่งมาจากระบบสัดส่วน อย่างไรก็ตามการลงคะแนนแบบผสมนี้ไม่จำเป็นจะต้องแบ่งผู้แทนเป็นหลายส่วน[8]

การจัดสรรปันส่วนที่นั่งแบบชดเชย/ไม่ชดเชย

[แก้]

ความแตกต่างของการจัดสรรปันส่วนที่นั่งผสมแบบ ชดเชย และ ไม่ชดเชย[6] คือ ในทั้งสองแบบนั้น จะมีที่นั่งชุดหนึ่งจัดสรรในระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก ที่นั่งจำนวนที่เหลือจะได้รับการจัดสรรให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ ตามสัดส่วนจากการคำนวณวิธีค่าเฉลี่ยสูงสุดหรือวิธีเหลือเศษสูงสุด ในระบบผสมแบบไม่ชดเชยที่นั่ง หรือเรียกกันว่า ระบบคู่ขนาน[4] ซึ่งจัดสรรปันส่วนที่นั่งอย่างเป็นอิสระต่อระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก ในขณะที่ระบบผสมแบบชดเชยที่นั่ง การแบ่งสรรปันส่วนที่นั่งจากระบบสัดส่วนนั้นจะได้รับการชดเชยตามความไม่เป็นสัดส่วนของจำนวนที่นั่งส่วนที่มาจากระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก

ตัวอย่างโดยสมมุติโดยหลุยส์ มาซีก็อต[4] แสดงให้เห็นถึงที่นั่งจากระบบสัดส่วนซึ่งได้รับการแบ่งสรรปันส่วนแบบชดเชยและไม่ชดเชย โดยสมมุติว่าสภานิติบัญญัติประกอบด้วยผู้แทนจำนวน 200 คน โดย 100 คนมีที่มาจากการลงคะแนนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (FPTP) และที่เหลืออีก 100 ที่นั่ง มาจากระบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ตารางต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงคะแนนนิยม (popular vote) และผลการเลือกตั้งโดยระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด โดยมีจำนวนที่นั่งแบบสัดส่วนแบ่งสรรปันส่วนให้แต่ละพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับการชดเชยที่นั่ง

พรรคการเมือง คะแนนนิยม ที่นั่งแบ่งเขต (FPTP) ที่นั่งสัดส่วน (PR) ที่นั่งรวม
A 44% 65 ? ?
B 40% 34 ? ?
C 10% 1 ? ?
D 6% 0 ? ?
รวมทั้งสิ้น 100% 100 100 200

หากไม่มีการชดเชยที่นั่ง แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับที่นั่งสัดส่วนของตนจากทั้งหมด 100 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม จากตารางถัดไป จำนวนผลรวมที่นั่งทั้งสองแบบ (FPTP+PR) นั้นไม่เป็นสัดส่วนตามคะแนนนิยม พรรค A มีคะแนนนำพรรค B ไปเพียงไม่มาก (ตามผลคะแนนนิยม) แต่พรรค A ได้รับจำนวนที่นั่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกตั้งจากแบบแบ่งเขตซึ่งใช้คะแนนนำเป็นการตัดสิน (FPTP)

พรรคการเมือง คะแนนนิยม ที่นั่งแบ่งเขต (FPTP) ที่นั่งสัดส่วน (PR) ที่นั่งรวม
A 44% 65 44 109 (54% ของสภา)
B 40% 34 40 74 (37% ของสภา)
C 10% 1 10 11 (6% ของสภา)
D 6% 0 6 6 (3% ของสภา)
รวมทั้งสิ้น 100% 100 100 200

อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดสรรปันส่วนที่นั่งในระบบสัดส่วนอย่างเป็นธรรม (แบบชดเชย) ดังนั้นจำนวที่นั่งทั้งหมดของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นสัดส่วนสอดคล้องกับคะแนนนิยม ดังปรากฏในตารางด้านล่าง พรรค B ชนะที่นั่งแบบแบ่งเขตถึงร้อยละ 34 จะได้รับที่นั่งระบบสัดส่วนเป็นจำนวนร้อยละ 46 เพื่อให้ได้ผลรวมเท่ากับร้อยละ 40 ของที่นั่งในสภา (ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนคะแนนนิยมของพรรค)

พรรคการเมือง คะแนนนิยม ที่นั่งแบ่งเขต (FPTP) ที่นั่งสัดส่วน (PR) ที่นั่งรวม
A 44% 65 23 88 (44% ของสภา)
B 40% 34 46 80 (40% ของสภา)
C 10% 1 19 20 (10% ของสภา)
D 6% 0 12 12 (6% ของสภา)
รวมทั้งสิ้น 100% 100 100 200

ในทางปฏิบัติแล้ว การจัดสรรปันส่วนที่นั่งแบบชดเชยนั้นมีความซับซ้อนจากความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองพรรคเดียวหรือหลายพรรคชนะที่นั่งแบบแบ่งเขตจำนวนมากจนทำให้ไม่มีที่นั่งในระบบสัดส่วนเพียงพอ[9]ที่จะทำให้จำนวนที่นั่งออกมาลงตัว ในระบบผสมในบางประเทศมีวิธีแก้ปัญหานี้โดยให้เพิ่มจำนวนที่นั่งของระบบสัดส่วนเป็นการชั่วคราวจนถึงการเลือกตั้งสมัยถัดไป[4]

ประเภทของระบบผสม

[แก้]

ระบบคู่ขนาน

[แก้]

ระบบการลงคะแนนแบบคู่ขนาน (parallel voting) เป็นระบบผสมที่ไม่มีการจัดสรรที่นั่งชดเชยโดยมีสมาชิกสภาที่มาจากการลงคะแนนสองประเภท ประเภทแรกคือจากระบบแบ่งเขตเบอร์เดียวซึ่งใช้ระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมากตัดสิน และอีกประเภทมาจากผู้แทนในระดับภูมิภาคหรือผู้แทนรวมที่เลือกมาโดยระบบสัดส่วน เช่น ระบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ในการเลือกตั้งสภาล่างในหลายประเทศ รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และรัสเซีย

ระบบสัดส่วนผสม

[แก้]

การลงคะแนนระบบสัดส่วนผสม (MMP) มีความคล้ายคลึงกับแบบคู่ขนาน โดยในแบบสัดส่วนผสมนี้จะมีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจากระบบแบ่งเขตซึ่งใช้ระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมากตัดสิน และมีผู้แทนอีกส่วนที่มาจากระบบสัดส่วน ซึ่งแตกต่างกันตรงที่ระบบสัดส่วนผสมเป็นระบบผสมซึ่งหมายความว่าที่นั่งที่ได้มาจากระบบสัดส่วนนั้นมาจากการจัดสรรปันส่วนเพื่อแก้ไขให้เป็นสัดส่วนของความไม่สัมพันธ์กันอันเกิดจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต ระบบสัดส่วนผสมใช้ในการเลือกตั้งในไทย นิวซีแลนด์ โบลิเวีย เยอรมนี และเลโซโท

คะแนนเสียงเผื่อเลือกเพิ่ม

[แก้]

ระบบคะแนนเสียงเผื่อเลือกเพิ่ม (alternative vote plus, ย่อ AV+) เป็นระบบผสมที่มีการชดเชยที่นั่ง คล้ายคลึงกับระบบสมาชิกเพิ่มเติม (additional member system, ย่อ AMS) โดยแตกต่างตรงที่นั่งจากการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นได้มาจากระบบคะแนนเสียงเผื่อเลือก (alternative vote, ย่อ AV) ระบบนี้ได้ถูกเสนอโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อระบบการลงคะแนนให้ใช้เป็นตัวเลือกแทนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดในระบบการลงคะแนนของรัฐสภาสหราชอาณาจักร

สกอร์โปโร

[แก้]

สกอร์โปโร (scorporo) เป็นระบบการลงคะแนนแบบผสมสองชั้นคล้ายกับระบบสัดส่วนผสม ยกเว้นตรงประเด็นความไม่เป็นสัดส่วนจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตจะถูกจัดการโดยกลไกแบบโอนเสียง โดยคะแนนเสียงของผู้ชนะในแบบแบ่งเขตของแต่ละเขตนั้นจะไม่ถูกนำไปคำนวณในการจัดสรรที่นั่งในระบบสัดส่วน ระบบนี้ใช้ในอิตาลีช่วง ค.ศ. 1993 ถึง ค.ศ. 2005 และในปัจจุบันใช้ในฮังการี

เสียงข้างมากแบบเพิ่มที่นั่ง

[แก้]

ระบบเสียงข้างมากแบบเพิ่มที่นั่ง (majority bonus system) เป็นระบบการลงคะแนนที่มีการเพิ่มที่นั่ง (โบนัส) ที่เรียกกันว่าเป็น "ระบบผสมแบบแหวกแนว" ใช้ในกรีซ ซานมารีโน และอาร์มีเนีย รวมถึงอิตาลีในช่วง ค.ศ. 2006–2013 ระบบนี้ช่วยให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนสูงสุดหรือพันธมิตรได้ที่นั่งส่วนใหญ่โดยใช้เสียงจำนวนน้อยซึ่งคล้ายกับกรณีของระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก เพียงแต่ใช้ระบบสัดส่วนในการจัดสรรปันส่วนที่นั่งให้กับพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาล

สัดส่วนคู่

[แก้]

ระบบสัดส่วนคู่ (dual-member proportional representation, ย่อ DMP) เป็นระบบผสมที่มีการชดเชยที่นั่งคล้ายกับระบบสัดส่วนผสม ยกเว้นที่ตรงที่การลงคะแนนนั้นทำเป็นคู่ (สองคน) ในระดับแบ่งเขต โดยเป็นระบบที่เสนอให้ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปของแคนาดา และยังเคยเป็นระบบที่ได้รับการเสนอให้ใช้ในการเลือกตั้งรัฐพรินซ์เอ็ดเวิร์ดไอแลนด์ในการลงประชามติเมื่อ ค.ศ. 2016 และในรัฐบริติชโคลัมเบียเมื่อ ค.ศ. 2018

รายชื่อประเทศที่ใช้ระบบผสม

[แก้]

ตารางต่อไปนี้แสดงถึงรายชื่อประเทศที่ใช้ระบบการลงคะแนนแบบผสมสำหรับสภาล่าง โดยไม่รวมถึงประเทศในระบบลูกผสม และประเทศที่ใช้ระบบผสมแบบคะแนนนำ/เสียงข้างมากทั้งสอง

ประเทศ ประเภทของระบบผสม
กรีซ ระบบเสียงข้างมากแบบเพิ่มที่นั่ง
กินี แบบคู่ขนาน
เกาหลีใต้ แบบคู่ขนาน
จอร์เจีย แบบคู่ขนาน
จอร์แดน แบบคู่ขนาน
ซานมารีโน ระบบเสียงข้างมากแบบเพิ่มที่นั่ง
ซิมบับเว แบบคู่ขนาน
เซเชลส์ แบบคู่ขนาน
เซเนกัล แบบคู่ขนาน
ญี่ปุ่น แบบคู่ขนาน
ไต้หวัน แบบคู่ขนาน
ทาจิกิสถาน แบบคู่ขนาน
แทนซาเนีย แบบคู่ขนาน
ไทย ระบบสัดส่วนผสม
นิวซีแลนด์ ระบบสัดส่วนผสม
เนปาล แบบคู่ขนาน
โบลิเวีย ระบบสัดส่วนผสม
ฟิลิปปินส์ แบบคู่ขนาน
มองโกเลีย แบบคู่ขนาน
มอริเตเนีย แบบคู่ขนาน
เม็กซิโก แบบคู่ขนาน
โมนาโก แบบคู่ขนาน
โมร็อกโก แบบคู่ขนาน
ยูเครน แบบคู่ขนาน
เยอรมนี ระบบสัดส่วนผสม
รัสเซีย แบบคู่ขนาน
ลิทัวเนีย แบบคู่ขนาน
เลโซโท ระบบสัดส่วนผสม
เวเนซุเอลา แบบคู่ขนาน
เวลส์ ระบบสมาชิกเพิ่มเติม
ศรีลังกา แบบคู่ขนาน
สกอตแลนด์ ระบบสมาชิกเพิ่มเติม
อันดอร์รา แบบคู่ขนาน
อาร์มีเนีย ระบบเสียงข้างมากแบบเพิ่มที่นั่ง
อิตาลี แบบคู่ขนาน
ฮ่องกง แบบคู่ขนาน
ฮังการี สกอร์โปโร

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Electoral System Design: The New International IDEA Handbook". International Institute for Democracy and Electoral Assistance. 2005.
  2. 2.0 2.1 ACE Project Electoral Knowledge Network. "Mixed Systems". สืบค้นเมื่อ 20 October 2017.
  3. Norris, Pippa (1997). "Choosing Electoral Systems: Proportional, Majoritarian and Mixed Systems" (PDF). Harvard University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-06-29. สืบค้นเมื่อ 2021-06-16.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Massicotte, Louis (2004). In Search of Compensatory Mixed Electoral System for Québec (PDF) (Report). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-16.
  5. "Electoral Systems and the Delimitation of Constituencies". International Foundation for Electoral Systems. 2 Jul 2009.
  6. 6.0 6.1 Bochsler, Daniel (May 13, 2010). "Chapter 5, How Party Systems Develop in Mixed Electoral Systems". Territory and Electoral Rules in Post-Communist Democracies. Palgrave Macmillan. ISBN 9780230281424.
  7. ACE Project Electoral Knowledge Network. "Electoral System Tiers and Hybrid Systems". สืบค้นเมื่อ 20 October 2017.
  8. Bormann, Nils-Christian; Golder, Matt (2013). "Democratic Electoral Systems around the world, 1946–2011" (PDF). Electoral Studies. 32 (2): 360–369.
  9. Bochsler, Daniel (2012). "A quasi-proportional electoral system 'only for honest men'? The hidden potential for manipulating mixed compensatory electoral systems" (PDF). International Political Science Review. 33 (4): 401–420.