ระบบศาลยุติธรรมแห่งประเทศเบลเยียมมีความคล้ายคลึงกับระบบศาลยุติธรรมของฝรั่งเศส ในขณะที่เบลเยียมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองจากแบบรัฐเดี่ยวไปเป็นสหพันธรัฐ แต่ระบบยุติธรรมนั้นยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแต่แต่อย่างใด
ระบบยุติธรรมของเบลเยียมนั้นกล่าวถึงระบบศาลและศาลพิเศษ (ดัตช์: hoven en rechtbanken, ฝรั่งเศส: cours et tribunaux, เยอรมัน: Gerichtshöfe und Gerichte, อังกฤษ: courts and tribunals) ซึ่งกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม
สำหรับทั้งประเทศ |
สำหรับบริเวณศาล |
สำหรับระดับจังหวัด (+ บรัสเซลส์) |
สำหรับระดับเขตศาล |
สำหรับระดับแคนทอน |
ตั้งแต่ค.ศ. 2018 เป็นต้นมา เขตอำนาจศาลยุติธรรมในเบลเยียมนั้นแบ่งเป็น 5 บริเวณ (แอนต์เวิร์ป บรัสเซลส์ เกนต์ ลีแยฌ และ มงส์) 12 เขต (arrondissements) และ 187 แคนทอน (cantons) ก่อนเดือนเมษายน ค.ศ. 2014 ที่มีการปฏิรูปนั้นเขตอำนาจศาลเคยแบ่งเป็น 27 เขต และ 225 แคนทอน ในปัจจุบันนั้น ยกเว้นบรัสเซลส์ จังหวัดเฟลมิชบราบันต์ และจังหวัดลีแยฌ เขตอำนาจศาลนั้นตรงกับเขตจังหวัดของเบลเยียม
ศาลฎีกา หรือ ศาลยุติธรรมสูงสุด (ดัตช์: Hof van Cassatie, ฝรั่งเศส: Cour de Cassation, เยอรมัน: Kassationshof, อังกฤษ: Court of Cassation) เป็นศาลสูงสุดในระบบยุติธรรมของเบลเยียม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาโดยศาลล่าง (ส่วนใหญ่จากศาลอุทธรณ์) และเพียงเป็นการพิพากษาจากโดยพิจารณาจากประเด็นข้อกฎหมาย (Points of law) เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าศาลฎีกาจะไม่พิจารณาคดีใหม่ หรือทบทวนการสืบหาข้อเท็จจริงที่สิ้นสุดแล้วจากศาลล่าง อำนาจศาลฎีกานั้นจำกัดเพียงแค่การพิพากษายืนจากคำพิพากษาเดิม หรือกลับคำพิพากษา (ยกฟ้อง) ในกรณีที่คำพิพากษานั้นขัดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีกลับคำพิพากษาแล้ว ศาลฎีกาจะส่งคดีไปให้ศาลอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกันกับศาลที่ได้กลับคำพิพากษาไป ซึ่งคดีจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่ทั้งการสอบสวน และการพิจารณาจากข้อกฎหมาย จึงกล่าวได้ว่าศาลฎีกามีบทบาทในการทำให้การตีความกฎหมายเป็นเอกภาพตลอดทั่วทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามอำนาจศาลฎีกานั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงการพิพากษาคดีของศาลปกครองยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น นอกจากนี้ศาลฎีกายังมีอำนาจพิจารณาคดีในประเด็นที่เสี่ยงต่อความลำเอียงหรืออคติในการพิจารณา เช่น การพิพากษาคดีอาชญากรรมในอดีต รวมถึงการพิจารณาคดีความที่จำเลยเป็นผู้พิพากษา หรืออัยการ
ศาลอุทธรณ์ (ดัตช์: hof van beroep, ฝรั่งเศส: cour d'appel, เยอรมัน: Appellationshof, อังกฤษ: Court of appeal) เป็นศาลที่ใช้พิจารณาพิพากษาคดีอุทธรณ์ต่างๆ ที่มาจากศาลชั้นต้นเป็นหลักเพียงศาลเดียวในเบลเยียม โดยมีศาลอุทธรณ์ในเขตศาลทั้งห้าของเบลเยียม โดยการอุทธรณ์คำฟ้องนั้นจะได้รับการไต่สวนและพิจารณาคดีใหม่โดยผู้พิพากษา และทำการพิพากษาโดยศาลลูกขุน (Court of Assizes) ศาลอุทธรณ์นั้นยังมีอำนาจการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารฝ่ายตุลากรและฝ่ายบริหารได้เป็นชั้นต้น และมีเพียงแต่ศาลอุทธรณ์ในบรัสเซลส์ และลีแยฌที่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นได้โดยจะต้องได้รับการอนุญาตจากฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลนั้นๆ ก่อน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้นถือเป็นที่สิ้นสุดในเรื่องของข้อเท็จจริงทางคดีความ ส่วนในประเด็นข้อกฎหมายนั้นสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อให้ศาลฎีกาตีความคำพิพากษาได้[1]
ศาลแรงงาน (ดัตช์: arbeidshof, ฝรั่งเศส: cour du travail, เยอรมัน: Arbeitsgerichtshof, อังกฤษ: Court of labour) เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ในระบบศาลเบลเยียม เพื่ออุทธรณ์คดีความด้านแรงงานจากศาลแรงงานชั้นต้นในแต่ละบริเวณ โดยมีศาลแรงงานในเขตศาลทั้งห้าของเบลเยียม (คล้ายกันกับศาลอุทธรณ์) โดยมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีแรงงาน โดยศาลแรงงานมีส่วนสำคัญคือ ผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากองค์กรนายจ้าง และสหภาพแรงงานต่างๆ โดยคำพิพากษาของศาลแรงงานนั้นถือเป็นที่สิ้นสุดในเรื่องของข้อเท็จจริงทางคดี โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ในประเด็นข้อกฎหมายได้[2]
ศาลลูกขุน (ดัตช์: hof van assisen, ฝรั่งเศส: cour d'assises, เยอรมัน: Assisenhof, อังกฤษ: Court of assizes) เป็นศาลอาญาสูงสุดในคดีอุกฉกรรจ์โทษร้ายแรงในเบลเยียม และเป็นศาลเดียวที่ใช้ลูกขุนในการพิพากษาคดี โดยมีเขตอำนาจศาลขึ้นอยู่เขตทั้งสิบจังหวัดของเบลเยียม และหนึ่งศาลสำหรับเขตในแคว้นเมืองหลวงบรัสเซลส์ (ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนการปกครองของจังหวัดใดๆ) โดยศาลลูกขุนนั้นเป็นเพียงศาลเดียวในเบลเยียมที่แบ่งเขตตามการปกครองของประเทศ โดยไม่ถือเป็นศาลประจำ เนื่องจากจะมีการจัดตั้งศาลขึ้นใหม่ในการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาอาชีพจำนวน 3 คน (จากศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น) และคณะลูกขุนจำนวน 12 คน โดยคณะลูกขุนนั้นใช้เพื่อการไต่สวนหาข้อเท็จจริง และพิพาษาคดีร่วมกับผู้พิพากษา อำนาจพิจารณาคดีของศาลลูกขุนนั้นอยู่ในเรื่องคดีอาญาโทษร้ายแรงโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งถือเป็นคดีอาญาประเภทที่ร้ายแรงที่สุดในเบลเยียม รวมถึงเรื่องค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากคดีเหล่านี้ โดยในทางปฏิบัติแล้วคดีอาญาส่วนมากจะผ่านการพิจารณาคดีโดยศาลชั้นต้นก่อน นอกจากนี้อำนาจศาลยังรวมถึงคดีการเมือง และอาชญากรรมสื่อ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาคดีโดยศาลลูกขุนเท่านั้น ผู้ต้องสงสัยไม่สามารถเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลลูกขุนได้โดยปราศจากการฟ้องร้องคดีโดยศาลอุทธรณ์ชั้นไต่สวนก่อน คำพิพากษาของศาลลูกขุนนั้นถือเป็นที่สิ้นสุดในเรื่องของข้อเท็จจริงทางคดี โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ในประเด็นข้อกฎหมายได้[3]
ศาลชั้นต้น (ดัตช์: rechtbank van eerste aanleg, ฝรั่งเศส: tribunal de première instance, เยอรมัน: Gericht erster Instanz, อังกฤษ: Tribunal of first instance) เป็นศาลพิพากษาหลักในระบบศาลเบลเยียม มีอำนาจพิจารณาคดีความทั่วไป ยกเว้นกรณีคดีเฉพาะที่อำนาจศาลอื่นในการพิจารณาคดี โดยศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่างๆ รวมทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายผู้เยาว์ และกฎหมายครอบครัว นอกจากนี้ศาลชั้นต้นยังรับอุทธรณ์คดีความจากศาลโปริสภา และศาลไกล่เกลี่ย โดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นสามารถอุทธรณ์ได้กับศาลอุทธรณ์ ในประเทศเบลเยียมมีศาลชั้นต้นอยู่ในเขตศาลทั้งสิบสองเขต ยกเว้นกรณีของบรัสเซลส์ซึ่งมีสองแห่งอันเนื่องมาจากเหตุผลด้านความละเอียดอ่อนด้านภาษาในบรัสเซลส์ โดยแห่งแรกใช้ภาษาฝรั่งเศส และแห่งที่สองใช้ภาษาดัตช์ ศาลชั้นต้นแบ่งเป็นสี่แผนกหลักๆ[4][5] ได้แก่ แผนกคดีแพ่ง แผนกคดีอาญา แผนกคดีครอบครัวและเยาวชน และแผนกบังคับคดี
ศาลแรงงานชั้นต้น (ดัตช์: Arbeidsrechtbank, ฝรั่งเศส: Tribunal du travail, เยอรมัน: Arbeitsgericht, อังกฤษ: Labour court) เป็นศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และคดีที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม โดยศาลแรงงานชั้นต้นมีอยู่ในแต่ละเขต ศาลแรงงานชั้นต้นมิใช่แผนกหนึ่งของศาลชั้นต้น แต่เป็นศาลที่แยกออกมาอีกศาลหนึ่ง คำพิพากษาของศาลแรงงานชั้นต้นสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่ศาลแรงงาน (ดัตช์: Arbeidshof, ฝรั่งเศส: Cour du travail, เยอรมัน: Arbeitsgerichtshof, อังกฤษ: Court of Labour)[6][7]
ศาลพาณิชย์ (ดัตช์: Ondernemingsrechtbank, ฝรั่งเศส: Tribunal de l’entreprise, เยอรมัน: Unternehmensgericht, อังกฤษ: Business court) เป็นศาลพิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของศาลไกล่เกลี่ย และยังเป็นศาลที่รับอุทธรณ์คดีความพาณิชย์ที่พิพากษาโดยศาลไกล่เกลี่ย ศาลพาณิชย์ไม่ได้เป็นแผนกหนึ่งของศาลชั้นต้นเนื่องจากกฎหมายพาณิชย์ของเบลเยียมนั้นแยกออกจากกฎหมายแพ่งอย่างสิ้นเชิง ศาลพาณิชย์มีอยู่ในแต่ละเขตศาลของเบลเยียม
ศาลเขต (ดัตช์: Arrondissementsrechtbank, ฝรั่งเศส: Tribunal d'arrondissement, เยอรมัน: Bezirksgericht, อังกฤษ: Arrondissement Court) เป็นศาลที่จัดการข้อพิพาทด้านอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลชั้นต้น ศาลพาณิชย์ และศาลแรงงานชั้นต้นภายในเขตพื้นที่ศาล ประกอบด้วยองคณะที่มาจากประธานศาลทั้งสาม[8][9]
โดยหลักการแล้ว คำพิพากษาของศาลเขตนั้นไม่สามารถอุทธรณ์ได้ มีเพียงแต่อัยการสูงสุดโดยศาลอุทธรณ์สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาได้
ศาลโปริสภา (ดัตช์: politierechtbank, ฝรั่งเศส: tribunal de police, เยอรมัน: Polizeigericht, อังกฤษ: Police tribunal) เป็นศาลชั้นต้นชั้นไต่สวนซึ่งมีอํานาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีจราจร และคดีอาญาลำดับต่ำสุดของศาลเบลเยียม โดยมีศาลโปริสภาในแต่ละเขตศาลของเบลเยียม โดยในแต่ละเขตแบ่งเป็นเขตย่อยๆลงไปตามพื้นที่ ยกเว้นกรณีของบรัสเซลส์ที่มีประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีศาลโปริสภาในแต่ละเขตของบรัสเซลส์ โดยมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมถึงคดีละเมิด (Contravention) ซึ่งเป็นคดีอาญาประเภทต่ำสุดในกฎหมายอาญาเบลเยียม รวมถึงคดีละเมิดกฎจราจร และคดีอุบัติเหตุทางจราจร (ทั้งแพ่งและอาญา) นอกจากนี้ศาลโปริสภายังมีอำนาจสำหรับพิจารณาอุทธรณ์มาตรการลงโทษทางแพ่ง (Administrative penalty) ที่ออกโดยเขตเทศบาล หรือเขตปกครองอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน คดีที่พิพากษาโดยศาลโปริสภาสามารถอุทธรณ์ได้ที่ศาลชั้นต้น ยกเว้นกรณีของ คดีลหุโทษ และคดีอุทธรณ์มาตรการลงโทษทางแพ่งต่างๆ[10]
ศาลไกล่เกลี่ย (ดัตช์: vredegerecht, ฝรั่งเศส: justice de paix, เยอรมัน: Friedensgericht, อังกฤษ: justice of the peace) มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีความทางแพ่งในระดับย่อยในระบบศาลเบลเยียม โดยมีศาลไกล่เกลี่ยอยู่ในทุกแคนทอน ซึ่งในปีค.ศ. 2017 มีถึง 187 ศาล (บางแคนทอนมีหลายแห่ง) โดยมีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งที่ไม่เกิน 5,000 ยูโร (ณ ปีค.ศ. 2018) ยกเว้นในกรณีของคดีความที่ศาลอื่นมีอำนาจเฉพาะ โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งต่างๆ ซึ่งรวมถึงคดีฟ้องร้องทางแพ่งต่างๆ เช่น การเช่าหรือปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ การฟ้องขับไล่ผู้เช่า สิทธิในการใช้ทรัพย์สินของผู้อื่น การจัดรูปที่ดิน เครดิตผู้บริโภค หรือค่าสาธารณูปโภคค้างจ่าย นอกจากนี้ยังมีอำนาจพิจารณาคดีความครอบครัวบางบริเวณ โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้ปกครองทางกฎหมายสำหรับบุคคลสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และการเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่สมัครใจในกรณีของผู้ป่วยทางจิต โดยศาลไกล่เกลี่ยนั้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาใดๆ คดีที่พิพากษาโดยศาลไกล่เกลี่ยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่ศาลชั้นต้น (ยกเว้นคดีบางประเภท)[11]
ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายได้ที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ดัตช์: justitiehuis, ฝรั่งเศส: maison de justice, เยอรมัน: justizhaus, อังกฤษ: House of Justice) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลแต่ละเขต และ 2 เขตในบรัสเซลส์ (ศาลหนี่งเป็นภาษาดัตช์ และอีกศาลเป็นภาษาฝรั่งเศส)
กฎหมายสังคม | กฎหมายพาณิชย์ | กฎหมายแพ่ง | กฎหมายอาญา | |
---|---|---|---|---|
ประเทศ | ศาลฎีกา (Hof van Cassatie / Cour de cassation) ฝ่ายคดีสังคม — ฝ่ายคดีแพ่งและพาณิชย์ — ฝ่ายคดีอาญา | |||
บริเวณศาล (5) | ศาลแรงงาน (Arbeidshof / Cour du travail) | ศาลอุทธรณ์ (Hof van beroep / Cour d'appel) | ||
จังหวัด/บรัสเซลส์ (11) | ศาลลูกขุน (Hof van Assisen / Cour d'Assises) ระบบลูกขุนสำหรับคดีอาญาและคดีความการเมือง | |||
เขตศาล (27) | ศาลแรงงานชั้นต้น (Arbeidsrechtbank / Tribunal du travail) | ศาลพาณิชย์ (Ondernemingsrechtbank / Tribunal de l’entreprise) | ศาลชั้นต้น (Rechtbank van eerste aanleg / Tribunal de première instance) | |
1-3 ศาลต่อเขต (35) | ศาลโปริสภา (Politierechtbank / Tribunal de police) | |||
แคนทอน (225) | ศาลไกล่เกลี่ย (Vrederechter / justice de la Paix) |
ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลพิเศษที่ใช้พิจารณาคดีความขัดแย้งระหว่างในระดับรัฐและระดับท้องถิ่น รวมถึงกฎหมายใดๆ ที่อาจละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการปฏิรูปการปกครองประเทศจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ โดยไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรมเบลเยียม
รัฐบาลกลางเบลเยียมมีศาลปกครองจำนวนมาก โดยมีศาลปกครองสูงสุด (ดัตช์: Raad van State, ฝรั่งเศส: Conseil d'État, อังกฤษ: Council of State)เป็นศาลสูง
ประเทศเบลเยียมเป็นสมาชิกในองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร โดยศาลระหว่างประเทศที่มีอำนาจศาลในเบลเยียมได้แก่