รัชนี ศรีไพรวรรณ | |
---|---|
เกิด | รัชนี อัมพานนท์ 11 มีนาคม พ.ศ. 2473 อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 15 เมษายน พ.ศ. 2557 (84 ปี) โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ศิษย์เก่า | วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร |
อาชีพ | ข้าราชการบำนาญ, ศึกษานิเทศก์, ครูภาษาไทย, นักประพันธ์ |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้เขียนเรื่อง มานะ มานี ปิติ ชูใจ ในแบบเรียนวิชาภาษาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2521 – 2537 |
คู่สมรส | มงคล ศรีไพรวรรณ |
บุตร | พงษ์ธร ศรีไพรวรรณ พรพรรณ ศรีไพรวรรณ |
รางวัล | รางวัลนราธิป ประจำ พ.ศ. 2556 |
รัชนี ศรีไพรวรรณ (สกุลเดิม: อัมพานนท์; 11 มีนาคม พ.ศ. 2473 – 15 เมษายน พ.ศ. 2557) เป็นข้าราชการบำนาญ อดีตศึกษานิเทศก์ระดับ 8 สาขาวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป จากผลงานเขียนเรื่อง มานะ มานี ปิติ ชูใจ ที่ใช้เป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทย ในโรงเรียนประถมทั่วประเทศ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 - 2537 อันเป็นผลงานซึ่งเป็นที่ยกย่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน[1] นอกจากนี้ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ยังมอบรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2556 ให้แก่เธอ[1][2]
อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ เกิดที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สำเร็จการศึกษาระดับประถม จากโรงเรียนประชาบาล ‘พินิจราษฎรบำรุง’ อำเภอยางตลาด จังหวัดมหาสารคาม (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์) และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีอนุกูลนารี อำเภอกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์) ต่อมาสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา จากโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา), โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมวังจันทรเกษม (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม) และ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)[2]
อาจารย์รัชนีมีผลงานเขียนหนังสือ ประกอบการสอนวิชาภาษาไทยเรื่อง กระต่ายน้อยและฝนหลวง และ มานะ มานี ปิติ ชูใจ รวมถึงวรรณกรรมเยาวชนเรื่องทางช้างเผือก ร่วมกับนิตยสารอะเดย์[1] อนึ่ง รายการ ภาษาไทยใครว่ายาก เคยเชิญอาจารย์รัชนีเป็นวิทยากร โดยออกอากาศทางโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556 ด้านชีวิตส่วนตัว อาจารย์รัชนีมีบุตรสาวชื่อพรพรรณ[3]
อาจารย์รัชนีถึงแก่กรรม ด้วยโรคหลอดเลือดอุดตัน เมื่อเวลา 21:38 น. ของวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ สิริอายุได้ 84 ปี โดยเมื่อครั้งยังมีชีวิต ท่านแสดงความประสงค์ขอบริจาคร่างกาย สำหรับการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[4][2]
เป็นที่กล่าวขานในวงการศึกษาไทยว่า อาจารย์รัชนี เป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา วิชาภาษาไทยเป็นอย่างมาก โดยขณะรับราชการ ท่านเป็นศึกษานิเทศก์ครูภาษาไทย สังกัดกรมสามัญศึกษา (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงเป็นผู้สอนวิชาภาษาไทยและแนะแนว กรมวิชาการ (ปัจจุบันคือ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จึงมอบหมายให้ท่าน เป็นผู้เขียนเรื่องประกอบ หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ มานะ มานี ปิติ ชูใจ[5]
แม้ทางกระทรวงศึกษาธิการ จะยกเลิกแบบเรียนภาษาไทยชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ เมื่อ พ.ศ. 2537 เนื่องด้วยเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย แต่หลังจากนั้น 8 ปี ทางนิตยสารอะเดย์ นำเรื่องราวมานะ มานี ปิติ ชูใจ ในวัยเติบใหญ่ ที่เขียนโดยอาจารย์รัชนี มาจัดพิมพ์เป็นพ็อกเกตบุ๊ก โดยใช้ชื่อทางช้างเผือก ซึ่งจัดเป็นหนังสือขายดีในเวลานั้น[6]
นอกจากนี้ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ยังขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการของไทย เพื่อนำแบบเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ ของอาจารย์รัชนี ไปใช้เป็นหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของศูนย์ดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน[1][7]
นอกจากนี้แบบเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจของอาจารย์รัชนียังถูกนำไปใช้เป็นหนังสือเรียนวิชา Beginning Thai ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรีในระดับปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัย Northern Illinois University เมือง DeKalb ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรายวิชาดังกล่าวดำเนินการเรียนการสอนโดย Prof. John F. Hartmann มานับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2528 โดยในภายหลังเนื้อหาในแบบเรียนได้รับการพัฒนาเป็นสื่อการเรียนการสอนออนไลน์โดยทุนสนับสนุนและสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่ Thai SEASITE [8]