ลิ้มโต๊ะเคี่ยม | |
---|---|
林道乾 | |
เกิด | คริสต์ศตวรรษที่ 16 ภูมิภาคแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง จีนสมัยราชวงศ์หมิง |
เสียชีวิต | คริสต์ทศวรรษ 1580? ปาตานี |
อาชีพ | โจรสลัด |
ลิ้มโต๊ะเคี่ยม (จีน: 林道乾; พินอิน: Lín Dàoqián; เวด-ไจลส์: Lin Tao-ch'ien; เป่อ่วยยี: Lîm tō-khiân, มลายู: Tok Kayan) เป็นโจรสลัดชาวจีนแต๋จิ๋วที่โจมตีชายฝั่งกวางตุ้งกับฝูเจี้ยน แต่ถูกผู้บังคับบัญชากองเรือแห่งราชวงศ์หมิง หยู่ ต้าโหย่ว ขับไล่ไปที่ไต้หวัน ต่อมาเขาย้ายไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งถิ่นฐาน และเสียชีวิตที่ปาตานี[1]
ลิ้มมีต้นกำเนิดเป็นชาวแต้จิ๋ว และเขาอาจมาจากเฉิงไห่หรือฮุ่ยหลายในมณฑลกวางตุ้ง[2][3] ต่อมาเขาย้ายไปที่เฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน[4] ลิ้มเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโจรสลัดโวโก้วที่ปล้นสะดมริมชายฝั่งจีนในรัชสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (1522–1566) เขาโจมตีเจ้าอาน โดยเขาเผาบ้านมากกว่าร้อยหลังและฆ่าคนมากกว่าพันคน[1] ด้วยเหตุนี้ กองเรือราชวงศ์หมิงที่นำโดยหยู่ ต้าโหย่ว ขับไล่ลิ้มไปที่หมู่เกาะเผิงหู และต่อมาที่เป่ย์กั่ง ประเทศไต้หวัน หลังขับไล่ลิ้มออกไป หยู่ก็ครอบครองเผิงหู แต่ไม่ไล่ตามลิ้มต่อที่ไต้หวัน[5]
ลิ้มเป็นที่รู้จักจากปฏิบัติการที่จามปาและเกาะลูซอนในประเทศฟิลิปปินส์[6] ใน ค.ศ. 1567 เขาไปปล้นสะดมที่ชายฝั่งจีนอีกครั้ง และใน ค.ศ. 1568 เจ้าหน้าที่ราชวงศ์หมิงตั้งหมายจับลิ้มเพื่อจับกุมเขา[7] ในช่วงหนึ่ง เขาถูกโจมตีโดยลิ้ม เฟิ่ง หัวหน้าโจรสลัดอีกคนที่ยึดเรือของเขา 55 ลำ[8] บันทึกราชวงศ์หมิงกล่าวถึงลิ้มว่า"เจ้าเล่ห์และเล่นกลมากที่สุด"[9] และอาจจะก่อกบฎและสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อเจ้าหน้าที่ราชวงศ์หมิง[10] มีรายงานใน ค.ศ. 1573 ว่าเขาได้ก่อกบฎและหนีไปหลบภัยที่ต่างประเทศ[11]
ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ทศวรรษ 1570 ลิ้มได้ทำปฏิบัติการในพื้นที่ปาตานีแล้ว และกองทัพหมิงได้เข้าร่วมกับกองทัพเรือสยามและเรือโปรตุเกสเพื่อโจมตีพวกโจรสลัด[12] ใน ค.ศ. 1578 เขาตั้งฐานที่ปาตานีกับผู้ติดตาม 2,000 คน[13] ข้อมูลสมัยราชวงศ์หมิงบันทึกว่า ใน ค.ศ. 1578 เขาโจมตีเรือสยามแต่ถูกต้านทานไว้ และใน ค.ศ. 1580 เขาโจมตีอีกครั้ง และออกจากสยามในปีต่อมา[14] เจ้าหน้าที่ราชวงศ์หมิงพยายามจับกุมเขาในตอนที่กำลังโจมตีเรือจีนใน ค.ศ. 1580–81 หลัง ค.ศ. 1581 ก็ไม่มีรายงานกิจกรรมโจรสลัดของเขาแล้ว ซึ่งมีข้อเสนอว่าเขาได้เกษียณและตั้งถิ่นฐานที่ปาตานี[12]
ที่ปาตานี ลิ้มได้ครอบครองที่ดินศักดินาและก่อตั้งเมืองท่าขนาดเล็กใกล้ปาตานี กล่าวกันว่าเขาเป็นหัวหน้าศุลกากร ในขณะที่สมาชิกของเขาได้รับชื่อเสียงจากการบริการผู้ปกครองปาตานี[15][16] รายงานจากความเชื่อพื้นบ้านปาตานี เขาแต่งงานกับพระราชธิดาสุลต่าน เข้ารับอิสลาม และสร้างมัสยิด กล่าวกันว่าเขาเสียชีวิตขณะทดสอบปืนใหญ่ที่ทำมาถวายแก่พระราชินีปาตานี[17] บางส่วนกล่าวแนะว่า เขาเสียชีวิตในคริสต์ทศวรรษ 1580 ในขณะที่บางส่วนกล่าวแนะว่า เขายังคงมีชีวิตอยู่ในรัชสมัยรายาบีรูในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เชื่อว่าเขาถูกฝังที่กูโบร์บูกิตจีนอ (Kubo Bukit Cina; ป่าช้าจีน) สุสานชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดในปาตานี[18]
มีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับลิ้มหลายแบบที่ไต้หวัน ถึงแม้ว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน และไม่กระจ่างว่าเขาอยู่ที่นั่นจริงหรือไม่ ตามรายงานจากตำนาน ลิ้มสังหารชาวไต้หวันจำนวนมาก เพื่อนำเลือดของพวกเขาไปอุดรูบนเรือ[19][20] กล่าวกันว่า เมื่อเขาลงจอดที่เกาสฺยง ประเทศไต้หวันใน ค.ศ. 1563 ลิ้มซ่อนสมบัติลงในตะกร้าไม้ไผ่จำนวนสิบแปดและอีกครึ่งอันในบริเวณเนินเขารอบ ๆ ทำให้เนินเขาเกาสฺยงมีอีกชื่อหนึ่งว่าเนินเขาฝังทอง (埋金山) อีกเรื่องหนึ่งบันทึกว่า ปรมาจารย์ลัทธิเต๋าพูดกับลิ้มว่า เขาสามารถครอบครองจีนทั้งหมดได้ ถ้าหลังจากฝึกภารกิจบางอย่างครบร้อยวัน เขาจะยิงธนูสามอันไปที่ปักกิ่งในตอนเช้าของวันสุดท้าย ปรมาจารย์ให้ธนูวิเศษสามดอกและ"ไก่โต้งวิเศษ" ลิ้มยกไก่ให้จินเหลียน (金蓮) พี่/น้องสาวของเขาดูแล ในช่วงเที่ยงคืนของวันสุดท้าย จินเหลียนทำให้ไก่โต้งตื่นโดยไม่ตั้งใจ ทำให้มันส่งเสียงร้อง ลิ้มตื่นขึ้นมาและเข้าใจผิดว่าเป็นช่วงเช้าแล้ว จึงยิงธนูวิเศษสามดอกกับชื่อของเขาไปที่เมืองหลวงจักรวรรดิ ธนูทั้งสามบินไปถึงพระราชวังต้องห้าม จิ้มบัลลังก์มังกร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงเที่ยงคืน บัลลังก์จึงว่าง พระจักรพรรดิพบธนูสามดอกที่มีชื่อลิ้มบนนั้น ทำให้รู้ว่าเขาพยายามปลงพระชนม์พระองค์ ทำให้พระองค์สั่งกองทัพไปฆ่าลิ้มเสีย[21]
ชาวแต้จิ๋วในประเทศไทยเล่าเรื่องราวของลิ้มไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ เขาเคยช่วยสยามสู้รบต่อการโจมตีของอันนัม และพระองค์ประทานพระราชธิดาเพื่ออภิเษกสมรส อย่างไรก็ตาม เขาทำให้พระองค์ทรงกริ้วหลังเล่นมุขการปลงพระชนม์กษัตริย์ ทำให้ต้องหนีไป[17] ส่วนอีกเรื่องกล่าวถึงตำนานลิ้มกอเหนี่ยว โดยเธอพยายามให้พี่ชายกลับจีนหลังพบว่าพี่ชายแต่งงานกับเจ้าหญิงในปาตานี เข้ารับอิสลาม และสร้างมัสยิดที่กรือเซะ ปาตานี แต่พี่ชายไม่ยอมกลับบ้าน ทำให้เธอฆ่าตัวตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์[15][18] กล่าวกันว่า พี่ชายสร้างสุสานของเธอที่อยู่ถัดจากมัสยิดกรือเซะ แต่อันที่จริงมันถูกสร้างในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ศาลเจ้าที่มีชื่อเธออยู่ในปัตตานี และมีชาวจีนทั้งในภาคใต้และต่างประเทศมาสักการะกัน[4][22][23]
รายงานจาก พงศาวดารเมืองปัตตานี เขาพยายามหล่อปืนใหญ่ทองแดงสามอันที่ใช้ในสงครามปาตานี และประสบความล้มเหลวกับปืนใหญ่อันที่สามที่ใหญ่ที่สุด เขายอมสละชีพตนเองถ้าทำปืนใหญ่นี้เสร็จ แล้วปืนใหญ่ระเบิดหลังนำไปทดสอบ[17] รายงานชาวจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อ้างว่า ผู้นำปาตานีเป็นลูกหลานของเขา[24]
กล่าวกันว่า ผลงานที่ลิ้มทำในบริเวณนี้อาจมีอิทธิพลให้ชาวแต้จิ๋วอพยพมาที่ประเทศไทยในปีถัดมา[2] ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีชาวจีนตั้งถิ่นฐานในปาตานีมานานแล้ว Olivier van Noort พ่อค้าชาวดัตช์ กล่าวถึงกลุ่มพ่อค้าจากปาตานีในประเทศบรูไนใน ค.ศ. 1601 และสังคมในปาตานีมีความเป็นจีนมากพอที่จะมีกษัตริย์เป็นของตนเอง และใช้กฎหมายเดียวกันกับจีน[25] Jacob van Neck ชาวดัตช์อีกคน รายงานใน ค.ศ. 1603 โดยประมาณว่ามีชาวจีนในปาตานีเท่ากับชาวมลายูท้องถิ่น[26] ชาวมลายูหลายคนที่กรือเซะอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากลิ้ม ถึงแม้ว่าหลายคนอาจเป็นลูกหลานของผู้ติดตามของเขาที่แต่งงานกับหญิงสาวท้องถิ่น[17]
ปืนใหญ่พญาตานีที่บางส่วนเชื่อว่าสร้างโดยลิ้ม ถูกนำไปที่กรุงเทพหลังสยามยึดเมืองปาตานีใน ค.ศ. 1785 และปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมที่กรุงเทพ[27] ปืนใหญ่นี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดปัตตานี โดยใน ค.ศ. 2013 มีการสร้างแบบจำลองหน้ามัสยิดกรือเซะ แต่ถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทำลาย โดยเห็นว่าเป็น'ของปลอม' และต้องการปืนใหญ่จริง ๆ กลับมา[28][29]