วนัสธนา สัจจกุล

วนัสธนา สัจจกุล
หัวหน้าพรรคพลังคนกีฬา
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2553 – 9 มกราคม พ.ศ. 2556
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ธวัชชัย สัจจกุล

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 (81 ปี)
อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2539–2543)
ไทยรักไทย (2543–2550)
มัชฌิมาธิปไตย (2550–2551)
พลังคนกีฬา (2553–2556)
พลังประชารัฐ (2561–ปัจจุบัน)
คู่สมรสสุพัทรา สัจจกุล (หย่า)

วนัสธนา สัจจกุล หรือ บิ๊กหอย (เกิด 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486) อดีตหัวหน้าพรรคพลังคนกีฬา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย

ประวัติ

[แก้]

นายวนัสธนา สัจจกุล เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ที่ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็นบุตรนายสุเทพและนางชวลิต สัจจกุล มีพี่น้อง 12 คน สมรสกับนางสุพัทรา มีบุตรชาย 2 คนและบุตรสาวคนเล็กอีก 1 คน หนึ่งในนั้นคือนักแสดงที่มีชื่อเสียงคือ ธีรภัทร์ สัจจกุลและชลนสร สัจจกุล (บุตรนอกสมรส) รวมมีบุตร 4 คน เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีวรนาถ มัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แผนกวิทยาศาสตร์ และศึกษาต่อวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ ในครั้งนั้นได้เป็นนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัย และสโมสรฟิลิปปินส์ ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 200–300 บาท และยังได้ติดทีมชาติฟิลิปปินส์กลับมาแข่งที่ประเทศไทยด้วย ส่วนระดับปริญญาโท สำเร็จการศึกษาจากคณะจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีชื่อเสียงมาพร้อมกับทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ชุด "ดรีมทีม" ซึ่งเป็นชุดที่ได้แชมป์ซีเกมส์ ที่สิงคโปร์ ประจำปี พ.ศ. 2536 ในฐานะผู้จัดการทีม ที่มีนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากร่วมทีม ได้แก่ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ตะวัน ศรีปาน, ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล, ดุสิต เฉลิมแสน, โกวิทย์ ฝอยทอง เป็นต้น

ชีวิตทางการเมือง

[แก้]

ในทางการเมือง นายวนัสธนาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2539 เคยลงรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยได้ลำดับคะแนนมาเป็นที่สาม และในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ. 2547 นายวนัสธนาจะลงสมัครอีกครั้งในแบบอิสระ แต่ได้เปลี่ยนใจกลางคัน เนื่องจากอ้างว่าได้ดูผลสำรวจความนิยมแล้ว ก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลย และได้ใช้ค่าใช้จ่ายในการผลิตแผ่นพับแนะนำตัวไปกว่าล้านบาทแล้ว

ต่อมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 และ ปี พ.ศ. 2548

ในกลางปี พ.ศ. 2550 ได้เข้าร่วมกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมด้วยกับบุตรชายคนโต คือ นายกฤษฎา สัจจกุล[1]

ในปี พ.ศ. 2553 นายวนัสธนาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังคนกีฬา และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553[2]

ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 พรรคพลังคนกีฬา ได้ส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อครบตามจำนวนที่ กกต. กำหนดให้ส่งได้ คือ 125 คน โดยมีหมายเลขประจำพรรค คือ หมายเลข 36 โดยนายวนัสธนา สัจจกุล เป็นผู้สมัครลำดับที่ 1 แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่อย่างใด หลังจากนั้นจึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคพลังคนกีฬาเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556 พร้อมกับนายกฤษฎิ์ พรหมทอง ที่ขอลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1[3]

ในวันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 นายวนัสธนาได้เดินทางเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ[4]

ประสบการณ์ทางธุรกิจ

[แก้]
  • พ.ศ. 2510 : เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ บริษัทแคมป์เดรสเซอร์แอนด์แมกกี จำกัด ในตำแหน่งวิศวกรโครงสร้าง
  • พ.ศ. 2512 : บริษัท แคมป์เดรสเซอร์แอนด์แมกกี จำกัด หมดสัญญาสัมปทาน ได้เข้าไปทำงานที่บริษัท มอริสันนุสเซ่น จำกัดในตำแหน่ง วิศวกรโครงสร้าง โครงการ สนามบินสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทำได้ปีเดียวก็หมดสัญญาโครงการ
  • พ.ศ. 2513 : เข้าทำงานที่ บริษัท จาร์ดีน วอร์ ในตำแหน่ง เซลล์เอนจิเนียร์ ต่อมาสมัครงานใหม่ที่ บริษัทแองโกลไทย ในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายขาย จนได้ชื่อว่าเป็นมือหนึ่งของ ประเทศไทยด้านการขายระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
  • พ.ศ. 2514 : เป็นเจ้าของ บริษัท โรสเอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัดและ บริษัท ฮาร์ทเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำหน่ายเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติ และต่อมาได้ขยายงาน ด้านการติดตั้งระบบไฟฟ้า และน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก
  • พ.ศ. 2515 : ขยายธุรกิจด้วยการซื้อหุ้นโรงงานทำแอร์ จากชาวสิงคโปร์ ที่ซอยเทพารักษ์
  • พ.ศ. 2525 : เป็นเจ้าของ บริษัท ถังแก๊สและอุตสาหกรรม จำกัด ได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารใหม่ จนทำให้บริษัทที่มีการขาดทุนถึง 68 ล้านบาท กลับมามีกำไรถึง 11 ล้านบาทต่อปี
  • เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนเวสท์-อาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โอทีวายแอร์ จำกัด และ บริษัท โฟร์สตาร์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

การทำงานด้านกีฬา

[แก้]

พ.ศ. 2532 : ได้รู้จักกับนายวิจิตร เกตุแก้ว (อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย) จึงได้เริ่มเข้าสู่วงการฟุตบอลไทย

พ.ศ. 2535 :

  • 16-28 เมษายน 2535 เป็นผู้จัดการทีมเยาวชน อายุ 19 ปี ไปแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเซีย กลุ่ม 4 ที่ประเทศ สิงค์โปร์ ผลการแข่งขันชนะเลิศได้ไปแข่งรอบ 10 ทีมสุดท้ายที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังจากทีมได้แชมป์ ได้ปรับปรุงบ้านพักสำนักงานของตน ให้เป็นแคมป์เก็บตัวของนักกีฬา อีกทั้งจัดงบประมาณด้วยเงินส่วนตัวให้เพื่อเป็นสวัสดิการแก่นักฟุตบอล พร้อมทั้งอาหารอีก 2 มื้อ เช้า-เย็น อีกทั้งสร้างสนามฟุตบอลให้เป็นของสมาคมฟุตบอล โดยใช้เนื้อที่ 10 ไร่ของ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ที่หมู่บ้านเกศินีวิลล์
  • 22 กันยายน - 4 ตุลาคม 2535 เป็นผู้จัดการทีมเยาวชนอายุ 19 ปี ไปแข่งขันฟุตบอล ชิงแชมป์เอเซีย รอบ 10 ทีมสุดท้ายที ่ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรทต์ ผลการแข่งขันตกรอบแรก
  • 6-19 ธันวาคม 2535 เป็นผู้จัดการทีมไปแข่งขัน ฟุตบอลเมอร์ไลออนส์คัพที่ประเทศ สิงค์โปร์ ผลการแข่งขันตกรอบแรก

พ.ศ. 2536 :

  • 7-16 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย ชุด B ในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพครั้งที่ 24 ได้ตำแหน่งที่ 4
  • 4-20 เมษายน 2536 เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ชุดฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกที่ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผลการแข่งขันได้ที่ 3 โดยมีญี่ปุ่นได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันรอบ 2
  • 5-21 มิถุนายน 2536 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 17 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ

พ.ศ. 2537 :

  • 12-20 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ชุด B ในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 25 ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ
  • 7-16 สิงหาคม 2537 เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ไปแข่งขันฟุตบอลอินดิเพ็นเด้นท์คัพ ครั้งที่ 6 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ
  • 3-16 ตุลาคม 2537 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผลการแข่งขันตกรอบแรก

พ.ศ. 2538 :

  • 17-26 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ชุด A ในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 26 ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งที่ 3
  • 26-30 พฤษภาคม 2538 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันรอบคัดเลือกฟุตบอลโอลิมปิก กลุ่ม 5 ที่ประเทศไทย ผลการแข่งขันตกรอบแรก
  • 4-16 พฤศจิกายน 2538 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ

พ.ศ. 2539 :

  • 1-15 กันยายน 2539 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลไทเกอร์คัพ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ
  • 4-21 ธันวาคม 2539 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ รอบ 12 ทีมสุดท้ายผลการแข่งขันตกรอบแรก

ผลงานด้านวงการบันเทิง

[แก้]
  • ปี 2539 ละคร 111 ตองหนึ่ง
  • ปี 2540 ละคร นิรมิต
  • ปี 2540 ละคร อำนาจ
  • ปี 2541 ละคร สวรรค์เบี่ยง
  • ปี 2542 ละคร เพียงแค่ใจเรารักกัน
  • ปี 2542 ละครเทิดพระเกียรติ ใต้แสงตะวัน ตอน วันเกิดของพ่อ
  • ปี 2544 ละคร ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน

ที่มาของชื่อ

[แก้]

ที่มาของชื่อ บิ๊กหอย นายวนัสธนามีชื่อเล่นว่า "อ๊อด" สมัยเป็นนักเรียน ครูพละสั่งให้เข้าแถวแต่ยังเล่นซุกซนกับเพื่อน ครูเลยตะโกนเรียกว่า "ไอ้หอย เขาให้แถวตรงยังยุกยิกอยู่ได้" พวกเพื่อนเลยชอบใจ เรียกใหม่ว่า "หอย" ตั้งแต่ตอนนั้น[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จับตา! ริ้วขบวนอดีตคนคุ้นเคย ‘ไทยรักไทย’‘เปิดหัวต่อหาง’ ลุยเลือกตั้ง
  2. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคพลังคนกีฬา
  3. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคพลังคนกีฬา
  4. "บิ๊กหอย"ซบ พปชร.เชื่อประชาชนพึ่งได้ เผยแอบเชียร์รัฐประหารก่อน พ.ค.57
  5. ธวัชชัย สัจจกุล
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๙, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๒๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓