วังวรดิศ | |
---|---|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับรถยนต์ส่วนพระองค์ พร้อมด้วย พระโอรส-พระธิดา ที่บริเวณหน้าวังวรดิศ | |
ที่มา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | วัง |
สถาปัตยกรรม | ตะวันตก |
ที่ตั้ง | แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
พิกัด | 13°45′21″N 100°30′46″E / 13.75583°N 100.51278°E |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2454 |
เจ้าของ | หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล |
วังวรดิศ เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง และถนนดำรงค์รักษ์ ใกล้ตลาดสะพานขาว ปัจจุบันใช้จัดแสดงเป็น พิพิธภัณฑ์และหอสมุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วังวรดิศ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 บนที่ดินของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยสร้างจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นค่าก่อสร้างทั้งหมดรวม 50,000 บาท[1] ออกแบบโดย Karl Doehring นายช่างชาวเยอรมัน สร้างขึ้นสมัยปลายรัชกาลที่ 5 และมาแล้วเสร็จในสมัยของรัชกาลที่ 6
ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เป็นอาคารสูง 2 ชั้น รูปตัวแอล หลังคาทรงจั่วหักมุมตอนปลาย มีความชันมากจนใต้หลังคาสามารถใช้เป็นห้องเก็บของได้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี หลังคาด้านหน้าและด้านข้างมีหน้าต่างเล็กบนลาดหลังคาเพื่อระบายอากาศแบบยุโรป ภายในเป็นพื้นไม้
ลักษณะการตกแต่ง มีลายปูนปั้นที่ผนังตอนบนใกล้หลังคา ขอบอาคารชั้นบนมุขหน้าทางทิศตะวันออก มีเสาอิงรูปครึ่งวงกลม 2 เสา คู่กันเป็นปูนปั้นคล้ายกลีบบัวเรียงกันเป็นชั้น ๆ ชั้นล่างเน้นขอบของอาคารโดยรอบด้วยลายปูนปั้นพระทวารและพระแกล มีรูปร่างต่าง ๆ กัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์ที่วังนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง วังนี้ได้รับการอนุรักษ์โดย พลตรี หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อ พ.ศ. 2527 และได้รับการเสนอโดยองค์การยูเนสโก ประจำภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ให้ร่วมอนุรักษ์เป็น อาคารประวัติศาสตร์โลก[2]
13°45′23″N 100°30′49″E / 13.756518°N 100.5134761°E