วัดปทุมวดีราชวราราม

วัดปทุมวดีราชวราราม
វត្តបទុមវតីរាជវរារាម
พระอุโบสถวัดปทุมวดีราชวราราม
ศาสนา
ศาสนาศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท
ที่ตั้ง
ที่ตั้งพนมเปญ
ประเทศกัมพูชา
วัดปทุมวดีราชวรารามตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
วัดปทุมวดีราชวราราม
ตำแหน่งที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
พิกัดภูมิศาสตร์11°33′34″N 104°55′54″E / 11.55944°N 104.93167°E / 11.55944; 104.93167
สถาปัตยกรรม
ผู้ก่อตั้งพระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ)
เสร็จสมบูรณ์พ.ศ. 1985

วัดปทุมวดีราชวราราม (เขมร: វត្តបទុមវតីរាជវរារាម) หรือ "วัดปทุมวดี" (ในภาษาเขมรออกเสียงว่า วัดโบตุมโวเด็ย) เป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุติกนิกายของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ที่ถนนออกญาซัวร์ สรุน 7 สังกัดจตุมุข ขัณฑ์โดนเปญ ราชธานีพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทางทิศใต้ของพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล ฝั่งตะวันตกของสวนสาธารณะวัดปทุม[1]

ประวัติ

[แก้]
สมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี (บัวร์ กรี) สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายของกัมพูชาองค์ปัจจุบัน สถิต ณ วัดปทุมวดีราชวราราม กรุงพนมเปญ

วัดปทุมวดีราชวรารามเป็นวัดเก่า สร้างขึ้นในสมัยพระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ) เมื่อ พ.ศ. 1985 ถือเป็นวัดแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของราชธานีพนมเปญ เดิมวัดนี้มีชื่อว่า "วัดขปวบตายอง" หรือ "วัดตายอง" ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้างไปตามกาลเวลา ในปี พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงอุดงค์มีชัยมาตั้งอยู่ที่จตุมุข (พนมเปญ) และก่อสร้างพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล เวลานั้นได้มีการสถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นในประเทศกัมพูชาแล้ว วัดขปวบตายองจึงได้รับการบูรณะให้เป็นพระอารามหลวง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาสมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน ปญฺญาสีโล) และพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจากวัดศาลาคู (วัดอ็อมปึลเบ็ย) มาประทับที่วัดนี้ วัดขปวบตายองที่ได้รับการบูรณะใหม่ครั้งนี้ได้ปลูกบัวไว้ในคูของวัดถึง 3 มุม จึงพระราชทานชื่อวัดใหม่โดยอาศัยสระบัวเหล่านั้นเป็นนิมิตว่า "วัดปทุมวดีราชวราราม"[2][3]

วัดปทุมวดีราชวรารามเป็นสถานที่จำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายแห่งประเทศกัมพูชาตลอดมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 ในสมัยรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของเขมรแดง วัดจึงถูกทิ้งร้าง เนื่องจากในยุคนั้นเขมรแดงได้ห้ามการนับถือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ทั้งหมด เมื่อฝ่ายเขมรเฮง สัมริน ขับไล่รัฐบาลเขมรแดงและจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้นมาแล้ว ศาสนาพุทธในประเทศกัมพูชาจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง ในเวลานั้นไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นคณะสงฆ์มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย แต่จัดการปกครองรวมกันเป็นคณะสงฆ์กัมพูชาคณะเดียว พระสงฆ์คณะมหานิกายจึงได้เข้าไปจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวดีราชวรารามด้วย เมื่อคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้รับการฟื้นฟูขึ้นในกัมพูชาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2535 ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายจึงกลับเข้าไปจำพรรษาที่วัดปทุมวดีราชวรารามตามเดิม โดยต้องแบ่งพื้นที่ของวัดให้แก่พระสงฆ์คณะมหานิกายที่เข้าไปอยู่ในพระอารามในสมัยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาได้จำพรรษาต่อไป

ปัจจุบันวัดปทุมวดีราชวรารามเป็นศูนย์กลางการบริหารกิจการศาสนาพุทธฝ่ายธรรมยุติกนิกายในประเทศกัมพูชา มีสมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี (บัวร์ กรี) สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวดีราชวราราม และสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (นนท์ แงด) สมเด็จพระสังฆนายกฝ่ายมหานิกาย (ฐานะเทียบเท่าเจ้าคณะใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย) เป็นผู้นำคณะสงฆ์มหานิกายภายในวัด

อัฐิของบุคคลสำคัญในกรุงพนมเปญและนักการเมืองกัมพูชาจำนวนมากได้บรรจุไว้ที่นี่ [4] อนึ่ง วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ตั้งพระศพเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล และจัดงานพระราชทานเพลิงพระศพสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์กัมพูชาที่มีศักดิ์ไม่ถึงชั้นงานพระเมรุกลางเมืองอีกด้วย

ระเบียงภาพ

[แก้]
 
 
 
 
 
 
 
 

อ้างอิง

[แก้]
  1. Google Maps (Map). Google. {{cite map}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  2. Harris, Ian (May 2008). Cambodian Buddhism: History and Practice. University of Hawaii Press. p. 108. ISBN 978-0-8248-3298-8. สืบค้นเมื่อ 14 January 2011.
  3. "Wat Botum". Khmer News. 8 November 2006. สืบค้นเมื่อ 14 January 2010.
  4. Zepp, Raymond A. (1997). A field guide to Cambodian pagodas. Bert's Books. p. 40. สืบค้นเมื่อ 14 January 2011.