วัดพระแก้ว (อำเภอเมืองเชียงราย)

วัดพระแก้ว
พระอุโบสถ
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 19 ม.1 ถ.ไตรรัตน์ ใกล้กับศาลากลางจังหวัด ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
ประเภทวัดอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปสำคัญ"พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย"
ความพิเศษวัดที่พบพระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก
การถ่ายภาพไม่ควรใช้แฟลช ในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนภายในอาคาร บางอาคารห้ามถ่ายภาพ ควรสังเกตป้าย
เว็บไซต์watphrakaew-chiangrai.com
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ในถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นวัดอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521

ประวัติ

[แก้]
ภาพถ่ายอุโบสถของวัดพระแก้วราว ค.ศ. 1946

วัดพระแก้ว เดิมชื่อวัดป่าญะ หรือวัดป่าเยียะ (เขียนเป็นภาษาบาลีว่า ญรุกขวนาราม) เนื่องจากภายในวัดเดิมมีไม้เยียะขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งคล้ายไม้ไผ่สีสุก ไม่มีหนาม เนื้อแข็งและเหนียว นิยมนำไปทำหน้าไม้หรือคันธนู เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง

ชินกาลมาลีปกรณ์และรัตนพิมพวงศ์ กล่าวว่า ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย อนุชาของพญากือนา อัญเชิญพระสีหลปฏิมากับพระรตนปฏิมาจากกำแพงเพชรมายังเมืองเชียงราย เมื่อพญากือนาสวรรคต พญาแสนเมืองมา โอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบแทน ท้าวมหาพรหมไม่พอใจจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังพญาแสนเมืองมานำกองทัพสู้รบจับท้าวมหาพรหมได้ แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมามายังเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระรตนปฏิมา เนื่องจากท้าวมหาพรหมได้นำปูนขาวคลุกด้วยน้ำผึ้งน้ำอ้อยและทรายละเอียดพอกไว้ ลงรักปิดทอง แล้วก่อพระเจดีย์ทำด้วยศิลาแลงที่วัดป่าเยียะ บรรจุพระรตนปฏิมาที่พอกแล้วไว้ในเรือนเจดีย์ จึงไม่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

พ.ศ. 1977 เจดีย์วัดป่าเยียะถล่มลงมาเอง (มีเพียงพระบรมราชาธิบายและคาถาตำนานพระแก้วมรกต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้นที่กล่าวว่าเจดีย์ต้องอสนีบาต) จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง นำไปไว้ในวิหารของวัดป่าเยียะ ต่อมาปูนบริเวณพระกรรณเกิดกระเทาะออกเห็นเป็นเนื้อมรกต (มีเพียงพระบรมราชาธิบายและคาถาตำนานพระแก้วมรกต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้นที่กล่าวว่าปูนกระเทาะบริเวณพระนาสิก) จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ จึงทราบว่าเป็นพระรตนปฏิมา ท้าวเจ็ด เจ้าเมืองเชียงรายได้กราบทูลให้พญาสามฝั่งแกนทรงทราบ โปรดให้อัญเชิญพระรตนปฏิมาจากวัดป่าเยียะ เมืองเชียงรายไปยังเมืองเชียงใหม่โดยกระบวนช้าง แต่เมื่อถึงแจ้สัก (ชยสัก) ช้างทรงพระรตนปฏิมาไม่ยอมไปทางเชียงใหม่ จึงเสี่ยงทายจับฉลากได้ชื่อเมืองนครลำปาง จึงอัญเชิญพระรตนปฏิมาไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จากเหตุการณ์ค้นพบพระรตนปฏิมา (พระแก้วมรกต) ทำให้วัดป่าเยียะได้รับการขนานนามใหม่ว่า วัดพระแก้ว[1] [2]

วัดพระแก้วคงมีสถานะเป็นวัดสำคัญมาตลอดทุกสมัย ช่วงสงครามขับไล่พม่าออกจากล้านนาทำให้เมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2347 จนเมื่อฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386 จึงมีการบูรณะวัดสำคัญต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามจำนวนไพร่พลและสถานะทางสังคมยุคนั้น

พ.ศ. 2433 มีการสร้างวิหารวัดพระแก้วขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าสร้างบนฐานเดิมของวิหารในยุคล้านนา ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดงามเมือง (หลังเก่า) และวัดพระสิงห์ สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"เดือน 8 ขึ้น 5 ฅ่ำ วัน 7 สกราช 1252 ปีกดยี ปกวิหารวัดพระแก้ว รอดเดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ ปกวิหารวัดพระสิงห์"[3]

พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

ถาวรวัตถุภายในวัด

[แก้]

พระอุโบสถ

[แก้]

เป็นพระวิหารทรงล้านนา มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ ซ้อนกัน 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 มีขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 21.85 เมตร ต่อมาชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา

พ.ศ. 2503 พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) เจ้าอาวาสวัดพระแก้วและเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (ภายหลังเป็นพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์) ทำการบูรณะวิหารโดยรื้อเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทำบุญฉลองสมโภชวิหารเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2505 เปลี่ยนเสาจากไม้เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนผนังได้ก่ออิฐถือปูน เครื่องไม้บางส่วนใช้ของเดิม แต่บางส่วนที่ทรุดโทรมได้นำไปจัดเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน[4]

ต่อมาได้ขอพระราชทาน วิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2495

พระเจ้าล้านทอง

[แก้]
พระเจ้าล้านทองพระประธาน อัญเชิญจากวัดดอยงำเมือง (วัดงามเมือง) มาประดิษฐานวัดพระแก้วในปัจจุบัน

พระเจ้าล้านทอง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากฐานถึงพระรัสมี 2.80 เมตร รอบพระเศียร 1.60 เมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีเป็นดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือราวพระถัน เม็ดพระศกใหญ่ พระหนุ (คาง) เป็นปมใหญ่และชัดมาก น้ำหนักประมาณ 1,200 กิโลกรัม นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิลปะปาละที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

พระเจ้าล้านทอง เดิมเป็นพระประธานของวัดล้านทอง (วัดแสนทอง ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลเชียงราย) เมื่อวัดร้างไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2488 พระวีรญาณมุนี (หมื่น สุมโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น มอบหมายให้พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย อัญเชิญพระเจ้าล้านทองจากวัดล้านทอง (วัดแสนทอง) ไปประดิษฐานที่วัดงามเมือง ต่อมาเมื่อวัดงามเมืองร้าง ศรัทธาสาธุชนจึงได้ขึ้นไปทำหลังคาคลุมพระเจ้าหลวงและพระเจ้าล้านทอง

พ.ศ. 2504 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) ขณะเป็นพระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย ได้ทำการย้ายพระเจ้าล้านทองจากวัดงามเมืองมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน จนถึงปัจจุบัน[5]

พระสาวก

[แก้]

พระสาวก 2 องค์ คือพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ สำริด ปางสมาธิ ศิลปะล้านนา เดิมประดิษฐานที่วัดงามเมือง อัญเชิญมาพร้อมกับพระเจ้าล้านทอง เมื่อ พ.ศ. 2504 ใต้ฐานทั้ง 2 มีจารึกระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2269 ผู้สร้างคือมังพละสแพก (ส่างกอละ) เจ้าเมืองเชียงราย โมยหวาน (เมียวหวุ่น) เมืองเชียงแสน และพระนางบุษบาสิริวัฒนเทพาราชกัญญาเจ้า มเหสีของเจ้าฟ้าลักที เจ้าฟ้าเชียงแสน สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เพื่ออุทิศให้กับเจ้าฟ้ายอดงำเมือง (พระยอดงำเมือง) เจ้าฟ้าเชียงแสน พระโอรสของพระนาง[6]

พระเจดีย์

[แก้]

เป็นพระเจดีย์ฐานรูปแปดเหลี่ยมแต่ละเหลี่ยมกว้าง 5.20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 9.50 เมตร ห่อหุ้มทองแผ่นทองแดง ลงรักปิดทองทั้งองค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478

หอพระหยก

[แก้]

เป็นอาคาร ค.ส.ล. ทรงล้านนาโบราณประกอบด้วยไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย" แปลว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นมงคลอนุสรณ์ 90 พรรษา" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ 19 ตุลาคม 2534

โฮงหลวงแสงแก้ว

[แก้]

เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ออกแบบโดย นภดล อิงคะวณิช สถาปนิกชาวเชียงราย เป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 23.25 เมตร สูงสองชั้น มีคุณแม่อมรา มุนิกานนท์ (แสงแก้ว) เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ เช่นพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย

พระประธานวัดหนองบัวสด

[แก้]

พระประธานวัดหนองบัวสด เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1.5 เมตร เดิมอยู่วัดหนองบัวสด (วัดหนองโบสถ) ร้าง บ้านใหม่ ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย พ.ศ. 2523 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้รับแจ้งจากชาวบ้านให้เคลื่อนย้ายพระประธานวัดหนองบัวสด เพื่อนำไปเก็บรักษาเพราะไม่มีผู้ดูแล พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์จึงได้ขอความร่วมมือรถและอุปกรณ์เคลื่อนย้ายจากสำนักงาน รพช.

วันที่อัญเชิญ พนักงานขับรถและชาวบ้านช่วยกันนำเชือกโอบรัดพระพุทธรูปและใช้รถยก กระทำกันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เชือกขาดบ้าง รถยกฟันเฟืองค้างบ้าง ใช้เวลาหลายชั่วโมง จึงนิมนต์พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์มาอัญเชิญ ท่านถามคนขับรถว่า เมื่อเช้าสั่งให้นำสวยดอก (กรวยดอกไม้ธูปเทียน) มาบอกกล่าวก่อนทำการเคลื่อนย้ายหรือยัง คนขับรถว่าไม่ได้ทำเพราะคิดว่าไม่น่าจะยาก พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์จึงให้คนขับรถและชาวบ้านตั้งจิตอธิษฐานและขอขมา อัญเชิญให้ไปสถิตยังที่เหมาะสม หลังจากทำพิธีแล้วรถยกสามารยกองค์พระได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันพระประธานวังหนองบัวสดประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ศาลาสี่ทิศด้านทิศตะวันตก หลังองค์เจดีย์วัดพระแก้ว[7]

รูป

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นายกี นิมมาเหมินทร์) 2510.
  2. พระพรหมราชปัญญาเถระ. รัตนพิมพวงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต. แปลโดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เปรียญ. พิมพ์ครั้งที่ 3 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นางสุภาพ ตาละลักษณ์) 2512.
  3. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  4. อภิชิต ศิริชัย. เพชรพระแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสนมหาเถร)). เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  5. อภิชิต ศิริชัย. เพชรพระแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสนมหาเถร)). เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  6. ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง, จารึกที่ฐานพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. ดำรงวิชาการ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2559.
  7. อภิชิต ศิริชัย. วัดร้างในเวียงเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.