วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไตรมิตร, วัดสามจีน
ที่ตั้งถนนตรีมิตรและถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
ประเภทพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
นิกายเถรวาท
พระประธานพระพุทธทศพลญาณ
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
เจ้าอาวาสสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ)
ความพิเศษในพระมหามณฑปชั้น 4 ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
จุดสนใจชั้น 2 ชมนิทรรศการศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ชั้น 3 ชมนิทรรศการที่เกี่ยวกับพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
เว็บไซต์wattraimitr-withayaram.com
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ถนนตรีมิตร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า "วัดสามจีน" เข้าใจกันว่า ชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ

ในปี พ.ศ. 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปี พ.ศ. 2482 พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ "วัดไตรมิตรวิทยาราม" ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน 3 คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณวัด และเป็นวัดที่มีสมเด็จพระราชาคณะ 2รูป และเจ้าคณะใหญ่หน 2หนคือ 1.) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ป.ธ.9 เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก 2.) สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ป.ธ.6 เจ้าคณะใหญ่หนกลาง

เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ)

ปูชนียวัตถุ

[แก้]

พระพุทธรูป

[แก้]
ซ้าย: พระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ
ขวา: พระสุโขทัยไตรมิตร พระประธานในพระวิหารหลวง

พระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อโต” บ้าง “หลวงพ่อวัดสามจีน” มีประชาชนมาบนบานกันเสมอ ๆ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก “หลวงพ่อโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เคยได้ทำพระเครื่องแจกครั้งหนึ่ง ได้ทำเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณสร้างด้วยเนื้อชิน เรียกชื่อว่า หลวงพ่อโตวัดสามจีน ปรากฏว่าเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่งไปว่าศักดิ์สิทธินัก ปัจจุบันนี้หายากแล้ว

พระสุโขทัยไตรมิตร

[แก้]

สิ่งสำคัญของวัด คือ พระสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40% พระพักตร์มีเนื้อทอง 80% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 99.99%

สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ พระพุทธรูปที่เชิญมามีจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง จนได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม) ต่อมาบริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก ได้ขอเช่าที่วัด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างแล้ว) เป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อัญเชิญไว้ที่ข้างพระเจดีย์และปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้อย่างหยาบ ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]

ลำดับเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร 9 รูป ได้แก่[1]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) พ.ศ. 2421 พ.ศ.2438
2 พระครูวิริยานุกิจจารี (กล่อม) พ.ศ. 2438 พ.ศ. 2454
3 พระครูวิริยกิจจากรี (โม) พ.ศ.2454 พ.ศ.2461
4 พระอธิการโป๊ ธมฺมสโร พ.ศ.2461 พ.ศ.2465
5 พระใบฎีกา ขำ อินฺทโชโต พ.ศ.2465 พ.ศ.2477
6 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาติ พ.ศ.2477 พ.ศ.2479
รักษาการ พระปริยัติบัณฑิต (คำ อาภารํสิเถร) พ.ศ. 2479 พ.ศ.2481
7 พระมหาเจียม กมโล พ.ศ.2481 พ.ศ.2487
8 พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) พ.ศ. 2487 พ.ศ. 2531
9 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) พ.ศ. 2532 ยังดำรงตำแหน่ง

อ้างอิง

[แก้]

13°44′17″N 100°30′49″E / 13.738051°N 100.513648°E / 13.738051; 100.513648

  1. [1] วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร