วิกิพีเดีย:แต่มันคือเรื่องจริง!

"แต่มันคือเรื่องจริง!" ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอเพื่อที่จะรักษาข้อมูลหรือสารสนเทศไว้ในวิกิพีเดีย

เมื่อคุณส่งบทความใหม่มายังวิกิพีเดีย หรือเพิ่มเนื้อหาลงในบทความที่มีอยู่ คุณอาจแปลกใจว่าเนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนถูกย้อนกลับโดยผู้เขียนคนอื่น หรือบทความถูกลบในกรณีบทความใหม่ ผู้เขียนมือใหม่มักจะประสบเหตุการณ์เช่นนี้มากที่สุด แต่ผู้เขียนที่มีประสบการณ์ก็อาจหละหลวมและถูกย้อนการแก้ไขได้เช่นกัน เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้เขียนเอาใจใส่บทความอย่างมากเพื่อให้เนื้อหาที่เตรียมมาเป็นเรื่องจริง เรียงความนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจว่าทำไมจึงเกิดขึ้นได้ และเข้าใจวิธีการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

การย้อนการแก้ไข เป็นกระบวนการแก้ไขส่วนหนึ่งของวิกิพีเดียและไม่ควรเอาไปใช้ในทางส่วนตัว การย้อนเกิดขึ้นมากมายส่วนใหญ่กระทำด้วยเจตนาดี และเป็นไปได้ว่าแม้บุคคลอื่นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคุณ พวกเขาก็ยังเชื่อว่าคุณกระทำด้วยเจตนาดีเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมการแก้ไขจึงถูกย้อน ให้เริ่มจากอ่านคำอธิบายอย่างย่อในการย้อนครั้งนั้นถ้ามีระบุไว้ คำอธิบายอย่างย่ออาจให้เบาะแสที่สำคัญสำหรับเหตุผล ซึ่งบางครั้งก็เป็นการอ้างอิง นโยบาย แนวปฏิบัติ หรือชี้นำคุณไปยังหน้าอภิปราย

เกณฑ์พิจารณาเพิ่มเนื้อหาในวิกิพีเดีย คือ การพิสูจน์ยืนยันได้ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นจริง

นโยบายหลักด้านเนื้อหา

[แก้]

ความถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสารานุกรมประเภทใด ๆ ด้วยเหตุนี้ วิกิพีเดียจึงได้พัฒนานโยบายหลักด้านเนื้อหาสามประการ หน้าที่ของนโยบายแต่ละประการเปรียบเสมือนขาแต่ละข้างของโต๊ะสามขา หากขาดขาข้างใดข้างหนึ่ง โต๊ะก็มิอาจตั้งอยู่ได้ ในทำนองเดียวกัน การแก้ไขใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามนโยบายทั้งสามก็มีแนวโน้มว่าจะถูกคัดค้านหรือนำออก และมันก็ยังไม่พอถ้าเป็นไปตามนโยบายเพียงหนึ่งหรือสองประการ

มุมมองที่เป็นกลาง

[แก้]

เนื้อหาสารานุกรมทั้งหมดของวิกิพีเดียต้องเขียนด้วยมุมมองที่เป็นกลาง ปราศจากความลำเอียง นำเสนอมุมมองที่มีนัยสำคัญอย่างเท่าเทียม อย่างเที่ยงตรง และในสัดส่วนความโดดเด่นที่เหมาะสมของแต่ละมุมมอง วิกิพีเดียมีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายข้อโต้แย้ง ตามที่ปรากฏในแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ มิใช่เข้าร่วมเกี่ยวพันกับข้อโต้แย้งนั้น

ผู้เขียนหลายคนมีมุมมองของตนเองโดยธรรมชาติ แต่ผู้เขียนควรพยายามจัดหาข้อมูลหรือสารสนเทศที่สมบูรณ์ด้วยเจตนาดี และไม่ควรส่งเสริมมุมมองหนึ่งให้อยู่เหนือมุมมองอื่น ใช้ภาษาที่ไม่เป็นการตัดสิน ไม่ใช่ทั้งเข้าข้างหรือสบประมาทหัวข้อเรื่อง เมื่อเกิดข้อโต้เถียงขึ้น ให้แสดงมุมมองต่างฝ่ายอันเด่นชัดที่สัมพันธ์กันอย่างตรงไปตรงมา

การพิสูจน์ยืนยันได้

[แก้]

วิธีการหนึ่งที่เราส่งเสริมความถูกต้องในวิกิพีเดียคือ การจัดเตรียมหนทางให้ผู้อ่าน (และผู้เขียนอื่น ๆ) เพื่อพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องของเนื้อหาของเราได้อย่างอิสระ เราทำเช่นนี้โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เนื้อหาข้อถกเถียงที่ไร้การอ้างอิงหรือใช้แหล่งอ้างอิงคุณภาพต่ำเกี่ยวกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ มีแนวโน้มว่าจะถูกนำออกเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นข้อมูลเชิงลบ เชิงบวก หรือแค่น่าสงสัยก็ตาม แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวจะปรากฏในหน้าอื่นที่ไม่ใช่ชีวประวัติของบุคคลนั้น

หากการแก้ไขถูกนำออกเพราะไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูล (หรือไม่ได้ใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ) ให้พยายามหาแหล่งข้อมูลมาใส่ ถ้าแหล่งข้อมูลของคุณถูกพิจารณาว่าไม่น่าเชื่อถือและคุณไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใด ให้สอบถามเพื่อความกระจ่างในหน้าอภิปรายของบทความอย่างสุภาพ ผู้เขียนส่วนมากจะยินดีช่วยเหลือคุณ

งดงานค้นคว้าต้นฉบับ

[แก้]

วิกิพีเดียมิใช่ผู้เผยแพร่งานวิจัยค้นคว้าหรือความคิดต้นฉบับเช่นเดียวกับสารานุกรมอื่น ๆ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จุดประสงค์ของวิกิพีเดียคือการรวบรวมและจัดเตรียมภาพรวมของความรู้ ที่เคยเผยแพร่ในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือแหล่งอื่นมาก่อน

อาจเป็นได้ว่าคุณได้ทราบถึงบางสิ่งที่เป็นจริง เพราะคุณได้อยู่ที่นั่นตอนมันเกิดขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่ถ้ามันไม่ถูกกล่าวถึงในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือแหล่งใด มันก็จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของงานค้นคว้าต้นฉบับ ซึ่งนิยามความหมายในส่วนที่ว่า "เนื้อหาที่ไม่พบในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ" เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขของคุณไม่ใช่งานค้นคว้าต้นฉบับ คุณต้องสามารถอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือแหล่งใดแหล่งหนึ่งที่มีข้อมูลหรือสารสนเทศเดียวกัน ถ้าคุณไม่สามารถทำได้ การแก้ไขของคุณจะถือว่าสร้างงานค้นคว้าต้นฉบับขึ้นมา และไม่เหมาะสมที่จะผนวกลงในสารานุกรม

รูปแบบของงานค้นคว้าต้นฉบับที่ละเอียดกว่ารูปแบบหนึ่งคือ การสังเคราะห์ หมายถึงการชักนำข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งโดยผสานรวมข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณมีแหล่งข้อมูลแหล่งหนึ่งบอกว่า เฟืองทุกชิ้นคือเครื่องกล และอีกแหล่งหนึ่งบอกว่า เครื่องกลทุกอย่างคืออุปกรณ์ มันอาจจะดูเหมือนชัดเจนจากสิ่งเหล่านี้ว่า เฟืองทุกชิ้นคืออุปกรณ์ แต่ข้อความดังกล่าวเป็นการสังเคราะห์ ดังนั้นเพื่อที่จะนำข้อความว่า เฟืองทุกชิ้นคืออุปกรณ์ เข้ามารวม คุณต้องค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ชักนำข้อสรุปอย่างเดียวกันนั้นด้วย