ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ | |
---|---|
เกิด | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488[1] ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย |
คู่สมรส | ชูชาติ วัฒนานุกูล |
อาชีพ | นักพากย์, นักแสดง, พิธีกร |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2516–ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | |
พระสุรัสวดี | พากย์หญิงยอดเยี่ยม – นางอาย (2533) |
สุพรรณหงส์ | นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (2552) |
โทรทัศน์ทองคำ | ผู้พากย์ดีเด่น – เซเลอร์มูน คริสตัล (2559) |
ศันสนีย์ วัฒนานุกูล (สกุลเดิม สมานวรวงศ์; เกิด 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488)[1] ชื่อเล่น นิด เป็นนักพากย์ และนักแสดงหญิงชาวไทย ได้รับฉายา "นางเอกเขี้ยวเสน่ห์"[3] เธอได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2533 สาขาพากย์หญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง นางอาย (2533), รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 19 สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (2552) และรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขาผู้พากย์ดีเด่น จากอนิเมะเรื่อง เซเลอร์มูน คริสตัล (2559)[4]
ศันสนีย์เข้าเป็นนักแสดงตั้งแต่ พ.ศ. 2516 มีผลงานภาพยนตร์และละครจำนวนหนึ่ง เช่น บ้านทรายทอง (2521) รับบทพจมาน สว่างวงศ์, คู่กรรม (2521) รับบทอังศุมาลิน และ ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (2552) รับบท สมพิศ หลังจากนั้นเธอผันตัวเข้าสู่การเป็นนักพากย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 มีงานพากย์หลากหลายทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ อนิเมะและโทกูซัตสึ มีชื่อเสียงจากการพากย์ตัวละครอนิเมะชั้นนำ เช่น โนบิ โนบิตะ จากเรื่อง โดราเอมอน, โนริมากิ อาราเล่ จากเรื่อง ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่, คิโนมิยะ ทาคาโอะ จากเรื่อง เบย์เบลด ศึกลูกข่างสะท้านฟ้า และคิโนโมโตะ ซากุระ จากเรื่อง ซากุระ มือปราบไพ่ทาโรต์ เป็นต้น
ศันสนีย์เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488[1] ที่อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นบุตรคนที่เก้าจากพี่น้องทั้งหมดสิบคน บิดาเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำ ซึ่งเสียชีวิตตอนศันสนีย์อายุเพียง 5 ขวบ แต่เธอยังมีแม่และพี่คอยเสียสละ และทำหน้าที่เลี้ยงน้องต่อ ๆ กันมา ซึ่งจะทำงานหารายได้เอาเงินมาให้แม่เพื่อส่งเสียน้อง ๆ ให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ศันสนีย์เป็นเด็กเรียบร้อยและเป็นลูกที่คุณแม่ห่วงและหวงมากคนหนึ่ง ซึ่งเธอก็รู้ในความรักของแม่ที่มีต่อเธอ หลังกลับจากโรงเรียนจึงไม่ไปเที่ยวเตร่ที่ไหน แต่จะกลับมาช่วยคุณแม่ที่บ้าน
ศันสนีย์เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสตรีประเทืองวิทย์ และจบชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 8 จากโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง จากนั้นเข้าเรียนต่อคณะมนุษยศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[5] จบปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน ตั้งแต่ยังเป็นภาควิชาอยู่กับคณะมนุษยศาสตร์
ศันสนีย์เข้าทำงานที่แผนกส่งเสริมรายการของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด (ช่อง 4 บางขุนพรหม) ราวในปี พ.ศ. 2512 ขณะนั้นมีสอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ เป็นหัวหน้า ศันสนีย์เคยเป็นนักแปลนิตยสารไทยโทรทัศน์ เป็นผู้ประกาศของสถานีต่อมากลางปี พ.ศ. 2515 สอาดซึ่งทำงานด้านโทรทัศน์ตัดสินใจกำกับการแสดงภาพยนตร์ให้กับมัณฑนา โมรากุล เรื่อง "มารรัก" ศันสนีย์ถูกสะอาดชักชวนให้มาแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในบทน้องสาวของนางเอก ต่อมาศันสนีย์ได้แสดงภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง "ตลาดอารมณ์" และ "คู่หู" จากนั้นศันสนีย์ก็หันไปทุ่มเทให้กับงานทางด้านโทรทัศน์
ศันสนีย์เคยร่วมแสดงละครยาวของคณะวิชชุประภาส์ เรื่อง "ชลธีพิศวาส" เริ่มเป็นตัวประกอบละครหลายเรื่องแล้วเริ่มแสดงละครเรื่องแรกเรื่อง "เจ้าสาวคืนเดียว" คู่กับสายัณห์ จันทรวิบูลย์ เคยแสดงในละครโทรทัศน์เรื่อง บ้านทรายทอง ทางไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เมื่อปี พ.ศ. 2520 รับบทเป็นพจมาน สว่างวงศ์ และเคยแสดงในละครโทรทัศน์เรื่อง คู่กรรม รับบทเป็น อังศุมาลิน ต่อมาเริ่มเป็นพิธีกรรายการ เช่น นางฟ้า, คนเด่นคนดัง, เสาร์สนุก, แม่บ้านสมองไว, เพื่อนเด็ก ทั้งโฆษณา จัดรายการ อ่านข่าว และงานพากย์เสียง เริ่มในปี พ.ศ. 2523 โดยแรกมีนักพากย์เพียง 4 คน ได้แก่ นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์, ฉันทนา ธาราจันทร์, เรวัติ ศิริสรรพ และคันสนีย์ วัฒนานุกูล จากปี พ.ศ. 2525 ที่เริ่มทำงานด้วยการใช้เสียง สำหรับเรื่องแรกเป็นการ์ตูนชื่อ "ไดมอส...ยอดขุนพล" รับพากย์เป็นตัวนางเอก ศันสนีย์รับงานพากย์ภาพยนตร์ทั่วไปและพากย์การ์ตูนให้หลายแห่ง
ศันสนีย์ได้กลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ในภาพยนตร์เรื่อง แก๊งชะนีกับอีแอบ และปี พ.ศ. 2552 รับบทเป็น สมพิศ จากภาพยนตร์เรื่อง ความจำสั้นแต่รักฉันยาว ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม 3 รางวัลจาก 3 สถาบัน จากนั้นศันสนีย์จึงมีงานการแสดงเรื่อย ๆ ต่อมา
ศันสนีย์สมรสกับชูชาติ วัฒนานุกูล มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน เป็นชายและหญิงอย่างละคน
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)