ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง (อังกฤษ: Central Pacific Hurricane Center หรือย่อว่า CPHC) เป็นหน่วยงานในสังกัดบริการลมฟ้าอากาศแห่งชาติของสหรัฐ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามและออกประกาศเกี่ยวกับการเตือนภัย การเฝ้าระวัง การให้คำแนะนำ การอภิปราย และแถลงการณ์กับพายุหมุนเขตร้อนภายในพื้นที่แปซิฟิกกลาง โดยมีขอบเขตตั้งแต่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรขึ้นไป และระหว่างเส้นเมริเดียนที่ 140 องศาตะวันตกถึงเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฮาวาย มีฐานะเป็นศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (RSMC) สำหรับพายุหมุนเขตร้อนในนาม RSMC โฮโนลูลู
หน่วยงานนี้มีฐานที่ตั้งอยู่ในเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ร่วมกับสำนักงานการพยากรณ์โฮโนลูลูของบริการลมฟ้าอากาศแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยฮาวายที่มาโนอา โดยสำนักงานพยากรณ์โฮโนลูลูจะปฏิบัติงานในฐานะศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง เมื่อมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นภายในพื้นที่ หรือเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่แปซิฟิกกลาง ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 โดยทำงานแทนที่ศูนย์พยากรณ์เดิมอย่าง ศูนย์เตือนเฮอริเคนร่วม
พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางคือพื้นที่แปซิฟิกกลาง (CP; Central Pacific) ซึ่งเป็นเขตทางการปกครอง ไม่ใช่เขตทางอุตุนิยมวิทยา โดยไม่ถือเป็นแอ่งพายุหมุนเขตร้อน (พื้นที่ที่พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน) แต่มักพูดถึงบ่อย ๆ ในฐานะแอ่งแปซิฟิกกลาง หรือแอ่งแปซิฟิกเหนือตอนกลาง ขอบเขตด้านตะวันตกที่สุดของพื้นที่รับผิดชอบคือเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา หรือเส้นแอนไทเมริเดียน โดยถือเป็นเส้นแบ่งเขตวันสากลสำหรับละติจูดในเขตร้อน ในทางอุตุนิยมวิทยา พื้นที่นี้ครอบคลุมด้านตะวันตกของแอ่งแปซิฟิกตะวันออก และด้านตะวันออกของแอ่งแปซิฟิกตะวันตก แม้ว่าศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติจะรับผิดชอบในแอ่งแปซิฟิกตะวันออกด้วย แต่หน่วยงานดังกล่าวมีขอบเขตแค่ทางตะวันออกของเส้น 140 องศาตะวันตก ไม่ใช่ทั้งแอ่งทางอุตุนิยมวิทยา โดยพื้นที่ทางตะวันออกของเส้น 140 องศาตะวันตก แต่เดิมเป็นพื้นที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการของศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกตะวันออก โดยดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2513 เช่นกัน แต่ปัจจุบันศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกตะวันออกถูกยุบไปร่วมกับศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ
ในพื้นที่นี้ ฤดูพายุเฮอริเคนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ในทางปฏิบัติแล้ว พายุอาจก่อตัวในพื้นที่แปซิฟิกตะวันออก (ด้านตะวันออกหรือด้านตะวันตกของเส้น 140 องศาตะวันตก) และเคลื่อนตัวมาทางตะวันตก และสามารถส่งผลกระทบกับรัฐฮาวายได้
ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2 | ชุดที่ 3 | ชุดที่ 4 |
---|---|---|---|
อาโกนี | อากา | อาลิกา | อานา |
เอมา | เอเกกา | เอเล | เอลา |
โฮเน | เฮเน | ฮูโก | ฮาโลลา |
อีโอนา | ไอโอลานา | อีโอปา | อีอูเน |
เกลี | เกโอนี | กีกา | กีโก |
ลาลา | ลีโน | ลานา | โลเก |
โมเก | เมเล | มากา | มาลีอา |
โนโล | โนนา | เนกี | นีอาลา |
โอลานา | โอลีวา | โอเมกา | โอโฮ |
เปนา | ปามา | เปวา | ปาลี |
อูลานา | อูปานา | อูนาลา | อูลีกา |
วาเล | เวเน | วาลี | วาลากา |
ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางจะใช้ชื่อตามธรรมเนียมในภาษาฮาวายมาตั้งชื่อให้กับพายุที่ก่อตัวขึ้นภายในพื้นที่ภายในเขตอำนาจของหน่วยงาน โดยชุดรายชื่อประกอบด้วยชุดของรายชื่อจำนวนสี่ชุด เมื่อรายชื่อชุดที่หนึ่งถูกใช้ไปจนหมดแล้ว จะทำการใช้ชื่อในชุดที่สองต่อ เป็นเช่นนี้จนถึงชุดที่สี่ เมื่อรายชื่อในชุดที่สี่ถูกใช้จนหมดแล้ว ก็จะกลับไปใช้ชื่อในชุดที่หนึ่งอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับในแอตแลนติกและแปซิฟิกตะวันออก ตรงที่ชื่อพายุจะไม่ได้เริ่มต้นด้วยตัวอักษร "A" ในทุก ๆ ปี โดยมีชื่อของพายุที่ถูกถอนแล้วทั้งสิ้นสี่ชื่อ ได้แก่ อีวา (Iwa) เมื่อ พ.ศ. 2525, อีนิกี (Iniki) เมื่อ พ.ศ. 2535, ปากา (Paka) เมื่อ พ.ศ. 2540 และอีโอเก (Ioke) เมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งถูกแทนที่ด้วย อีโอ (Io, และภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น อีโอนา/Iona), ไอโอลานา, ปามา และ อีโอปา แทนตามลำดับ
ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางใช้ระบบพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อนอัตโนมัติในการพยากรณ์ ออกคำแนะนำ และสร้างภาพกราฟิก