นาวาตรี สมาน กุนัน | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2523 อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด |
เสียชีวิต | 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 (37 ปี) วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | วลีพร กุนัน |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนชุมพลทหารเรือ รุ่น 40 (นรจ.40) นักเรียนทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่น 30 (นทต.30) |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
ยศ | นาวาตรี |
หน่วย | ซีล |
นาวาตรี สมาน กุนัน (23 ธันวาคม พ.ศ. 2523 – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561)[1] ชื่อเล่น แซม, อั๋น หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ จ่าแซม เป็นอดีตทหารประจำหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ภายหลังลาออกจากราชการมาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กระทั่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับสมญานามว่า "วีรบุรุษถ้ำหลวง"[2]
สมาน กุนัน เกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ที่อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของนายวิชัย กับนางสำราญ กุนัน สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนชุมพลทหารเรือ และสำเร็จหลักสูตรนักเรียนทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่น 30 เข้ารับราชการที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการจนถึงยศ “จ่าเอก” ก่อนจะลาออกจากราชการมาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ท่าอากาศสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2549[3]
ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับ นางวลีพร กุนัน แต่ไม่มีบุตรและธิดาด้วยกัน[4] นอกจากนี้ เขายังเปิดฟาร์มไก่งวง ที่อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อจำหน่ายลูกไก่งวง และพันธุ์ไก่งวง[5]
สมาน กุนัน ยังเป็นทั้งนักไตรกีฬา,[6][7][8] นักวิ่งเทรลที่รู้จักกันดี[9] และนักจักรยานสังกัดทีม Nich-100Plus ทีมจักรยานสมัครเล่นที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ผู้เข้าแข่งขันในหลายรายการ[10][11] โดยได้รับเหรียญรางวัลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก[12] เขาเคยคว้าแชมป์โอเวอร์วอล หรือ การแข่งขันกีฬาผจญภัย รายการ "ดิไอบิสเกาะสมุย โทรฟี่ 2010 "ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการแข่งขันวิ่ง ว่ายน้ำ พายเรือคายัค ระยะทาง 43.45 กิโลเมตร และปั่นจักรยาน จากผู้เข้าร่วมแข่งขัน 103 ทีม[13]
นอกจากนี้ สมาน กุนัน ยังเป็นผู้ฝึกสอนการปั่นจักรยาน กิจกรรมค่ายเสือปั่น 01 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย[14] รวมถึงเคยสอนเทคนิคการใช้อุปกรณ์เทรลรันนิงผ่านรายการเสน่ห์กีฬา ที่ดำเนินรายการโดยเซลีน่า วีสมันน์[15]
ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง สมาน กุนัน รับภารกิจเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ให้ลำเลียงขวดอากาศจากโถงสามไปวางตามจุดต่าง ๆ ณ บริเวณสามแยกในถ้ำ โดยเริ่มดำน้ำในถ้ำตั้งแต่เวลา 20:37 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม หลังเสร็จภารกิจได้ดำน้ำกลับแต่หมดสติในน้ำ ระหว่างนั้นคู่ดำน้ำที่ไปด้วยกันได้ปฐมพยาบาล (CPR) แต่เขาไม่ได้สติ จึงนำกลับมายังโถงสาม เพื่อปฐมพยาบาลอีกครั้ง ทว่าไม่ได้ผล สมาน กุนัน เสียชีวิต ณ เวลาประมาณ 01:00 น. ของวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561[16] ซึ่งมีผู้คนยกย่องสมาน กุนัน เป็นจำนวนมาก และให้สมญานามเขาว่า "จ่าแซม วีรบุรุษถ้ำหลวง"[17]
วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงรายเพื่อรับศพ ต่อมา มีพิธีเคลื่อนย้ายศพจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา) เพื่อรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
ส่วนวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 มีพิธีรับศพมาที่ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด โดยมีครอบครัวและญาติมารอรับศพพร้อมทหารทำความเคารพและประชาชนส่วนหนึ่งมารอรับศพ ก่อนเคลื่อนย้ายไปที่ วัดหนองคู อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด[18][19]
วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ นาวาตรี สมาน กุนัน ณ วัดหนองคู อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี[20]
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานยศ นาวาตรี และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก ให้แก่สมาน กุนัน เป็นกรณีพิเศษ หลังจากที่เขาเสียชีวิตในเหตุการณ์ถ้ำหลวง[21]
สมาน กุนัน ยังได้รับการไว้อาลัยในระดับนานาประเทศ ทั้งสื่อเดลีเมล์ของสหราชอาณาจักร ที่แสดงความขอบคุณและระบุว่าเขาจะได้รับการจดจำตลอดไป ส่วนที่ประเทศอินเดีย ได้มีการก่อทรายเป็นรูปนาวาตรีสมาน เพื่อเป็นการไว้อาลัย[22] รวมถึงอิเกร์ กาซิยัส อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติสเปน ได้ลงรูปจ่าเอกสมาน พร้อมแสดงการเชิดชูผ่านอินสตาแกรม[23]
ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ได้มีการวิ่งแข่งการกุศล ที่จังหวัดพะเยา เพื่อหาทุนช่วยเหลือครอบครัวนาวาตรีสมาน ซึ่งรายการนี้มีผู้เข้าแข่งขันประมาณ 500–700 คน และทำยอดบริจาคกว่า 2 แสนบาท[24]
ส่วนในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ได้มีพิธีอุปสมบทนักฟุตบอลเยาวชน พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี เพื่ออุทิศแก่นาวาตรีสมาน ที่วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย เป็นเวลา 9 วัน[25] ยกเว้นเด็กชายอดุลย์ ที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ได้ขอพรพระเจ้าให้แก่นาวาตรีสมาน ตามความเชื่อทางศาสนาของตน รวมถึงได้เดินทางมาร่วมงานอุปสมบทในภายหลัง[26]
และในวันที่ 26 กรกรฎาคม ของปีเดียวกัน มีการแข่งฟุตบอลนัดพิเศษเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวนาวาตรีสมาน ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน[27] ซึ่งรายการนี้มีทีมที่เข้าร่วมถึง 6 ทีม ได้แก่ คาราวาน, การกีฬาแห่งประเทศไทย, นักเรียนนายเรือ, หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ, แมงปอล้อคลื่น และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์[28]
เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างศิลปะวัดร่องขุ่น ชักชวนศิลปินชาวเชียงรายประมาณ 300 คน จัดกิจกรรมศิลปะเพื่อเทิดทูนเกียรติประวัติของสมาน กุนัน และได้ขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์นี้ในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง–ขุนน้ำนางนอน ประกอบไปด้วยสร้างรูปปั้นขนาด 1.5 เท่าตัวจริงของสมาน และศาลาเอนกประสงค์เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ ภาพถ่าย ข้อมูล และงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถ้ำหลวง รวมถึงเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยใช้งบประมาณส่วนตัวทั้งหมด[29]
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำพิธีเปิดอาคาร นาวาตรี สมาน กุนัน เพื่อส่งเสริมให้พนักงานได้ออกกำลังกาย[30]
รางวัลที่ระบุทางเพจเฟซบุ๊ก จ่าแซม วีรบุรุษถ้ำหลวงฯ Sam The Hero มีดังนี้: