สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์กัมพูชา | |||||
ครองราชย์ | พ.ศ. 2119–2137 | ||||
รัชกาลก่อนหน้า | สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก) | ||||
รัชกาลถัดไป | พระไชยเชษฐาที่ 1 | ||||
ประสูติ | พ.ศ. 2083 | ||||
สวรรคต | พ.ศ. 2139 | ||||
พระมเหสี | สมเด็จพระภัควดีศรีจักรพรรดิราช สมเด็จพระบรมกษัตริย์ สมเด็จพระเทพกษัตรี | ||||
| |||||
พระบุตร | สมเด็จพระไชยเชษฐา สมเด็จพระบรมราชา สมเด็จพระมหากษัตรี สมเด็จพระวิสุทธกษัตริย์ พระวิสุทธกษัตรี เจ้าพระยาณู เจ้าพระยานอน นักญา นักอี เจ้าพระยาโยม | ||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์วรมัน | ||||
พระราชบิดา | สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก) |
สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือสมเด็จพระมหินทราชา พระนามเดิมว่านักพระสัตถาหรือนักพระสัฏฐา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาในสมัยที่กรุงละแวกเป็นราชธานี ประสูติราว พ.ศ. 2083 ครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 2119–2137 เป็นพระโอรสของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ในรัชกาลของพระองค์นั้น ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกับสยามหลายครั้ง ก่อนจะรบแพ้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนเสียกรุงละแวกให้สยาม
ใน พ.ศ. 2121 และ พ.ศ. 2124 สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ทรงยกทัพเรือมาโจมตีเพชรบุรีในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา โดยใน พ.ศ. 2121 นั้นตีไม่สำเร็จ เจ้าพระยาจีนจันตุ แม่ทัพฝ่ายละแวกเกรงทัณฑ์บน เข้ามาสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาก่อนจะลอบหนีกลับไปภายหลัง ส่วนใน พ.ศ. 2124 ตีเมืองเพชรบุรีได้สำเร็จ เจ้าเมืองเพชรบุรีเสียชีวิต ฝ่ายเขมรจึงกวาดต้อนครอบครัวกลับไปกรุงละแวกเป็นอันมาก ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2125 สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้แต่งทัพมากวาดต้อนผู้คนทางหัวเมืองตะวันออก สมเด็จพระนเรศวรซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระมหาอุปราช ได้นำทัพไปตีทัพเมืองละแวกแตกไป หลังจากนั้น กรุงละแวกได้ส่งพระราชสาสน์ขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และได้ปักปันเขตแดนไว้ที่ด่านพระจารึก สงครามระหว่างสยามกับกัมพูชาจึงสงบลง[1] หลังจากทำสัญญาเป็นไมตรีกันแล้ว เมื่อเกิดศึกหงสาวดีขึ้นอีก สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 โปรดให้พระอนุชาคือพระศรีสุพรรณมาธิราชหรือพระศรีสุริโยพรรณมาช่วยราชการสงคราม แต่ระหว่างสงครามนั้น พระศรีสุพรรณมาธิราชมีเหตุให้ผิดใจกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้ขาดทางพระราชไมตรีนับแต่นั้น และเกิดสงครามระหว่างสยามและกัมพูชาต่อมาอีก
ใน พ.ศ. 2129 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในขณะที่ยังเป็นพระมหาอุปราช ได้ยกทัพไปตีกรุงละแวก แต่ไม่สามารถตีหักเอากรุงละแวกได้ จึงเลิกทัพกลับมา ใน พ.ศ. 2130 เมื่อมีทัพหงสาวดีมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีก สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองตะวันออกของสยาม เข้ามาถึงเมืองนครนายก พระยาศรีไสยณรงค์ และพระยาศรีราชเดโชเป็นแม่ทัพออกไปตีทัพกรุงละแวกแตกไป
ตั้งแต่ พ.ศ. 2127 เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้ตั้งให้พระโอรสสองพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ คือพระไชยเชษฐาที่ 1 และสมเด็จพระบรมราชาองค์ตน ทำให้กัมพูชามีกษัตริย์พร้อมกันถึงสามพระองค์ สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางเขมร ในพงศาวดารกัมพูชาฉบับพระองค์นพรัตน์ถึงกับระบุว่าพระองค์เสียพระสติ เสวยแต่น้ำจัณฑ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2134
ใน พ.ศ. 2136 หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงยกทัพมาโจมตีกรุงละแวกอีก คราวนี้ ทรงตีเมืองละแวก และจับพระศรีสุริโยพรรณ และพระโอรสอีกสองพระองค์คือพระชัยเจษฎาและพระอุทัย นำตัวกลับไปกรุงศรีอยุธยา ส่วนสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 และพระมหากษัตริย์อีก 2 พระองค์หลบหนีไปได้ โดยครั้งแรกไปประทับที่เมืองเสร็ยสนทอร์หรือศรีสุนทร จากนั้นจึงหนีไปเมืองเชียงแตงหรือสตึงเตรง แล้วประชวรเป็นไข้สิ้นพระชนม์ที่นั่นเมื่อพระชนม์ได้ 54 พรรษา ใน พ.ศ. 2137[2] โดยสมเด็จพระชัยเชษฐาประชวรและสิ้นพระชนม์ไปด้วย เหลือแต่สมเด็จพระบรมราชาองค์ตน ต่อมาพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้นำมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ที่เขาพระราชทรัพย์ เมืองอุดงค์มีชัยในรัชกาลพระไชยเชษฐาที่ 2[3]
ได้มีการนำพระราชประวัติของพระองค์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี ซึ่งปรากฏฉากที่พระศรีสุพรรณพระอนุชาในสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 นักพระสัฏฐา ได้เกิดบาดหมางกับสมเด็จพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้อาณาจักรเขมรละแวกประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป เปิดฉากสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงละแวก