สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฎราชกุมาร
สยามมกุฎราชกุมาร
ดำรงพระยศ14 มกราคม พ.ศ. 2430[1] – 4 มกราคม พ.ศ. 2438
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล)
ถัดไปเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
พระราชสมภพ27 มิถุนายน พ.ศ. 2421
พระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สวรรคต4 มกราคม พ.ศ. 2438 (16 ปี)
พระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชมารดาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ลายพระอภิไธย

ร้อยโท สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ หรือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 – 4 มกราคม พ.ศ. 2437 นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) เป็นพระโสทรเชษฐาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นสมเด็จพระปิตุลาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย แต่หลังจากดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา

พระราชประวัติ

[แก้]

พระราชสมภพ

[แก้]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. 1240 ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบอกพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ว่า "มหาอุณหิศ" แต่ด้วยทรงเห็นว่าเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วอาจจะอ่านได้ว่า อุณหิศ' หรือ อันหิศ' ก็ได้ จึงมีพระราชหัตถ์ถึงพระยาอัษฎางค์เปลี่ยนพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่เสียใหม่ว่า "มหาวชิรุณหิศ" ซึ่งแปลว่า มงกุฎเพชรใหญ่

พระองค์มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)

สยามมกุฎราชกุมาร

[แก้]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีโสกันต์ ถ่ายโดยหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)

ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. 2428 ก็ไม่มีการสถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช" ซึ่งเรียกว่า "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2430) มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า[2]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงษ อุกฤษฐพงษวโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ์ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเป็นตำแหน่งรัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในการนี้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรได้ส่งโทรเลขมาอำนวยพรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย[3]

โสกันต์และผนวช

[แก้]

เมื่อพระองค์มีพระชันษาครบ 13 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์อย่างใหญ่ โดยโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นอธิบดีดำเนินการสร้างเขาไกรลาศบริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชพิธีโสกันต์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 มกราคม พ.ศ. 2433 จากนั้นได้ทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2434 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์[4] ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2434 จึงลาผนวช[5]

สวรรคต

[แก้]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ฉศก จ.ศ. 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา 191 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญพระบรมศพลงสู่พระบรมโกศ ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้ราชการไว้ทุกข์ 1 เดือน[6][7]

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2444 อัญเชิญพระบุพโพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นพระราชยานกง ตั้งกระบวนแห่ไปยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ประดิษฐานถ้ำพระบุพโพบนแว่นฟ้าในศาลาที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าขาวสดับปกรณ์ 40 พับ พระสงฆ์มีพระพิมลธรรม (ฑิต อุทโย) เป็นประธานสดับปกรณ์ แล้วอัญเชิญพระบุพโพไปยังพระเมรุข้างศาลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปจุดเพลิงพระราชทาน แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ถวายพระเพลิงพระบุพโพตามลำดับ[8]

วันที่ 22 มกราคม อัญเชิญพระบรมศพโดยพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส ถึงวันที่ 24 มกราคม บ่าย 3 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จฯ มาทอดผ้าสดับปกรณ์และพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ชีวิตส่วนพระองค์

[แก้]
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุเข้าสู่วัยหนุ่ม มีพระโฉมงดงามเป็นสง่า และทรงด้วยพระสติปัญญารอบรู้ ประกอบกับการอบรมสั่งสอนจากพระราชบิดาอย่างใกล้ชิด[9] กระนั้นก็ทรงเป็นราชโอรสที่ซุกซนโลดโผน ห้าวหาญ และแข็งกล้าอย่างเด็กผู้ชาย ขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือ มกุฏราชกุมารองค์ต่อมา) พระอนุชาต่างพระมารดา กลับมีอุปนิสัยสุภาพอ่อนโยน โปรดการนั่งพับเพียบเรียบร้อยเฉย ๆ[10] ทั้งสองพระองค์จึงถูกชาววังเปรียบเทียบว่าทรงแตกต่างดั่ง "พระอาทิตย์" กับ "พระจันทร์"[11]

เมื่อครั้งนั้นพระองค์มีพระหฤทัยผูกพันกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี พระภคินีต่างพระมารดาที่มีพระชันษาแก่กว่าพระองค์เพียง 10 เดือน[12] เหตุที่มีพระทัยสนิทเสน่หา สืบเนื่องมาจากความใกล้ชิดเมื่อครั้งทรงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระราชชนกด้วยกัน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกิจอันเป็นความลับของประเทศ ทรงมิไว้วางพระทัยผู้ใดให้ทำหน้าที่ใกล้ชิดเกี่ยวกับการนี้ โปรดเกล้าฯให้แต่เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์เข้าเฝ้าใกล้ชิดตลอดเวลา[13]

ด้วยความผูกพันดังกล่าว สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ ทรงแสดงความในพระทัยออกมาเป็นสักวาที่ทรงนิพนธ์ในโอกาสอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีพระราชชนกประทับอยู่ด้วย ซึ่งเจ้านายและชาววังแอบจำต่อกันมา ความว่า[14]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
   ได้ยลพักตร์ลักขณาสุดาพี่ จะหาไหนไม่มีเสมอสอง
เสงี่ยมงามทรามสงวนนวลละออง ไฉนน้องไร้คู่อยู่เอกา
ถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่เป็นคู่ชื่น สำราญรื่นร่วมจิตขนิษฐา
จะบนบวงสรวงเทพเทวา ขอให้สมปรารถนาครานี้เอย

แต่หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 พระองค์ก็มีเรื่องให้พระราชบิดากังวลพระราชหฤทัย เป็นเหตุให้พระบรมชนกนาถทรงมีลายพระราชหัตถเลขาสาปแช่งผู่ใหญ่ที่ทำให้พระราชโอรสผู้นี้ หลงทาง[15] แสดงให้เห็นถึงว่าพระราชชนกทรงรักและห่วงใยพระองค์ ซึ่งจะต้องเป็นเสาหลักในการปกครองประเทศต่อไป เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระบรมฯ ไปเที่ยวงานภูเขาทองซึ่งเป็นงานใหญ่ และได้เสด็จออกมาประทับ ณ วังสราญรมย์[16] และพบปะกับหม่อมผู้หนึ่งที่บ้านของพระยานรรัตนราชมานิต ด้วยความที่ทรงเป็นห่วงพระโอรสที่มีพระชนมายุยังน้อย ทั้งทรงเกรงว่าจะดำเนินไปในทางที่ไม่ควร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้กำชับและสาปแช่งพระยาเทเวศรฯ (ซึ่งเป็นพระอภิบาลในมกุฎราชกุมาร)[16] เนื่องด้วยทรงรังเกียจหม่อมผู้นั้นที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพบปะด้วย ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงหม่อมผู้นี้ว่าไว้ว่า "...ประพฤติตนลามกต่าง ๆ ย่อมมาปรากฏแก่หูเราหลายสิบครั้ง"[17] ทั้งยังทรงแช่งพระยานรรัตนราชมานิตที่ทำให้สมเด็จพระบรมฯ เจอกับหม่อมผู้นั้นที่บ้านของตน[18] ซึ่งการสาปแช่งในครั้งนี้ว่าไม่ได้เป็นการสาปส่งหรือใช้ภาษาหยาบคายแต่ประการใด แต่เป็นการทั้งขอสาปส่งและสรรเสริญในท่าทีเดียวกัน หากผู้ถูก"พูดถึง" เหล่านั้นนำทุกเรื่องที่จะเกิดขึ้นมาอธิบายให้พระองค์ทราบ และทรงอธิบายไว้ในจดหมายต่าง ๆ ที่ส่งไปถึงคนเหล่านั้นด้วยว่า ที่ทำไปก็มิอยากให้ปิดบังการต่าง ๆ แก่พระองค์ ซึ่งจะเป็นผลพวงดีต่อพระราชโอรสของพระองค์ในบั้นปลายนั้นเอง และท้ายที่สุดสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงรับปฏิญาณตามคำสั่งของพระราชบิดา เรื่องพระราชวิตกครั้งนี้จึงจบสิ้นลง[19]

อนึ่งจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ได้อ้างว่า ต้นฉบับเลอะเลือนทำให้ไม่ทราบชื่อหม่อมผู้นั้น แต่ทราบเพียงว่าเป็นหม่อมห้ามของเจ้านายพระองค์หนึ่ง[19]

ความสนพระทัย

[แก้]

พระองค์สนพระทัยการจดไดอารี ซึ่งไดอารีเล่มดังกล่าวพระองค์ได้รับพระราชทานมาจากพระราชบิดาในวันคล้ายวันประสูติเมื่อพระชนมายุครบ 5 ชันษาบริบูรณ์ และทรงเริ่มบันทึกทันทีที่ได้รับพระราชทาน โปรดฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ หรือที่ทรงเรียกว่าป้าโสม เป็นผู้จดบันทึกตามคำบอกเล่าของพระองค์[20] ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ 9-10 พรรษา จึงทรงเริ่มบันทึกด้วยพระองค์เอง[20] นอกจากการจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ประจำวันแล้ว พระองค์ยังทรงแต่งโคลงไว้หลายบท อาทิ โคลงว่าด้วยรักซึ่งพระองค์ทรงแต่งขึ้นเพื่อถวายพระบรมชนกนาถสำหรับลงหนังสือวชิรญาณ ความว่า[21]

   รักใครจะรักแม้น    ชนกนารถ
รักบอยากจะคลาด    สักน้อย
รักใดจะมิอาจ    เทียมเท่า ท่านนา
รักยิ่งมิอาจคล้อย    นิราศแคล้วสักวันฯ

นอกจากนี้พระองค์ทรงบันทึกถึงเรื่องการแต่งนิทานเป็นภาษาอังกฤษเพื่อไปลงหนังสือ Little Folks ของประเทศสิงคโปร์และทรงได้รับรางวัลด้วย[22] ในช่วงท้าย ๆ ของบันทึก เมื่อมีพระชันษาได้ 13-14 ปี ทรงบันทึกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งทรงศึกษาจากครูฝรั่ง และทรงเรียกพระบรมชนกนาถในไดอารีว่า Papa[23] แต่หลังจากวันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2436 ทรงบันทึกหลังจากนี้อีกสามวัน แต่เป็นข้อความสั้น ๆ หลังจากนั้นก็มิได้บันทึกอะไรต่ออีก จนอีกสิบเดือนต่อมาก็เสด็จสวรรคต[24]

สมุดจดบันทึกรายวันเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ "จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ" โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[25]

พระราชกรณียกิจ

[แก้]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารขณะเสด็จออกรับจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ที่ประพาสสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2434

หลังจากที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จออกรับแขกเมืองและรับฎีกาของราษฎรแทนพระองค์ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ในงานต่าง ๆ อยู่เสมอ

ในส่วนของราชการทหารนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหาร แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งผู้ว่าการแทนผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหารจนกว่าพระองค์จะว่าการได้ด้วยพระองค์เอง[26] เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรทหารโดยให้ดำรงพระยศที่นายร้อยโท[27]

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ

พระราชอิสริยยศ

[แก้]
  • 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 – 13 มกราคม พ.ศ. 2429 : สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
  • 14 มกราคม พ.ศ. 2429 – 4 มกราคม พ.ศ. 2438 : สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร[28]
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 : สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร[29]
  • 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 – ปัจจุบัน : สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ[30]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]
สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
รับใช้กองทัพบกสยาม
ประจำการพ.ศ. 2430–2437
ชั้นยศ นายร้อยโท
หน่วยกรมทหารมหาดเล็ก

พระยศทางทหาร

[แก้]
  • 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 : ผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหาร
  • 8 ธันวาคม พ.ศ. 2436 : นายร้อยโท ประจำกองทหารราบมหาดเล็ก

พระราชานุสรณ์

[แก้]
  • วังวินด์เซอร์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการบูรณะวัดมหาธาตุ พร้อมกับพระราชทานเพิ่มสร้อยนามวัดว่า "ยุวราชรังสฤษฎิ์" เพื่อเป็นบุญนิธิแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
  • มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ตึกถาวรวัตถุ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่กุฏิสงฆ์วัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก สถาปนาเป็นตึกถาวรวัตถุแทนอาคารประกอบพระเมรุ เพื่อเป็นที่เชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณาทาน เมื่อการบำเพ็ญกุศลเสร็จแล้ว จะได้ทรงพระราชทานอุทิศถวายตึกถาวรวัตถุนี้เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย และพระราชทานเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยใหม่ว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศ แต่การสร้างตึกถาวรวัตถุไม่แล้วเสร็จจนสิ้นรัชกาล
  • พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา โปรดให้สร้างเพื่ออุทิศถวายเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ใช้เป็นที่ประทับทรงศีลในวันอุโบสถ
  • ตึกวชิรุณหิศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • อาคารวชิรุณหิศ หรือ อาคาร 10 โรงเรียนหอวัง และพระรูปครึ่งพระองค์ ประดิษฐาน ณ ชั้น 2 ของอาคาร
  • อาคารมหาวชิรุณหิศ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
  3. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2429
  4. ราชกิจจานุเบกษา, การทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารเป็นสามเณร, เล่ม ๘, หน้า ๒๒๓
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราฃลาพระผนวช, เล่ม ๘, หน้า ๓๘๓
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมโองการ ประกาศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสวรรคต, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๑, ๖ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓, หน้า ๓๒๘
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๒, ๑๓ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓, หน้า ๓๓๔-๓๓๕
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงพระบุพโพ, เล่ม ๑๗, ตอน ๔๓, ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๑๙, หน้า ๖๑๕-๖๑๗
  9. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 140-141
  10. ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ:มติชน. 2556, หน้า 246
  11. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. "'พระอาทิตย์' กับ 'พระจันทร์' ของชาววัง". ใน วชิราวุธานุสรณ์สาร 14:4. 11 พฤศจิกายน 2537, หน้า 64-68
  12. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 141
  13. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 141-142
  14. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 142
  15. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 143
  16. 16.0 16.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 144
  17. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 147
  18. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 146
  19. 19.0 19.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 148
  20. 20.0 20.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 132
  21. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2431
  22. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2433
  23. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ : โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 159
  24. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 160
  25. "จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-29. สืบค้นเมื่อ 2012-10-20.
  26. "ประกาศจัดการทหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการทั่วไป (คอมมานเดออินชิฟ) โดยให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช รับตำแหน่ง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สืบค้นเมื่อ 03 พฤศจิกายน 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. "พระราชทานสัญญาบัตรทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สืบค้นเมื่อ 03 พฤศจิกายน 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
  29. สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
  30. "สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-23. สืบค้นเมื่อ 2020-01-25.
  31. "ข่าวราชการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 3 (ตอน 35): หน้า 289. 28 พฤศจิกายน 2429. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  32. "ตั้งตำแหน่งคณาธิบดีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 10 (ตอน 17): 402. 10 ธันวาคม ร.ศ. 112. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  33. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 9, ตอน 14, 3 กรกฎาคม ร.ศ. 111, หน้า 86
  34. ราชกิจจานุเบกษา, ผู้แทนกงสุลเยเนอราลเดนมากเฝ้าทูลละอองธุลพระบาทถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 8, ตอน 52, 27 มีนาคม ร.ศ. 110, หน้า 470
  35. ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมือง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 9, ตอน 44, 29 มกราคม ร.ศ. 111, หน้า 388
  36. ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมืองที่เกาะสีชัง, เล่ม 8, ตอน 14, 5 กรกฎาคม ร.ศ. 110, หน้า 117


ก่อนหน้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ถัดไป
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
(กรมพระราชวังบวรสถานมงคล)

สยามมกุฎราชกุมาร
(พ.ศ. 2429 - 2437)
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร