สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) | |
---|---|
ชื่ออื่น | สมเด็จเกี่ยว |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 11 มกราคม พ.ศ. 2472 (84 ปี) |
มรณภาพ | 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพมหานคร |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 9 ประโยค นักธรรมชั้นเอก |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 |
พรรษา | 64 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตประธานกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานสมัชชามหาคณิสสรคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย อดีตประธานกรรมการมหาเถรสมาคม |
สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม เกี่ยว โชคชัย ฉายา อุปเสโณ (11 มกราคม พ.ศ. 2472 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าทีสมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานสมัชชามหาคณิสสรคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย[1][2][3] และอดีตประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงพระประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ. 2547[4] ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน[1][2] การแต่งตั้งดังกล่าวทั้งสองครั้ง ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มลูกศิษย์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) (หลวงตามหาบัว) นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายทองก้อน วงศ์สมุทร[5][6][7][8]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2472 นับแบบปัจจุบัน หรือ นับแบบเก่า พ.ศ. 2471 (ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง) [9] ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือกำเนิดในครอบครัวชาวจีนไหหลำ เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย่ (ยี โชคชัย) ครอบครัวโชคชัยมีอาชีพทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันทายาทสกุลโชคชัยหรือแซ่โหย่เปลี่ยนนามสกุลนั้นเป็น โชคคณาพิทักษ์
เกี่ยว โชคชัย สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2483 ก่อนที่จะถึงกำหนดวันเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากเด็กชายเกี่ยวหายจากป่วยไข้ ก็จะให้บวชเป็นเณร ภายหลังจากบนบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์[10]
ความตั้งใจเดิมของสามเณรเกี่ยว คือ การบวชแก้บนสัก 7 วัน แล้วก็จะลาสึกไปรับการศึกษาในฝ่ายโลก แต่เมื่อบวชแล้วได้เปลี่ยนใจ ไม่คิดจะสึกตามที่เคยตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงได้พาสามเณรเกี่ยวไปฝากกับพระครูอรุณกิจโกศล (พริ้ง โกสโล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย[11]
ในเวลาต่อมา หลวงพ่อพริ้งได้นำไปฝากไว้กับอาจารย์เกตุ คณะ 5 ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากนั้นเป็นเวลาไม่นาน กรุงเทพมหานครต้องประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด หลวงพ่อพริ้งจึงได้รับตัวพาไปฝากท่านอาจารย์มหากลั่น ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา[12] เมื่อสงครามสงบ หลวงพ่อพริ้งได้พากลับไปที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเวลานั้น ท่านอาจารย์เกตุ ได้ลาสิกขาบทไปแล้ว หลวงพ่อพริ้งจึงพาฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนา เป็นพระธรรมเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ)[12]
ท่านได้ศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร[13] ต่อมา เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีพระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทโย) เป็นพระอุปัชฌาย์[13] จนถึงปี พ.ศ. 2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค[14][15]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี[16] และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ[17]
เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ โดยลำดับ ดังนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2494 โดยเป็นครูสอนปริยัติธรรม ต่อได้เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2496 และเป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2497 ในปีเดียวกัน ได้เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลพระวินัยปิฏก ฉบับ พ.ศ. 2500 ของคณะสงฆ์[24]
ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปีต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกบาลีธรรม และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์[24]
ในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด)[24] ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[24]
ในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการร่างหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ[24]
ในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ เป็นรูปที่ 3 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี[25]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 (เขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, นครพนม, ยโสธร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ) ในปี พ.ศ. 2528 ได้ เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนใหญ่หนตะวันออก และในปี พ.ศ. 2534 ได้เป็นประธานกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย
นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา และได้แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ 919 ในรายการ “ของดีจากใบลาน” เป็นประจำ[26]
ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมมหาเถรสมาคม 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2498 ได้ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า ในปี พ.ศ. 2505 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเพื่อศาสนสัมพันธ์ที่เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2510 ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์ การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลาว ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2512 เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูต
ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ไปสังเกตการณ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2525 ได้รับตำแหน่งรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก[16][27]
ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประชวร และเสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระศาสนกิจได้สะดวก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ขอความเห็นจากคณะแพทย์และคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร มีพระเทพสารเวที (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม) ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เสนอที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2547 ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม มีมติอนุโมทนาสนองข้อเสนอดังกล่าว โดยให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว[28] และโดยที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ มีอายุถึง 96 ปี (ณ เวลานั้น) อีกทั้งยังอาพาธ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน จึงเห็นสมควรให้สมเด็จพระราชาคณะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ลำดับถัดไป ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยมีสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะอื่นอีก 5 รูป เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่[28] โดยที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยมีนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนาม[29] ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 อย่างไรก็ตาม ในปลายปี พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ได้กล่าวหาว่า ลายมือเขียน “ทราบและเห็นชอบ” ไม่ได้เป็นของสมเด็จพระสังฆราช แต่เป็นของพระเทพสารเวที เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[30]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2547 เช่น เป็นประธานในพิธีวันวิสาขบูชาโลก ในช่วง 30 พ.ค. ถึง 3 มิ.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่คณะสงฆ์ในโลกทั้ง 3 นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน ได้มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันในสถานที่เดียวกัน[31]
ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2547 เพื่อให้มีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2547[32] มหาเถรสมาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ ซึ่งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด ทั้งจากฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำหน้าที่ประธาน
นอกจากสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว ยังมีสมเด็จพระราชาคณะอีก 6 รูป ในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีดังต่อไปนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 เช่น เป็นประธานในพิธีวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยมีผู้นำศาสนาพุทธจาก 41 ประเทศเข้าร่วม และกล่าวเปิดประชุมโดยการประกาศให้ผู้นำศาสนาพุทธทั่วโลกร่วมกันยกย่ององค์พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงเป็นองค์พุทธมามกะประเสริฐยิ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมแนะให้ใช้หลักแห่งพุทธะดับความร้อนรุ่มของโลก[40]
นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) ได้กล่าวว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ ไม่ได้ทรงพระประชวร แต่เพราะทรงเจริญพระชนมายุมากแล้วเท่านั้น จริง ๆ แล้วทรงแจ่มใส ปฏิบัติพระศาสนกิจได้ การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจึงมิชอบ[6][5] หลวงตามหาบัวยังได้กล่าวหาว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นมหาโจรและทำอะไรไม่ได้ดีไว้หลายอย่าง[7] ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 หลวงตามหาบัวจึงได้มอบหมายให้นายทองก้อน วงศ์สมุทร ถวายฎีกาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานบิณฑบาตถอดสมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ฐานขัดพระธรรมวินัย ดำเนินการประชุมมหาเถรสมาคมโดยไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ และร่วมมือกับนายวิษณุ เครืองาม ทำลายหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ตลอดจนศีลธรรมอันดี[8][41] ในเวลาต่อมา หลวงตามหาบัวได้นำคณะสงฆ์และฆราวาสนับหมื่น ไปชุมนุมใหญ่ต้านสมเด็จพระพุฒาจารย์[42] ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ออกมากล่าวว่า "กรณีหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ถวายฎีกาเป็นการปกป้องสถาบันศาสนา และสถาบันกษัตริย์ไม่ให้อ่อนแอ"[43]
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 หลวงตามหาบัวได้ออกคำสั่งให้นายทองก้อนออกจากวัด และห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใดๆ ของวัดป่าบ้านตาดอีกต่อไป เนื่องจากประพฤติไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการบริหารสถานีวิทยุเสียงธรรมชุมชน จึงทำให้แนวร่วมต่อต้านสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้อ่อนแอลง[44]
ในทางตรงข้าม คอลัมนิสต์แมงเม่า แห่ง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ออกมากล่าวว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่างถูกต้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย[45] และผู้สนับสนุนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อแสดงความเคารพและความสนับสนุนเป็นจำนวนมาก[3]
หลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ได้มีผู้ปลอมแปลงร่างพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ยกเลิกคณะผู้แทนปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเดิม และตั้งคณะผู้แทนปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชใหม่ โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์เป็นประธาน และสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นที่ปรึกษา[46] ในวันต่อมา คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครส่งพระบัญชาปลอมมาให้ดู[47] ส่วนเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชยืนยันว่าตนไม่ทราบว่าผู้ใดทำเอกสารปลอมแต่อย่างใด คณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหารได้ให้ผู้แทนแจ้งความร้องทุกข์แก่พนักงานสอบสวน เพื่อหาผู้กระทำการปลอมพระบัญชา[48]
ในช่วงเวลาเดียวกัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กว่า 30 คน นำโดยนายไพศาล พืชมงคล ได้เตรียมยื่นหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและตราเป็นพระราชบัญญัติ โดยเสนอให้ นับอาวุโสของสมเด็จและพระราชาคณะโดยพรรษา (แทนการนับอาวุโสตามสมณศักดิ์แต่เดิม) ซึ่งจะทำให้พระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นพระฝ่ายธรรมยุตินิกาย[49][50] พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2535 (ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในเวลานั้น) กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ต้องมีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุด โดยดูจากการที่พระสงฆ์รูปนั้น ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ (คือมีการจารึกชื่อและราชทินนามลงบนแผ่นทองคำแท้) ก่อนพระสงฆ์รูปอื่น ๆ[3] ในเวลาเดียวกัน ได้มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเปลี่ยนให้ พระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ โดยไม่มีข้อจำกัด ในเรื่องของความอาวุโสทางพรรษาหรือสมณศักดิ์[51]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามปกติในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 และต้นปี พ.ศ. 2550 เช่น เป็นประธานสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (ครั้งหลังสุดที่เคยมีการชำระพระไตรปิฎก คือ เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งมหามงคลดิถีที่มีพระชนมพรรษาจะบรรจบครบ 5 รอบนักษัตร ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530)[52]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีผลงานด้านการเขียนที่เป็นหนังสือดังหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี (พิมพ์ ธ.ค. พ.ศ. 2540), ทศพิธราชธรรม (พิมพ์ ธ.ค. พ.ศ. 2541), วันวิสาขบูชา (พิมพ์ พ.ศ. 2542) [53][54], การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) , โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน, และ คุณสมบัติ 5 ประการ[16]
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มรณภาพด้วยภาวะไตวายเรื้อรังและติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 08:41 นาฬิกา[55][56]
วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.15 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ไตรครอง โกศไม้สิบสอง ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 7 คืน การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงเชิญพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และของส่วนพระองค์วางที่หน้าโกศศพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร[57]
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[58]
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนชั้นเกียรติยศจากโกศไม้สิบสอง เป็นพระราชทานโกศมณฑป ตั้งประดับเกียรติยศศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[59]
วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[60]
วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)[61]
วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร[62][63]
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
และ |date=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
และ |date=
(help)
ก่อนหน้า | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เริ่มตำแหน่ง | ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) |
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) | ||
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) | ประธานสมัชชามหาคณิสสรคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย (พ.ศ. 2537 ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) |
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) | ||
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช | ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) |
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) | ||
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) | เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก (พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2556) |
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) | ||
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) | เจ้าคณะภาค 10 (พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2537) |
พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) | ||
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ถึง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556) |
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) |