สมเด็จพระรามาธิบดี (นักองค์ทอง)

พระบาทรามาธิบดีที่ 3
พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา
ครองราชย์ค.ศ.1748–1749
(ครองราชย์ครั้งแรก)
ก่อนหน้าธรรมราชาที่ 4
ถัดไปพระสัตถาที่ 2
กษัตริย์แห่งกัมพูชา
ครองราชย์ค.ศ.1756-1757
(ครองราชย์ครั้งหลัง)
ก่อนหน้าสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ
ถัดไปพระนารายน์ราชารามาธิบดี
ประสูติค.ศ.1692
นักองค์ทอง
สวรรคตค.ศ.1757 (65 พรรษา)
พระนามเต็ม
พระบาทรามาธิบดีที่ 3
ราชวงศ์ราชวงศ์วรมัน
ศาสนาพุทธ

พระบาทรามาธิบดีที่ 3 (นักองค์ทอง)[1] เป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชารัชกาลที่ 101 (ค. 1748-49, 1756-57)

พระองค์ประสูติเมื่อราว พ.ศ. 2234 พระองค์เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราช ซึ่งได้เสด็จหนีมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมพระเชษฐาใน พ.ศ. 2256 โดยพระแก้วฟ้าที่เวียดนามสนับสนุนได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา ทางกรุงศรีอยุธยาพยายามไกล่เกลี่ยให้เวนราชสมบัติคืนให้พระศรีธรรมราชาธิราชแต่ไม่สำเร็จ จนพระแก้วฟ้าสวรรคต นักพระสัตถา (หรือพระสัตถาที่ 2) โอรสพระแก้วฟ้าขึ้นครองราชย์แทน จน พ.ศ. 2280 เกิดการรบพุ่งในกรุงอุดงฤๅไชยระหว่างนักพระสัตถากับสมเด็จพระอุไทยราชา (นักองค์โสร์) สมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราชกับนักองค์ทอง ได้นำกองทัพที่ได้รับการสนับสนุนจากกรุงศรีอยุธยาเข้ามาปราบจลาจล เมื่อปราบจลาจลสำเร็จ สมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราชได้ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง นักองค์ทองได้เป็นพระมหาอุปโยราช ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราชสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2290 นักองค์ทองจึงได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดี

ต่อมา ใน พ.ศ. 2291 เกิดสงครามกับเวียดนามอีก นักองค์ทองสู้ไม่ได้ นำครอบครัวอพยพเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เวียดนามได้สถาปนานักพระสัตถากลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นออกญากลาโหม และออกญาสวรรคโลก (อูฐ) ได้รวบรวมกำลังตีทัพเวียดนามแตกไป นักพระสัตถาหนีกลับไปเวียดนามและสิ้นพระชนม์ที่นั่น หลังจากชนะศึกแล้ว ออกญาทั้งสองมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ทางกรุงศรีอยุธยาได้แต่งตั้งพระศรีไชยเชษฐ์ พระโอรสของสมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์แทน จนกระทั่งสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ์สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. 2298 นักองค์ทองจึงขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้ง

การขึ้นครองราชสมบัติครั้งที่สองของพระองค์ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากมีกลุ่มที่สนับสนุนพระโอรสของสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ์ กับกลุ่มที่สนับสนุนนักองค์ตน พระโอรสของนักองค์โสร์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของนักองค์ทอง ทั้งสองกลุ่มเกิดสู้รบกันแย่งชิงอำนาจกัน กลุ่มที่สนับสนุนเชื้อสายของพระศรีไชยเชษฐ์เป็นฝ่ายแพ้ ถูกสังหารเกือบหมดสิ้น มีเพียงนักองค์โนน พระโอรสของพระศรีไชยเชษฐ์พระองค์เดียวที่หนีไปกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อนักองค์ทองสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2300 พระชนม์ได้ 66 พรรษา นักองค์ตนจึงได้ครองราชย์ต่อมา

อ้างอิง

[แก้]
  1. ในบันทึกของเวียดนามพระองค์ถูกเรียกว่า Nặc Đôn (匿敦).
  • ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา แปลโดย พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์). นนทบุรี. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.