บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ | |
---|---|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 5 เจ้าฟ้าชั้นพิเศษ กรมหลวงนครราชสีมา | |
ผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ | |
ประสูติ | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 |
ทิวงคต | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (35 ปี) |
พระราชทานเพลิง | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 พระเมรุ ท้องสนามหลวง |
หม่อม | หม่อมแผ้ว นครราชสีมา |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง |
นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา[1] เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู เอกศก จ.ศ. 1251 ตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 มีพระนามลำลองว่า "เอียดเล็ก" ชาววังออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมเอียดเล็ก"[2] ถึงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2441 จึงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ วิสิฐวิสุทธลักษณโสภณ อุบัตรดลกาลนิยม ประถมปริวัตรรัตนโกสินทร์ศก สะตะสาธกอัษโฎดดร สถาพรมงคลสมัย นราธิปไตยบรมนารถ จุฬาลงกรณ์ราชวโรรส อดุลยยศอุกฤษฐศักดิ อุภโตปักษวิสุทธิกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร กรมขุนนครราชสีห์มา" ทรงศักดินา 40,000[3]พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินี,พระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระชนนี 7 พระองค์ คือ
พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต ประทานสรณคมน์และสิกขาบท ผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[4]
หลังจากลาผนวช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ พร้อมกับเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกและเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช เมื่อ พ.ศ. 2448 ทรงศึกษาวิชาทหารเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยมาศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก พระองค์ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล ยศพลตรี แล้วจึงไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ยศพลเรือเอก
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนเป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ วิสิฐวิสุทธลักษณโสภณ อุบัติดลกาลนิยม ประถมปริวัตรรัตนโกสินทรศก สตสาธกอัษโฎดดร สถาพรมงคลสมัย นราธิปตัยบรมนารถ จุฬาลงกรณราชวโรรส อดุลยยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภโตปักษวิสุทธิกษัตริย์ ขัติยราชกุมาร กรมหลวงนครราชสีมา" ทรงศักดินา 50,000[5] และดำรงตำแหน่งรัชทายาทแทนสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่เสด็จทิวงคตไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา มีพระกรณียกิจที่สำคัญในกองทัพเรือ คือ ทรงดำรงตำแหน่งผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์[6] โดยได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ พลเรือเอก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ศกเดียวกัน[7] และทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2467[8] ทรงเปลี่ยนระเบียบการปกครองบังคับบัญชาเรือหลวงใหม่ แต่เดิมนั้นการบังคับบัญชาในเรือหลวง แบ่งออกเป็น 2 กระบวนเรือ แต่ละกระบวนเรือต่างก็เป็นอิสระแก่กัน ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ พระองค์ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสม ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ไม่เป็นแบบฉบับเดียวกัน จึงให้รวมกระบวนเรือทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า กองทัพเรือ มีผู้บัญชาการกองทัพเรือเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือคนแรกคือ นาวาเอก พระหาญสมุท (บุญมี พันธุมนาวิน) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2466[9]และให้แบ่งแยกกองทัพเรือออกเป็น 3 กองเรือ คือ กองเรือปืน กองเรือใช้ตอร์ปิโด และกองเรือช่วยรบ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา อภิเษกสมรสกับแผ้ว สุทธิบูรณ์ ไม่มีพระโอรสและพระธิดา
พระองค์ประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบ (โรคไต) เสด็จทิวงคต ณ พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 (ปัจจุบันคือ พ.ศ. 2468) เวลา 22.10 น. สิริพระชันษาได้ 35 ปี 273 วัน วันต่อมา เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนแว่นฟ้าสามชั้น ภายใต้เบญจปฎลเศวตฉัตร ประกอบพระโกศทองน้อย พระสงฆ์ 40 รูปมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นประธานสดับปกรณ์ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารไว้ทุกข์ถวาย 100 วัน[10] และสถาปนาพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช[11] มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง[12]
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พะยะค่ะ/เพคะ |
พลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสยามและต่างประเทศ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา | |
---|---|
รับใช้ | ไทย |
แผนก/ | กองทัพบกสยาม กองทัพเรือสยาม กองเสือป่า |
ชั้นยศ | พลเรือเอก พลตรี นายกองตรี |
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช | ผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2466) |
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ | ||
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ | ผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ (1 เมษายน พ.ศ. 2467 — 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467) |
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร |