สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สถาปนา25 ธันวาคม พ.ศ. 2411
ก่อนหน้ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
ถัดไปสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระอัครมเหสี
ดำรงพระยศ6 มกราคม พ.ศ. 2395 – 9 กันยายน พ.ศ. 2404
(9 ปี 247 วัน)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
ถัดไปสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระราชสมภพ17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377
กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
สวรรคต9 กันยายน พ.ศ. 2404 (27 พรรษา)
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร ประเทศสยาม
พระราชทานเพลิง18 เมษายน พ.ศ. 2405
พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
บรรจุพระอัฐิพระวิมานทองกลาง บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมรส พ.ศ. 2396)
พระราชบุตร
ราชสกุลศิริวงศ์ (โดยพระราชสมภพ)
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
พระราชมารดาหม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา
ศาสนาเถรวาท

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระนามเดิม: หม่อมเจ้ารำเพย; 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 - 9 กันยายน พ.ศ. 2404) เป็นพระมเหสีพระองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระปัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 88 ปีมะเมีย ฉศก จ.ศ. 1196 ตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุลศิริวงศ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาทรัพย์)[1] พระชนนีคือหม่อมน้อย[2][3] สตรีชาวบางเขนที่มีเชื้อสายอำมาตย์รามัญกับไทย[4] เป็นธิดาคนหนึ่งของนายบุศย์ ชาวบางเขน[4][5] ซึ่งไม่ปรากฏวงศ์ตระกูล กับคุณแจ่ม[6] หลานสาวของอำมาตย์มอญ คือพระยารัตนจักร (หงส์ทอง สุรคุปต์)[4] (สมิงสอดเบา หัวเมืองหน้าครัวมอญ) คุณม่วงมารดาของคุณแจ่มเป็นน้องสาวต่างมารดาของเจ้าจอมมารดาป้อม ในรัชกาลที่ 1, เจ้าจอมเพ็ง ในรัชกาลที่ 2 และเจ้าจอมมารดาเอม ในรัชกาลที่ 2[7] บางแหล่งข้อมูลก็ว่า คุณแจ่มเป็นธิดาของพระยารัตนจักร[8]

พระองค์มีเจ้าพี่เจ้าน้องต่างมารดา 8 องค์[9][10][11]

เมื่อทรงพระเยาว์ ได้เข้ามาประทับอยู่กับพระองค์เจ้าละม่อม พระปิตุจฉา เพื่อฝึกหัดถวายงานพัด และพระองค์ก็สามารถพัดได้ถูกพระทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแก่หม่อมเจ้าหญิงนี้ว่า รำเพย[12] อันมีความหมายว่า "ลมเย็นที่พัดค่อย ๆ อ่อน ๆ"[13] มีเรื่องเล่ากันว่าพระภิกษุพระศรีสุทธิวงศ์ได้ไปยังประเทศศรีลังกา และขากลับได้นำเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งเข้าถวายแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดไม้นั้นมาก จึงได้พระราชทานชื่อไม้นั้นว่า รำเพย ตามพระนามของพระราชนัดดา[13]

พระมเหสี

[แก้]

เมื่อสมเด็จพระนางนาฏบรมอรรคราชเทวีในรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต จึงไม่มีพระราชนัดดาฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เป็นพระองค์เจ้าเหลืออยู่ ในวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2395 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2396) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สถาปนาหม่อมเจ้ารำเพยเป็น พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์[14][2] ซึ่งมีความหมายว่า "บุปผชาติที่เป็นที่ยินดีและเป็นที่พักพิงของมวลหมู่ภมร"[13] ต่อมาพระราชวงศ์และเสนาบดีได้ถวายให้เป็นพระมเหสี[15] ซึ่งประกาศในรัชกาลที่ 4 ออกพระนามว่าสมเด็จพระนางนาถราชเทวี[16]

สมเด็จพระนางนาถราชเทวีประชวรพระยอดเม็ดเล็ก ทรงพระกาสะเป็นพระโลหิตปนเสมหะออกมา ทรงพระประชวรอยู่หลายเดือนจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2404 สิริพระชนมายุได้ 28 พรรษา[17] หลังจากนั้นประกาศการพระราชพิธีลงสรงโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ จ.ศ. 1224 ได้ออกพระนามพระองค์ว่า พระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์[18] ต่อมาประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จ.ศ. 1227 ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์[15] และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ออกพระนามว่าสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์[19]

ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนีขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์[20] และในรัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี[2]

การประชวรและการสวรรคต

[แก้]
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงฉายพระราชทานเป็นบรรณาการแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2399 ปัจจุบันเก็บรักษาที่สถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐ

นับตั้งแต่พระราชโอรสองค์เล็กประสูติ พระองค์ก็ประชวรมากแต่ก็ตรัสว่า "ไม่เป็นอะไรมากหรอก" แม้จะทรงกาสะ (ไอ) มากก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระองค์ไว้ดังนี้

“…แต่แม่รำเพย ตั้งแต่คลอดบุตรชายภาณุรังษีสว่างวงศ์มาแล้ว ป่วยให้ไอและซูบผอมมากไป กลัวจะตั้งวัณโรคภายใน”

อีกฉบับหนึ่ง ทรงบรรยายถึงการสิ้นพระชนม์ไว้อย่างละเอียดดังนี้

“…เวลาเช้าแม่รำเพยไออาเจียนเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูกออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายสัตว์ตัวหนอนเล็กหางเป็นสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว"

“ครั้น ณ วันอาทิตย์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนสิบ เวลากลางคืน เธอว่าค่อยสบายไอห่างไป นอนหลับได้มาก ตั้งแต่สามยามไปจนถึงสามโมงเช้า ครั้น ณ วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ ตื่นขึ้นอีกเวลาสามโมงเช้า รับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นอยู่กับบุตรเล็ก ไอเป็นโลหิตออกมา แล้วก็เป็นโลหิตพลุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางจมูกทางปาก หลายถ้วยแก้วกระบอก ไม่มีขณะหายใจ พอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุดทีเดียวไม่ฟื้นเลย ได้รับประทานจัดการไว้ศพ ในโกศตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งตึกเสียใหม่ให้งามดี เพดานและบานประตู บานหน้าต่างปิดลายเงิน ฝาผนังปิดกระดาษลาย และตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นว่าจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว ศพจะเอาไว้นาน ต่อเดือนสี่เดือนห้าจึงจะได้เผา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานทำบุญต่าง ๆ มีเทศนาและบังสุกุลอยู่เนือง ๆ …ที่ให้เป็นอนุเคราะห์แก่ชายจุฬาลงกรณ์ หญิงจันทรมณฑล ชายจาตุรนต์รัศมี ชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ บุตรแม่เพยทั้งสี่ก็มีบ้าง กระหม่อมฉันคิดขอบบุญขอบคุณท่านทั้งปวงครั้งนี้นั้นหนักหนา แม่เพยตายลงครั้งนี้ เมื่อดูอาการก็ควรจะตายอยู่แล้ว ด้วยป่วยโรคนี้มาตั้งแต่เสาะแสะมาถึงห้าปี ตั้งแต่ปีมะเส็งมารักษาก็หลายหมอหลายยาแล้ว ไม่หาย จึงเห็นว่าถึงคราวที่จะสิ้นอายุตายอยู่แล้ว"

“อายุนับปี เท่ากับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์บิดานั้น เหมือนกับชายมงคลเลิศซึ่งเป็นพี่ชายว่าโดยละเอียดไป กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีอายุนับวันตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ 9,639 วัน ชายมงคลเลิศนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย 9,903 วัน มากกว่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ 284 วัน มากกว่าชายมงคลเลิศ 20 วัน”

หลังจากการเสด็จสวรรคต ได้มีการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2405 (วันแรม 4 ค่ำ เดือน 5)[21] โดยพระราชพิธีนี้ ได้มีการริเริ่มการจัดพิธีกงเต็กหลวงขึ้นครั้งแรก จึงมีการจัดพิธีกงเต็กหลวงสืบมา[22]

พระราชบุตร

[แก้]

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหมด 4 พระองค์ คือ

พระบรมฉายาลักษณ์/พระรูป พระปรมาภิไธย/พระนาม เสด็จพระราชสมภพ/ประสูติ สวรรคต/สิ้นพระชนม์ พระชนมพรรษา/พระชันษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 20 กันยายน พ.ศ. 2396 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 57 ปี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ 24 เมษายน พ.ศ. 2398 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 8 ปี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ 13 มกราคม พ.ศ. 2399 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2400) 11 เมษายน พ.ศ. 2443 43 ปี
สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช 11 มกราคม พ.ศ. 2402 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2403) 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 68 ปี
พระบรมราชินีแห่ง
ราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

พระราชอิสริยยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
  • หม่อมเจ้ารำเพย (17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 - 6 มกราคม พ.ศ. 2395)
  • พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (6 มกราคม พ.ศ. 2395 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2411)
    • ประกาศรัชกาลที่ 4 ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางนาถราชเทวี
    • ประกาศรัชกาลที่ 4 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2405) ออกพระนามว่า พระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ และ สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์
    • พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์
  • กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (25 ธันวาคม พ.ศ. 2411 - รัชกาลที่ 6)
  • สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (รัชกาลที่ 6 - ปัจจุบัน)

พระราชานุสาวรีย์

[แก้]
พระราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์

โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้มีแนวคิดว่าน่าจะมีรูปเคารพของพระองค์ไว้บูชานั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 และได้สำเร็จเป็นผลใน ปี พ.ศ. 2541 โดยอัญเชิญประดิษฐาน ณ บริเวณมุขด้านหน้า อาคารเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงความจงรักภักดี และความกตัญญู กตเวที ที่ชาวเทพศิรินทร์ทุกคนมีต่อสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติยศอันสูงสุดของชาวเทพศิรินทร์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในการนำพระนามาภิไธยของพระองค์มาเป็นชื่อของสถานศึกษา โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน ของทุก ๆ ปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ ได้เวียนมาบรรจบครบ ทางโรงเรียนเทพศิรินทร์ อันประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะครู นักเรียนเก่า นักเรียนปัจจุบัน และบุคลากรของโรงเรียน ได้จัดพิธีวางพวกมาลา และถวายราชสักการะ ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยเรียกวันนี้ว่า "วันแม่รำเพย"

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์

พระราชานุสรณ์

[แก้]
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2419 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 25 พรรษาพอดี พระองค์จึงโปรดฯ ให้สถาปนา วัดเทพศิรินทราวาส ขึ้นเพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติ และทรงอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งได้เสด็จสวรรคตตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

โรงเรียนเทพศิรินทร์
การแปรอักษรพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี โดยโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในงานจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30

โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้รับการสถาปนาจาก องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2428 ในช่วงแรกของการจัดตั้งโรงเรียนนั้น โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้อาศัยศาลาการเปรียญภายในวัดเทพศิรินทราวาสเป็นที่ทำการเรียนการสอน พ.ศ. 2438 สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ทรงดำริที่จะสร้างตึกเรียนสำหรับวัดเทพศิรินทราวาสขึ้น เพื่ออุทิศพระราชกุศล สนองพระเดชพระคุณแห่งองค์ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระชนนี และเพื่ออุทิศพระกุศลแก่ หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชายาของพระองค์ ตึกเรียนหลังแรกนี้ได้รับการออกแบบให้มีศิลปะเป็นแบบโกธิคซึ่งถือว่าเป็นอาคารศิลปะโกธิคยุคแรกและมีที่เดียวในประเทศไทยโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ และในการนี้ พระยาโชฏึกราชเศรษฐี ได้บริจาคทุนทรัพย์เพื่อสร้างตึกอาคารเรียนขึ้นด้านข้างของตึกเรียนหลังแรกอีกด้วย

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ "วังหลวง", หน้า
  2. 2.0 2.1 2.2 มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา, หน้า
  3. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, หน้า
  4. 4.0 4.1 4.2 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:บำรุงสาสน์. 2530, หน้า 41
  5. เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ ๕ “หนึ่งในผู้ดีแปดสายแรก” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
  6. "อิสลาม มอญ และจีน ในราชินีกุลรัชกาลที่ ๓ และราชินีกุลรัชกาลที่ ๕". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-31. สืบค้นเมื่อ 2012-06-27.
  7. "MonSudies.com - พระยารัตนจักร (หงส์ทอง)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-14. สืบค้นเมื่อ 2008-01-17.
  8. ข้อมูลโดยสังเขปหม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล - ต้นสกุลของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
  9. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, 'พระสัมพันธวงศ์เธอ' เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2421, ปีที่ 47, ประจำวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2544
  10. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สถาปนาคำนำพระนาม เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2448, ปีที่ 47, ประจำวันอังคารที่ 18 กันยายน 2544
  11. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เล่าเรื่องมอญ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2486, ปีที่ 48, ประจำวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545
  12. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, หน้า 83
  13. 13.0 13.1 13.2 "สมาคมศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ - สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-03. สืบค้นเมื่อ 2012-06-27.
  14. จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1, หน้า 113-115
  15. 15.0 15.1 ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๗ : ๒๕๘ ประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
  16. ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิรณกะ ส่วนที่ ๒ : ๓๒๖ ประกาศชำระเลขในสมเด็จพระนางนาถราชเทวี สมเด็จพระเทพศิรินทร์
  17. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๙๕. สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์สิ้นพระชนม์
  18. ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๖ : ๒๑๒ ประกาศการพระราชพิธีลงสรงโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ
  19. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๓๑. สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ประสูติเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
  20. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕:ตอนที่-๘
  21. ราชอาณาจักรสยาม[ลิงก์เสีย]
  22. ตะเกียงคู่. สายหยุดพุดจีบจีน. กรุงเทพฯ:เยลโล่การพิมพ์, 2534. หน้า 41-47
บรรณานุกรม
ก่อนหน้า สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ถัดไป
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรสยาม
(พ.ศ. 2395 - 9 กันยายน พ.ศ. 2404)
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง