สวนเบญจกิติ

สวนเบญจกิติ
แผนที่
ประเภทสวนสาธารณะระดับย่าน
ที่ตั้งถนนรัชดาภิเษก
พื้นที่300 ไร่
เปิดตัว9 ธันวาคม พ.ศ. 2547
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
สถานะ05.00 - 21.00 น. ทุกวัน
ขนส่งมวลชน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
บึงยาสูบ ทะเลสาบกลางสวนเบญจกิตติ

สวนเบญจกิติ (อังกฤษ: Benchakitti Park) เป็นสวนสาธารณะระดับย่านเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ข้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก ช่วงระหว่างถนนพระรามที่ 4 กับถนนสุขุมวิท ในพื้นที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

สวนเบญจกิติ เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ "บึงยาสูบ" ขนาด 200x800 เมตร ที่เกิดจากการขุดดินถมที่ บริเวณอาคารโรงงานยาสูบ โครงการสวนสาธารณะนี้เป็นส่วนของโครงการพัฒนาพื้นที่ทดแทนโรงงานยาสูบระยะที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ให้ย้ายโรงงานยาสูบออกไปนอกกรุงเทพมหานคร

ชื่อสวนเบญจกิติได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2547

เมื่อวันที่ 1-9 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สวนเบญจกิตติได้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงละครเวทีประกอบเพลง และเทคนิคตระการตาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง "พระมหาชนก เดอะฟีโนมีนอล ไลฟ์โชว์" โดยเวทีแสดงอยู่กลางบึงความยาวกว่า 100 เมตร[1]

ต่อมาโรงงานยาสูบได้มอบพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 61 ไร่ เพื่อทำเป็น "สวนป่าเบญจกิติ" สำหรับใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น แคนา, เสลา และกระโดน ในลักษณะของสวนป่าที่มีความร่มรื่น แต่โปร่งแสงสว่างส่องถึง ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ในปี พ.ศ. 2559 โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565[2] ซึ่งนับว่าสวนป่าเบญจกิติเป็นสวนสาธารณะที่เป็นสวนป่าแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร

อ้างอิง

[แก้]
  1. "1-9 ธ.ค.นี้ ชมฟรี!!! "พระมหาชนกฯไลฟ์ โชว์" ละครเพลงกลางน้ำสุดอลังการ". ผู้จัดการออนไลน์. 30 November 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-09. สืบค้นเมื่อ 2 December 2014.
  2. matichon (2022-08-03). "ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติระยะ 2-3 เมืองแห่งความสุข". มติชนออนไลน์.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°43′44″N 100°33′33″E / 13.729005°N 100.559084°E / 13.729005; 100.559084