มหา สิลา วีระวงส์ | |
---|---|
ສິລາ ວີຣະວົງສ໌ | |
เกิด | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2448 บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 (81 ปี) บ้านนาคำท่ง เมืองศรีโคตรบอง นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว |
สุสาน | วัดโสกป่าหลวง เมืองศรีสัตตนาค นครหลวงเวียงจันทน์ |
สัญชาติ |
|
ชื่ออื่น | สิลา จันทะนาม |
การศึกษา | ป.4, น.ธ.เอก, ป.ธ.5 |
อาชีพ |
|
ผลงานเด่น |
|
บุตร | 17 คน |
บิดามารดา |
|
ลายมือชื่อ | |
มหาสิลา วีระวงส์ (ลาว: ມະຫາສິລາ ວີຣະວົງສ໌) เป็นนักวิชาการทางด้านวรรณคดี นักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชาวลาว เขาเป็นผู้ที่ริเริ่มในการค้นคว้าประวัติศาสตร์ลาวในยุคร่วมสมัย และเป็นผู้ที่ค้นพบต้นฉบับใบลานมหากาพย์ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง
ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2470 มหาสิลาได้รับทุนการศึกษาจากวิทยาลัยพุทธศาสนาในนครหลวงเวียงจันทน์และพุทธบัณฑิตสภา โดยเป็นผู้ที่คิดค้นตัวอักษรเพิ่มเติมให้กับชุดตัวอักษรลาวไว้สำหรับเขียนคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ซึ่งช่วยให้มีตัวอักษรครบในแต่ละวรรค[1] และพุทธบัณฑิตสภาก็ได้ตีพิมพ์หนังสือภาษาลาวที่ใช้รูปแบบอักขรวิธีดังกล่าวแต่ก็ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร จนกระทั่งระบบการเขียนดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2518 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 ถึงจะได้มีการบรรจุตัวอักษรที่ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วลงไปในรหัสยูนิโคด 12[2] นอกจากนี้มหาสิลายังเป็นผู้ที่มีส่วนรวมในการออกแบบธงของรัฐบาลลาวอิสระในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นธงชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน
มหาสิลา วีระวงส์ เดิมมีชื่อว่า สิลา จันทะนาม เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2448 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง เวลา 12.30 น. ที่บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย) มีบิดาชื่อนายเสน จันทะนาม และมารดาชื่อนางดา จันทะนาม ซึ่งเป็นครอบครัวชาวนา โดยเป็นบุตรคนที่ 4 ของครอบครัวจากจำนวนทั้งหมด 9 คน ตระกูลของมหาสิลาสืบเชื้อสายมาจากพญาเมืองปากที่มีศักดิ์เป็นปู่ทวด โดยพญาเมืองปากก็เป็นต้นตระกูลที่มีพื้นเพมาจากเมืองจำปาศักดิ์
มหาสิลาเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านกับตาเมื่ออายุได้ 8 ปี โดยเริ่มจากการฝึกเขียน-อ่านอักษรไทน้อยหรืออักษรลาวเดิม หลังจากนั้นจึงได้เริ่มอ่านหนังสือกาพย์-กลอน ต่อมาก็ไปเป็นเด็กวัดและบวชเณรตามลำดับ ทำให้ได้เรียนและศึกษาอักษรไทย อักษรขอม และอักษรธรรมเพิ่มเติม แต่บวชได้เพียงไม่นานก็ต้องสึกเนื่องจากต้องไปดูแลแม่ที่เจ็บป่วย
จนกระทั่งเข้าปี พ.ศ.2460 เมื่ออายุได้ราว 12 ปี เมื่อรัฐบาลสยามได้ตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น และบังคับให้เด็กต้องเข้าเรียน ส่งผลให้มหาสิลาต้องเข้าเรียนตามระบบการศึกษาจากส่วนกลาง โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านห้างหว้า ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหนองหมื่นถ่านไป 12 กิโลเมตร (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหัวช้าง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ก่อนที่จะบวชเณรอีกครั้ง โดยย้ายไปเรียนระบบสามัญในเวลากลางวันที่โรงเรียนบ้านทุ่งหมื่น (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหนองทัพไทย อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านหนองหมื่นถ่านมากกว่าโรงเรียนเดิม สลับกับการศึกษาธรรมะในเวลากลางคืน ก่อนจะย้ายไปเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และหลักสูตรนักธรรมตรีที่ในอำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากพระผู้ใหญ่ว่าหากเรียนทางสายปริยัติธรรมจะสามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่าสายสามัญ หากสอบได้หลักสูตรภาษาบาลีชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยคแล้ว จะสามารถศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายและสอบเป็นผู้พิพากษาได้ มหาสิลาจึงมุ่งศึกษาในทางธรรมและเดินทางไปศึกษาต่อที่อุบลราชธานี ก่อนที่จะเข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ที่สำนักเรียนวัดปทุมวนาราม เข้าเรียนนักธรรมชั้นเอกและสอบได้อันดับ 1 ของรุ่น จากการสอบทั่วกรุงเทพในปี พ.ศ. 2468 และก็สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคได้เป็นผลสำเร็จตามความปรารถนาในปีต่อมา และมีสิทธิในการใช้คำว่า มหา เป็นคำนำหน้าชื่อ (มาจากสมณศักดิ์ พระมหา ใช้สำหรับนำหน้าชื่อพระภิกษุที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป) ภายหลังในปี พ.ศ. 2471 ก็สามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรมถึงชั้น 5 ประโยค
แต่เนื่องจากทางโรงเรียนกฎหมายมักเปลี่ยนระเบียบการรับนักศึกษาอยู่บ่อยครั้ง จากที่กำหนดคุณสมบัติให้ต้องจบชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค ก็เปลี่ยนเป็นต้องชั้นเปรียญธรรม 6 ประโยค และมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติให้ต้องมีวุฒิชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีข้าราชการบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาให้การรับรองด้วย มหาสิลาจึงเกิดความท้อถอยและละทิ้งความตั้งใจที่จะเป็นผู้พิพากษาในรัฐบาลสยามตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่เดิม โดยระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองที่มหาสิลาได้อ่านงานประวัติศาสตร์ความบาดหมางระหว่างสยามส่วนกลางกับล้านช้างเวียงจันทน์ (กบฏเจ้าอนุวงศ์) ทำให้มหาสิลาเกิดแนวคิดอยาก “กู้ชาติ” ขึ้นมา แต่ความรุ่มร้อนก็ค่อย ๆ บรรเทาลง เมื่อมีพระผู้ใหญ่ในอีสานที่มหาสิลาเคารพนับถือ อธิบายให้เห็นว่าตัวท่านเองก็เคยคิดเช่นนั้น แต่มัน “เป็นไปไม่ได้” ทำให้มหาสิลาในขณะนั้นจึงต้องเก็บงำความคิดเรื่องกู้ชาติของตนเอาไว้[3]
มหาสิลาถึงแก่กรรมในวันที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 สิริรวมอายุได้ 82 ปี นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแวดวงวิชาการลาว สีซะนะ สีสานประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์สังคมแห่งชาติลาว ได้ระบุเอาไว้ว่า: "ตลอดชีวิตของท่านมหาสิลา วีระวงส์ ได้อุทิศตนให้แก่การค้นคว้าภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และยังเป็นห่วงเป็นใยจนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ด้วยอยากให้วรรณคดีลาวสมัยโบราณได้รับการพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อมวลชนอย่างทั่วถึง บรรดานักศึกษา นักวิชาการทั้งลาวและต่างประเทศ ต่างก็ถือเอาท่านเป็นบ่อนอิง เพื่อถามเอาข้อมูล หลาย ๆ คนยกย่องและนับถือท่านเป็นอาจารย์ เป็นผู้ทรงคุณอุทิศ เป็นนักปราชญ์ผู้หนึ่งของลาว"
มหาสิลา วีระวงส์ สมรสครั้งแรกกับนางแก้วตา ชาวบ้านอูบมุง เมืองศรีโคตรบอง นครหลวงเวียงจันทน์ มีบุตร-ธิดาร่วมกัน 3 คน คือ
ต่อมาได้หย่าร้างกับนางแก้วตา และสมรสครั้งที่ 2 กับนางมาลี (หรือ มารี) แม่ม่ายชาวลาวลูกครึ่งฝรั่งเศส ชาวบ้านหนองปลาไน (บ้านอูบมุง) เมืองศรีโคตรบอง นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2482 มีบุตร-ธิดาร่วมกัน 14 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 7 คน บุตร-ธิดาคนสำคัญซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงได้แก่
นอกจากนี้มหาสิลายังมีลูกติดจากนางมาลี 1 คน ชื่อ ร้อยโทสมคิด วีระวงส์ (เสียชีวิตในการรบเมื่อ พ.ศ. 2505 ขณะอายุได้ 26 ปี)[4]