สืบ นาคะเสถียร

สืบ นาคะเสถียร
ประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งของสืบ นาคะเสถียร ที่อุทยานการเรียนรู้ "ณ สัทธา อุทยานไทย" จังหวัดราชบุรี
เกิดสืบยศ นาคะเสถียร
31 ธันวาคม พ.ศ. 2492
อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศไทย
เสียชีวิต1 กันยายน พ.ศ. 2533 (40 ปี)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตอัตวินิบาตกรรมด้วยอาวุธปืน
อนุสรณ์สถานอนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นแดง
การศึกษาโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยลอนดอน
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
อาชีพนักอนุรักษ์ นักวิชาการทรัพยากรธรรมชาติ
มีชื่อเสียงจากการประท้วงต่อรัฐในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการฆ่าตัวตาย
คู่สมรสนิสา นาคะเสถียร
บุตรชินรัตน์ นาคะเสถียร
บิดามารดา
  • สลับ นาคะเสถียร (บิดา)
  • บุญเยี่ยม นาคะเสถียร (มารดา)

สืบ นาคะเสถียร (31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 – 1 กันยายน พ.ศ. 2533) เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจากการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ประวัติ

[แก้]

สืบมีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" มีชื่อเล่นว่า "แดง" เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กับนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน ตนเองเป็นคนโต ได้แก่ กอบกิจ นาคะเสถียร เป็นน้องชายคนกลาง และกัลยา รักษาสิริกุล เป็นน้องสาวคนสุดท้อง สืบ สมรสกับนิสา นาคะเสถียร มีบุตรสาวหนึ่งคน คือ ชินรัตน์ นาคะเสถียร

สืบ มีบุคลิกเอกลักษณ์อุดมการณ์คล้ายคลึงเหมือน จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียน[1]

การศึกษาและการงาน

[แก้]

สืบศึกษาระดับประถมตอนต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี มีผลการเรียนดีมาตลอด เมื่อว่างเรียนก็ช่วยเหลือครอบครัวทำไร่ไถนา และยกเสริมแนวคันนาเองเพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้นจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2514 หลังจากสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่การเคหะแห่งชาติ จนถึงปี พ.ศ. 2517 และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

เมื่อสำเร็จปริญญาโท สืบเข้ารับราชการเป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ขณะนั้นกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งก่อตั้งขึ้น และสืบเลือกหน่วยงานนี้เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า งานแรกของสืบคือ การประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ณ ที่นั้น สืบได้ทราบว่ามีผู้ทรงอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าเป็นจำนวนมาก

ต่อมาปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล จึงศึกษาระดับปริญญาโทอีกที่สาขาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2524 แล้วกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าหลายรุ่น ครั้นปี พ.ศ. 2526 สืบขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว

ในระยะนี้ สืบได้ทำงานทางวิชาการอันเป็นที่รักของเขาอย่างเต็มที่ จึงผูกพันกับสัตว์และป่า งานวิจัยเริ่มแรกว่าด้วยจำนวน ชนิด พฤติกรรม และการทำรังของนก สืบยังริเริ่มใช้เครื่องมือสมัยใหม่บันทึกการวิจัย เช่น กล้องวีดิทัศน์ กล้องถ่ายภาพ และการสเก็ตซ์ภาพ ข้อมูลของสืบกลายเป็นผลงานวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในภายหลัง เช่น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก กับทั้งวีดิทัศน์ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าและการทำลายป่าในประเทศไทย ที่สืบผลิตขึ้นเองทั้งสิ้น

การทำงานที่แก่งเชี่ยวหลาน

[แก้]

สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่มากกว่าหนึ่งแสนไร่ แต่มีงบประมาณเริ่มต้นเพียงแปดแสนบาท ไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่า แต่สืบมิได้ย่อท้อคงพยายามทำงานและศึกษาข้อมูลทั้งทางหนังสือและพรานท้องถิ่น

ในปี พ.ศ. 2528 สืบได้ติดตามนักวิจัยชาวต่างชาติซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก พร้อมด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปสำรวจกวางผา สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้นชาวบ้านจุดไฟล่าสัตว์จนเกิดไฟป่า คณะของสืบหนีไฟป่าเป็นโกลาหล และคำนึง ณ สงขลา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตกหน้าผาถึงแก่ความตาย

ในปี พ.ศ. 2529 สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งเพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม ช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนมากที่เหลือถึงแก่ความตาย สืบจึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ ในภายหลังจึงได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เช่น คัดค้านรัฐบาลในการที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี สืบยังได้รายงานผลการอพยพสัตว์ต่อสาธารณชนเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักภัยป่า โดยยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่ชดเชยภายหลังมิได้ แต่ความพยายามของสืบนั้นไร้ผล จนกระทั่งนักอนุรักษ์ได้รวมกลุ่มสนับสนุนสืบ โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนจึงระงับไป

ระหว่างนั้น สืบได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานีอีกตำแหน่ง และปี พ.ศ. 2530 ได้ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาสด้ว

การทำงานที่ห้วยขาแข้ง

[แก้]
อนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2531 สืบกลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า และพยายามเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นแหล่งมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร

ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ[2] และได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย ครั้นปี พ.ศ. 2533 สืบจึงตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลาน

ความพยายามของสืบนั้นประสบผลสำเร็จน้อย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ ชาวบ้านท้องถิ่นก็สนใจปากท้องมากกว่า จึงรับจ้างผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่าเสมอมา สืบเสนอให้สร้างแนวป่ากันชนเพื่อกันชาวบ้านออกนอกแนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ในแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน

ผลงานวิชาการของสืบ

[แก้]

สืบได้ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะด้านสำรวจนก กวางผา เลียงผา และนิเวศวิทยาที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งยังได้เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

ผลงานวิจัยของเขา เป็นต้นว่า

  1. การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2524
  2. รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2526
  3. รายงานผลการวิจัย วางแผนขั้นรายละเอียดสำหรับ ฟื้นฟูสภาพป่าไม้และการจัดการป่าไม้บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำคลองแสง โครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2527
  4. การศึกษานิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ในบริเวณโครงการ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพาน ตามพระราชดำริ พ.ศ. 2528
  5. นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง พ.ศ. 2529
  6. รายงานผลการจับเนื้อทราย ที่เกาะกระดาด พ.ศ. 2529
  7. เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ พ.ศ. 2529
  8. สำรวจถิ่นที่อยู่อาศัยของเก้งหม้อ
  9. นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี และ จังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และ จังหวัดตาก กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 โดย สืบ นาคะเสถียร, นริศ ภูมิภาคพันธุ์, ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ
  10. การสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับ สัตว์ป่าในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
  11. การอพยพสัตว์ป่า ในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา สัมมนาสัตว์ป่า พ.ศ. 2532
  12. วิเคราะห์ความเหมาะสม จากรายงานและแผนการ แก้ไขผลกระทบด้านทรัพยากร ป่าไม้และสัตว์ป่า
  13. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แควใหญ่ตอนบน
  14. รายงานการประเมินผลงาน ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฏร์ธานี

การเสียชีวิต

[แก้]
จดหมายลาตายของสืบ นาคะเสถียร
บ้านพักของสืบในห้วยขาแข้งสถานที่ที่เขาเลือกที่จบชีวิตลง

ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันหลาย ๆ ด้าน และเพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้เตรียมตัวพร้อมและจบชีวิตลงอย่างสงบ

สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว

เกียรติยศ

[แก้]

วันสำคัญ

[แก้]

มีการจัดวันที่สืบเสียชีวิต วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสืบนาคะเสถียร ขึ้น

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จากบรรณาธิการ จิตร กับ สืบ By One Ton on สืบค้นเมื่อ วันจันทร์, ตุลาคม 5, 2009
  2. "20 เรื่องราวของ 'สืบ นาคะเสถียร'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-05. สืบค้นเมื่อ 2021-05-16.
  3. "แสงไฟที่ไม่เคยดับ สืบ นาคะเสถียร : นักแสวงหา (23 ส.ค. พ.ศ. 2556) จากไทยพีบีเอส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-25. สืบค้นเมื่อ 2013-08-25.
  4. "ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง : คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-02-15.
  5. WWF พบปลาค้างคาวพันธุ์ใหม่ในป่าต้นน้ำภาคเหนือ จากประชาไท

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]