ส้มแขก (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia atroviridis ) ชื่ออื่นคือ ส้มควาย (ตรัง), อาแซกะลูโก (ยะลา), ส้มมะอ้น, ส้มมะวน, มะขามแขก (ภาคใต้), ชะมวงช้าง เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Guttiferae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับมังคุด ชะมวง มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งในประเทศไทยนิยมปลูกมากในทางภาคใต้
แถวตลาดนัด เขาจะขายกันแบบฝานเป็นชิ้นบาง ๆ เป็นส้มแขกตากแห้งโดยนำไปตากแห้งจนมีสีหมองดำ ๆ หมองคล้ำ ซึ่งสามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้นานหลายเดือน โดยวิธีการนำไปใช้คือนำไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วใส่ลงไปในหม้อ เพียงไม่กี่กลีบก็จะช่วยเพิ่มรสเปรี้ยว พร้อมให้กลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น หรือจะนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน
ใบส้มแขก
เนื้อส่วนที่แข็ง มีกรดซิตริก กรดทาทาร์ริก กรดมาลิก และ กรดแอสคอร์บิก กรดไฮดรอกซีซิตริก และ ฟลาโวนอยด์ [ 1] นำมาปรุงรสเปรี้ยวในอาหารเช่น แกงส้ม หรือทำเครื่องดื่มลดความอ้วน ผลส้มแขกสุกเป็นสีส้มเหลือง ส้มแขกที่หั่นเป็นชิ้นแล้วตากแดดให้แห้ง ในภาษามลายูเรียก อาซัมเกอปิง มีขายทางการค้า ใช้แต่งรสเปรี้ยวในสลัด แกง และต้มต่างๆ ผลดิบเมื่อโตเต็มที่นำมาตากแห้งนำไปต้มเคี่ยวในน้ำเชื่อม รับประทานเป็นของหวาน ผลแห้งเป็นตัวช่วยให้สีย้อมติดแน่นทนทาน น้ำต้มเคี่ยวใบและรากใช้แก้อาการปวดหู[ 2] ใช้แปรรูปได้หลายอย่าง เช่น น้ำส้มแขก ส้มแขกกวน ส้มแขกหยี แยมส้มแขก ส้มแขกแช่อิ่ม รสเปรี้ยวของส้มแขกเกิดจากกรดหลายชนิดเช่นกรดซิตริก กรดทาร์ทาริก กรดมาลิก กรดแอสคอร์บิกและกรดไฮดรอกซีซิตริก[ 3]
ต้นส้มแขกเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มกว้างสูงประมาณ 5-14 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะของเปลือกต้นหากเป็นต้นอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อลำต้นเป็นแผลจะมียางสีเหลืองออกมา
ใบส้มแขกเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร โดยใบแห้งจะมีสีน้ำตาล
ดอกส้มแขกออกตามปลายยอด ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียว มีเกสรเพศผู้เรียงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวแทงออกจากปลายกิ่ง มีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก
ผลส้มแขกลักษณะของผลส้มแขกเป็นผลเดี่ยว ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ มีขนาดใกล้เคียงกับผลกระท้อน เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล มีประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ เนื้อแข็งมีรสเปรี้ยวจัด ในผลมีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ด
ผลส้มแขกมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา เพื่อให้มีรสเปรี้ยว หรือใช้ทำน้ำแกงขนมจีน ทำเป็นเครื่องดื่มลดความอ้วน โดยการรับประทานส้มแขกในระยะแรกทำให้รู้สึกหิวบ่อยมากขึ้น เนื่องจากไปเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร โดยร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวไปเอง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ หากรับประทานไปนาน ๆ ก็จะช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกไม่หิวได้ และเมื่อหยุดรับประทานส้มแขก ร่างกายจึงไม่กลับมาอ้วน และที่สำคัญก็คือไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาวิทยา[ใคร? ] มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประเมินผลและพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนของหน้าที่ของตับและไต รวมไปถึงระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน[ต้องการอ้างอิง ]
ส้มแขกมีสารสำคัญที่มีชื่อว่า Hydroxycitric Acid หรือเรียกสั้น ๆ ว่า HCA ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น กรดซิตริก (Citric Acid ), กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid), กรดออกตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และกรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid)
ในปัจจุบันส้มแขกได้มีการนำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 300-600 มิลลิกรัม และจะมีเนื้อส้มแขกประมาณ 250-500 มิลลิกรัม และมีปริมาณ HCA ประมาณ 60-70% โดยจะแตกต่างกับส้มแขกบดแห้งบรรจุแคปซูลธรรมดาที่ไม่ได้ผ่านการสกัด ซึ่งจะมีปริมาณของ HCA เพียง 30% เท่านั้น
ดอกช่วยแก้อาการไอ
ดอกใช้เป็นยาขับเสมหะ
ผลแก่นำมาใช้ทำเป็นชาลดความดันได้ หรือจะใช้ดอกก็ได้
ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ดอกตัวผู้แห้งต้มกับน้ำ (อัตราส่วน 7 ดอก : น้ำ 1 ลิตร) เติมน้ำครั้งที่สองใส่ดอก 3 ดอกต่อน้ำ 1 ลิตร โดยไม่ต้องทิ้งดอกที่ต้มในครั้งแรก แล้วนำมาดื่ม
ใช้เป็นยาสมุนไพรช่วยฟอกโลหิต
รากใช้ทำเป็นยาแก้กระษัย ด้วยการนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำผสมกับรากมังคุดและรากจูบู
ตำรายาพื้นบ้านใช้ส้มแขกทำเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์
ส้มแขกมีสรรพคุณใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ
ใบสดน้ำมารับประทานช่วยแก้อาการท้องผูก
มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ
รากใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว ด้วยการนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำผสมกับรากมังคุดและรากจูบู
ผลส้มแขกมีสรรพคุณช่วยลดความอยากอาหาร ความรู้สึกหิวอาหาร
ช่วยเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร
ช่วยดักจับแป้งและไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
สารสกัดจากส้มแขกช่วยทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้นและขับไขมันออกมา
ส้มแขกลดน้ำหนักเนื่องจากผลส้มแขกมีกรดมีกรดไฮดรอกซีซิตริก (HCA) มีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนักและช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้
มีคุณสมบัติช่วยสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรต (อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล) ไม่ให้เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้ แต่จะนำไปเป็นพลังงานให้ร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย
ส้มแขกลดความอ้วนช่วยกระตุ้นให้มีการดึงเอาไขมันที่สะสมในร่างกายออกมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ไขมันที่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลงอย่างช้า ๆ ประมาณ 1 กิโลกรัมภายใน 3-4 อาทิตย์
ใบแก่นำมาทำเป็นชาได้ และจะมีกลิ่นเหม็นเขียว
ใบอ่อนส้มแขกใช้รองนึ่งปลา
ผลสดใช้ทำแกงส้ม
ผลใช้ปรุงรสอาหารด้วยการนำมาผ่าเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอาเยื่อและเมล็ดออก นำมาตากแห้งแล้วนำมาใช้ปรุงรสอาหารให้มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มปลา ต้มเนื้อ หรือใช้ทำน้ำแกงขนมจีน เป็นต้น หรือจะใช้ใบแทนผลก็ให้รสเปรี้ยวได้เช่นกัน
ใบแก่ของส้มแขกมาผสมกับยางพารา เพื่อใช้ทำปฏิกิริยาให้น้ำยางพาราแข็งตัวเร็วขึ้น ด้วยการใช้ใบแก่ประมาณ 2 กิโลกรัมผสมกับน้ำ 10 ลิตรแล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์แล้วค่อยนำมาผสมกับยางพารา
ลำต้นส้มแขกแก่ ๆ อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นไม้แปรรูปใช้ในการก่อสร้างได้
มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย เช่น ชาส้มแขก น้ำส้มแขก ส้มแขกกวน แคปซูลส้มแขก ฯลฯ
มัณฑนา นวลเจริญ. 2552. สารานุกรมความหลากหลายทางชีวภาพตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง. กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
↑ Muensritharam, L; Tolieng, V; Chaichantipyuth, C; Petsom, A; Nhujak, T (2008). "Capillary zone electrophoresis for separation and analysis of hydroxycitric acid and hydroxycitric acid lactone: Application to herbal products of Garcinia atroviridis Griff". Journal of pharmaceutical and biomedical analysis . 46 (3): 577–82. doi :10.1016/j.jpba.2007.11.008 . PMID 18160244 .
↑ พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2: ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 241
↑ นิดดา หงส์วิวัฒน์. ส้มแขกลูกยักษ์ของบ้านคีรีวง. ครัว. ปีที่ 20 ฉบับที่ 229 กรกฎาคม 2556 หน้า 10 – 11
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ส้มแขก ที่วิกิสปีชีส์
เว็บไซต์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เว็บไซต์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)