หงฉือ

หงฉือ
ประสูติ18 มีนาคม ค.ศ. 1704(1704-03-18)
สิ้นพระชนม์20 กันยายน ค.ศ. 1727(1727-09-20) (23 ปี)
คู่อภิเษกดูในบทความ
พระราชบุตรดูในบทความ
พระนามเต็ม
อ้ายซินเจว๋หลัว หงฉือ
愛新覺羅·弘時
ราชวงศ์ชิง ราชสกุลอ้ายซินเจว๋หลัว
พระบิดาจักรพรรดิหย่งเจิ้ง
พระมารดาฉีเฟย์ (ราชวงศ์ชิง)

หงฉือ (จีน: 弘時 Hóngshí; 18 มีนาคม ค.ศ. 1704 – 20 กันยายน ค.ศ. 1727) เป็นเจ้าชายชาวแมนจูแห่งราชสกุลอ้ายซินเจว๋หลัวในราชวงศ์ชิง เป็นโอรสองค์ที่สามของจักรพรรดิยงเจิ้ง ถูกพระบิดาถอดเป็นสามัญชนใน ค.ศ. 1725 เพราะสนับสนุนเจ้าชายยฺหวิ่นซื่อ (允禩) อดีตคู่แข่งทางการเมืองของพระบิดา สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1727 เชื่อว่าด้วยการแขวนพระศอเพราะถูกพระบิดาบีบคั้น ภายหลังจักรพรรดิเฉียนหลงผู้เป็นอนุชาให้ตั้งกลับเป็นเจ้าดังเดิม

ประวัติ

[แก้]

หงฉือเกิดในสกุลแมนจูอ้ายซินเจว๋หลัว เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สามของเจ้าชายอิ้นเจิน (胤禛) กับอนุภริยาคือพระชายาฉี (齊妃) ซึ่งเป็นชาวฮั่นจากสกุลหลี่ (李)[1]

เจ้าชายอิ้นเจินได้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิยงเจิ้งใน ค.ศ. 1722 หลังจักรพรรดิคังซีพระราชบิดาสวรรคต ในรัชกาลยงเจิ้ง เจ้าชายหงฉือไม่มีบทบาทมากมายในราชสำนัก ต่างจากพระอนุชาของพระองค์คือ หงลี่ (弘曆) ซึ่งต่อมาเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิเฉียนหลง หงลี่ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ "ชินหวัง" (亲王 อ๋องชั้นเอก) ขณะที่หงฉือมิได้รับแต่งตั้งใด ๆ ทั้งสิ้น

ครั้นช่วง ค.ศ. 1722–26 หงฉือสมาคมกับเจ้าชายยฺหวิ่นซื่อผู้เป็นพระอนุชาของจักรพรรดิหย่งเจิ้ง และเป็นพระปิตุลา (อา) ของพระองค์ เจ้าชายยฺหวิ่นซื่อกับจักรพรรดิยงเจิ้งนั้นชิงดีชิงเด่นทางการเมืองกันมาแต่เดิม ใน ค.ศ. 1725 จักรพรรดิยงเจิ้งจึงถอดเจ้าชายหงฉือเป็นสามัญชน ขับออกจากสกุลอ้ายซินเจว๋หลัว และอัปเปหิจากวังต้องห้าม อย่าได้กลับมาอีก ในราชโองการนั้น จักรพรรดิยงเจิ้งระบุว่า เชิญหงฉือไป "เป็นลูกของยฺหวิ่นซื่อเสีย ถ้าต้องการ" ซึ่งนักประวัติศาสตร์ตีความว่า แสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างหงฉือกับยฺหวิ่นซื่อ อันเป็นเหตุให้จักรพรรดิยงเจิ้งไม่สบพระทัย ในไม่ช้า ยฺหวิ่นซื่อก็ประสบชะตากรรมเดียวกันคือถอดเป็นสามัญชน[1]

แม้หงฉือถูกห้ามเข้าวังอีก แต่ก็มิได้ถูกจองจำอย่างยฺหวิ่นซื่อผู้เป็นอา ถึงกระนั้น ก็มีพระบัญชาให้อยู่ในความควบคุมของยฺหวิ่นเถา (允祹) อาอีกคนของเขา[1]

แต่แม้จะต้องโทษทัณฑ์เช่นนั้น หงฉือมิได้สำนึก จักรพรรดิหย่งเจิ้งยิ่งพิโรธ จึงให้ลบชื่อหงฉือออกจากราชพงศาวลี (玉蝶) ถือเป็นการตัดความสัมพันธ์พ่อลูก[1]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1727 จักรพรรดิหย่งเจิ้งบีบให้หงฉือแขวนคอตาย เวลานั้น หงฉืออายุได้ 23 ปี แต่ไม่มีเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับไหนระบุเหตุที่จักรพรรดิบังคับเช่นนั้น[1]

จักรพรรดิหย่งเจิ้งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1735 หงลี่ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อเป็นจักรพรรดิเฉียนหลง เจ้าชายอิ้นลู่ (胤禄) ถวายฎีกาขอให้คืนสถานะเดิมแก่หงฉือ จักรพรรดิเฉียนหลงตรัสว่า หงฉือพระเชษฐายัง "เยาว์และเขลา" นัก แต่แม้จะสิ้นชีพมานานแล้ว ก็ยังทรงรำลึกถึงด้วยความรักฉันพี่น้องอยู่มิได้ขาด จึงอนุมัติตามนั้น[1]

การที่ฎีกาของอิ้นลู่ก็ดี หรือโองการคืนยศของจักรพรรดิเฉียนหลงก็ดี มิได้เอ่ยว่า หงฉือเคยกระทำความผิดอย่างใด ยิ่งทำให้นักประวัติศาสตร์ฉงนสนเท่ห์เกี่ยวกับการลงโทษหงฉือของจักรพรรดิเฉียนหลง[1]

พงศาวลี

[แก้]
ภริยา
  • นางต้งเอ้อ (棟鄂氏) ธิดาของชายชื่อ สีเอ่อร์ต๋า (席爾達)
  • นางจง (鐘氏) ธิดาของ จง ต๋า (鐘達)
  • นางเถียน (田氏)
บุตร
  • หยงเชิน (永珅) บุตรคนเดียวของหงฉือ สิ้นชีวิตในวัย 3 ปี

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "雍正杀子疑案". Sina. November 27, 2009.