หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง | |
---|---|
Household Division | |
ตราของหน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง | |
ประเทศ | สหราชอาณาจักร |
เหล่า | กองทัพบกสหราชอาณาจักร |
รูปแบบ | กองประจำการณ์ |
บทบาท | พลตรีผู้บังคับบัญชาหน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง และเจ้าหน้าที่ทั่วไปผู้บังคับบัญชาเขตลอนดอน |
ขึ้นกับ | เขตลอนดอน |
คำขวัญ | ละติน: Septem juncta in uno, แปลตรงตัว 'เจ็ดร่วมกันเป็นหนึ่ง' |
เว็บไซต์ | www |
ผู้บังคับบัญชา | |
ผู้บังคับการกรมทหารหน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง | สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร |
พลตรีผู้บังคับบัญชาหน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง | พลตรี เจมส์ โบว์เดอร์ OBE |
รองผู้บัญชาการ, หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง | พันเอก กาย สโตน LVO |
พันตรีกองพลน้อย, หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง | พันโท เจมส์ ชอว์ |
จ่าสิบเอกกองทหารรักษาการณ์ | สิบเอกพิเศษ, แอนดรูว์ 'เวิร์น' สโตกส์ OBE , MVO |
หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง[1] (อังกฤษ: Household Division) เป็นส่วนหนึ่งของเขตลอนดอนกองทัพบกสหราชอาณาจักร ประกอบด้วยกรมทหารรักษาพระองค์เดินเท้า 5 กรม และกรมทหารม้ารักษาพระองค์ 2 กรม หน่วยนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่สาธารณะและรัฐพิธีในลอนดอนและวินด์เซอร์ หน้าที่ดังกล่าวได้แก่ การเปิดรัฐสภา สวนสนามวันเฉลิมพระชนมพรรษา และพิธีเปลี่ยนกองทหารรักษาพระองค์
ในสหราชอาณาจักร หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวัง ประกอบไปด้วย 7 กรมทหาร ซึ่งเป็นที่มาของคำขวัญของหน่วยบัญชาการว่า Septem juncta in uno (ภาษาลาติน แปลว่า "เจ็ดร่วมกันเป็นหนึ่ง") หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังประกอบไปด้วยกรมทหารม้ารักษาพระองค์ ซึ่งรวมไปถึงกองทหารรักษาพระองค์และเดอะบลูแอนด์รอยัล ตลอดจนกองทหารรักษาการณ์ 5 กรม ได้แก่ เกรนาเดียการ์ด, โคลด์สตรีมการ์ด, สกอตส์การ์ด, ไอริชการ์ด และเวลช์การ์ด หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังยังหมายรวมถึงกองร้อยเพิ่มเติมดังต่อไปนี้: กองร้อยไนเมแกน – เกรนาเดียการ์ด, กองร้อยที่ 7 – โคลด์สตรีมการ์ด, กองร้อยเอฟ – สกอตส์การ์ด, กองร้อยที่ 9 และ 12 – ไอริชการ์ด[2] หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังรับคำสั่งจากพลตรีผู้บังคับบัญชาหน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเขตลอนดอน[3]
หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังเคยรับผิดชอบพิธีเปลี่ยนกองรักษาการณ์ให้กับสถาบันหลายแห่งในลอนดอน ในปี พ.ศ. 2362 หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังได้ดูแลพิธีเปลี่ยนเวรยามสิบแห่งสำหรับป้อมรักษาการณ์ 89 แห่ง ซึ่งรวมไปถึง พิพิธภัณฑ์บริติช, พระราชวังเค็นซิงตัน, สถานพยาบาลทหาร, เรือนจำซาวอย และโรงพยาบาลยอร์ค นอกจากนี้หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังยังจัดให้มีการรักษาการณ์ช่วงกลางคืนให้กับธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ, คอเวินท์การ์เดินโอเปราเฮาส์ และเธียเตอร์รอยัล, ดรูรีเลน อย่างไรก็ตาม ภารกิจเหล่านี้ของหน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังในก่อนหน้านี้นอกเหนือจากการเป็นทหารรักษาพระองค์ได้ยุติลงในช่วงปลายคริสศตวรรษที่ 19[4] ระหว่างปี พ.ศ. 2493 ถึง 2511 หน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังเป็นที่รู้จักในชื่อว่ากองพลน้อยประจำสำนักพระราชวัง (Household Brigade) [5]
หน่วยทหารอื่น ๆ ในเครือจักรภพแห่งประชาชาติทำหน้าที่คล้ายคลึงกันกับหน่วยบัญชาการประจำสำนักพระราชวังของกองทัพบกสหราชอาณาจักร
ในปี พ.ศ. 2543 กองกำลังป้องกันตนเองออสเตรเลียได้จัดตั้งหน่วยพิทักษ์สหพันธ์ออสเตรเลียขึ้นมา โดยเป็นหน่วยพิธีการหน่วยแรกในประวัติศาสตร์ของกองกำลังออสเตรเลียเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งสหพันธ์ออสเตรเลีย หน่วยนี้ทำหน้าที่เป็นหน่วยพิธีการในนามของรัฐบาลออสเตรเลีย เช่น การจัดแถวกองเกียรติยศ และราชองค์รักษ์สำหรับราชวงศ์[6]
ในแคนาดา มีกรมทหารรักษาพระองค์เดินเท้า 2 กรม ได้แก่ ทหารรักษาพระองค์เดินเท้าของผู้สำเร็จราชการ (Governor General's Foot Guards) และเกรนาเดียการ์ดของแคดาดา (Canadian Grenadier Guards) มีหน้าที่รับผิดชอบในการสับเปลี่ยนเวรยามของกองรักษาการณ์ ณ ทำเนียบผู้สำเร็จราชการฯ (Rideau Hall) ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการในออตตาวา และในพิธีฉลองธงชัยเฉลิมพล ณ พาเลียเมนท์ ฮิลล์ (Parliament Hill) ในออตตาวา[7]
องครักษ์ของประธานาธิบดีเป็นระบบที่สืบทอดมาจากองครักษ์ของผู้สำเร็จราชการ (Governor General's Bodyguard) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2316 ในฐานะของกองกำลังผู้ว่าการแห่งโมกุล (Governor's Troop of Moghuls) โดยมีบทบาทหลักคือการคุ้มกันและปกป้องประธานาธิบดีอินเดีย[8]
กองพลน้อยยานเกราะหลวง กองพันทหารม้าพิธีการของกองทัพบกมาเลเซียมีหน้าที่คุ้มกันและปกป้องยังดีเปอร์ตวนอากงและราจาเปอร์ไมซูรีอากง (พระมหากษัตริย์และพระราชินีแห่งมาเลเซีย) และมีหน้าที่รับผิดชอบในการสับเปลี่ยนเวรยามของกองรักษาการณ์ ณ อิสตานา เนการา ซึ่งเป็นพระราชวังในกัวลาลัมเปอร์[9] กรมทหารมาเลย์ (Royal Malay Regiment) มักประกอบพิธีเปลี่ยนกองรักษาการณ์ให้กับพระบรมวงศานุวงศ์และการมาเยือนของบุคคลสำคัญ[10]