หม่อม มะนีวัน พานีวง | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2477 เวียงจันทน์ ลาวในอารักขาของฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | เมษายน พ.ศ. 2518 (41 ปี) กัมพูชาประชาธิปไตย |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ |
บุตร | พระองค์เจ้านโรดม โสเชษฐา สุชะตา สมเด็จพระอนุชนโรดม อรุณรัศมี |
บิดามารดา | พอง พานีวง สุมุนทา พานีวง |
มะนีวัน พานีวง (ลาว: ມະນີວັນ ພານີວົງ; พ.ศ. 2477–2518) เป็นบาทบริจาริกาชาวลาวในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เป็นพระชนนีของสมเด็จพระอนุชนโรดม อรุณรัศมี พระขนิษฐาต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี
หม่อมมะนีวันเกิดใน พ.ศ. 2477 ณ บ้านอินแปง (ปัจจุบันชื่อบ้านมีไซ) เมืองจันทบุรี แขวงเวียงจันทน์ (ปัจจุบันคือ นครหลวงเวียงจันทน์) เป็นธิดาคนเล็กของพอง กับสุมุนทา (นามเดิม ปุ่น) พานีวง มีพี่สองคนชื่อนางสุทัน กับนายหอม พานีวง เบื้องต้นเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนนาฏศิลป์ในเวียงจันทน์ ด้วยมีใจรักในการระบำรำฟ้อน และรับหน้าที่ในการแสดงในพิธีสำคัญต่าง ๆ มาตลอด จนต้องพระทัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และสมรสกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เมื่อ พ.ศ. 2492 โดยเป็นภรรยาลำดับที่หก หม่อมมะนีวันได้ให้ประสูติกาลพระราชธิดาสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้านโรดม โสเชษฐา สุชะตา (พ.ศ. 2496–2518) และสมเด็จพระอนุชนโรดม อรุณรัศมี (ประสูติ พ.ศ. 2498)[1]
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุทรงพระราชนิพนธ์เพลงจำนวนมากทั้งเพลงสากลและรำวง ด้วยความที่โปรดหม่อมชาวลาวนางนี้มากจึงได้พระราชนิพนธ์เพลง "บุปผาเวียงจันทน์" พระราชทานแด่หม่อมชาวลาวเวียงจันทน์ และถือเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงมากเพลงหนึ่ง[2]
ในช่วงที่กรุงพนมเปญแตก หม่อมมะนีวันลี้ภัยอยู่ภายในสถานทูตฝรั่งเศส กระทั่งวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2518 เขมรแดงมีคำสั่งให้ชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยออกจากสถานทูตฝรั่งเศส ยกเว้นสตรีที่สมรสกับชาวฝรั่งเศส มิฉะนั้นจะบุกยึดสถานทูตฝรั่งเศสทันที ด้วยเหตุนี้หม่อมมะนีวัน พร้อมด้วยคี-แตง ลิม (Khy-Taing Lim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเลือง นัล (Loeung Nal) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกขับออกจากสถานทูต[3]
หม่อมมะนีวันถูกเขมรแดงสังหารจนเสียชีวิตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518[4][5]