หวาง ยฺเหวียนจี 王元姬 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
จักรพรรดินีพันปีหลวงแห่งราชวงศ์จิ้น | |||||||||
ดำรงตำแหน่ง | 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266[a] – 20 เมษายน ค.ศ. 268 | ||||||||
ประสูติ | ค.ศ. 217[b] อำเภอถานเฉิง มณฑลชานตง | ||||||||
สวรรคต | 20 เมษายน ค.ศ. 268 (51 พรรษา)[1] นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน | ||||||||
ฝังพระศพ | เขตเหยี่ยนชือ นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน | ||||||||
คู่อภิเษก | สุมาเจียว | ||||||||
พระราชบุตร รายละเอียด |
| ||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์จิ้น | ||||||||
พระราชบิดา | อองซก | ||||||||
พระราชมารดา | หยางชื่อ (羊氏)[c] |
หวาง ยฺเหวียนจี (217 – 20 เมษายน ค.ศ. 268[d]) เป็นสตรีสูงศักดิ์และอภิชนชาวจีนในยุคสามก๊ก ภายหลังเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงแห่งราชวงศ์จิ้น หวาง ยฺเหวียนจีเป็นภรรยาของสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน หวาง ยฺเหวียนจีขึ้นเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยนซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์ผู้โค่นล้มการปกครองของวุยก๊กและก่อตั้งราชวงศ์จิ้น หวาง ยฺเหวียนจีได้รับสมัญญานามว่า "จักรพรรดินีเหวินหมิง" หลังการสิ้นพระชนม์
หวาง ยฺเหวียนจีมีชื่อเสียงในเรื่องสติปัญญา มีคุณธรรม มีคุณูปการต่อจุดกำเนิดและความมั่นคงของราชวงศ์จิ้น เคยคาดการณ์ถึงการก่อกบฏของจงโฮยในปี ค.ศ. 264
หวาง ยฺเหวียนจีเป็นชาวอำเภอถาน (郯縣 ถานเซี่ยน) เมืองตองไฮ (東海郡 ตงไห่จฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณอำเภอถานเฉิง มณฑลชานตงในปัจจุบัน บิดาของหวาง ยฺเหวียนจีคืออองซก (王肅 หวาง ซู่) ซึ่งรับราชการเป็นขุนนางของวุยก๊กและมีบรรดาศักดิ์เป็นหลานหลิงโหว (蘭陵侯)[4] หวาง ยฺเหวียนจีมีน้องชายอย่างน้อย 3 คนที่มีบันทึกชื่อไว้ ได้แก่ หวาง สฺวิน (王恂; เสียชีวิต ค.ศ. 278), หวาง เฉียน (王虔) และหวาง ข่าย (王恺)[5]
เมื่อหวาง ยฺเหวียนจีมีอายุ 8 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ก็มีความจำดีและสามารถท่องคัมภีร์ในลัทธิขงจื๊อได้อย่างคล่องแคล่ว ครั้งหนึ่งเมื่อหวาง ยฺเหวียนจีมีอายุ 9 ปี หยางชื่อ (羊氏) ผู้เป็นมารดาล้มป่วย หวาง ยฺเหวียนจีจึงอยู่ดูแลเคียงข้างมารดาตลอดเวลา หวาง ยฺเหวียนจีมีไหวพริบและจัดการงานบ้านที่บิดามารดามอบหมายได้เป็นอย่างดี อองลอง (王朗 หวาง หล่าง) ปู่ของหวาง ยฺเหวียนจีรักหวาง ยฺเหวียนจีมากและเห็นว่าหวาง ยฺเหวียนจีเป็นคนไม่ธรรมดา อองลองพูดว่า "เด็กคนนี้จะนำความรุ่งโรจน์มาสู่ตระกูลของเรา น่าเสียดายที่นางไม่ใช่เด็กผู้ชาย!" คำพูดนี้ยังถูกตีความไปว่าอองลองกำลังคร่ำครวญถึงความมีนิสัยดื้อรั้นและมีพฤติกรรมเหมือนเด็กผู้ชายของหวาง ยฺเหวียนจีในวัยเด็ก คำพูดของอองลองผู้ปู่กลายเป็นความจริงในอีกหลายปีต่อมาเมื่อหวาง ยฺเหวียนจีมีส่วนในการสร้างความมั่นคงให้กับราชวงศ์จิ้นและได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวง
ในปี ค.ศ. 228 เมื่อหวาง ยฺเหวียนจีมีอายุ 12 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) อองลองผู้ปู่เสียชีวิต หวาง ยฺเหวียนจีร้องไห้เสียใจอย่างมาก อองซกผู้บิดารู้สึกชื่นชมหวาง ยฺเหวียนจีมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์นี้ และรู้สึกว่าหวาง ยฺเหวียนจีเป็นคนไม่ธรรมดาจริง ๆ[6]
หวาง ยฺเหวียนจีสมรสกับสุมาเจียวหลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (อายุประมาณ 15 ปี) และให้กำเนิดบุตรชายของสุมาเจียว 5 คน ได้แก่ สุมาเอี๋ยน, สุมาฮิว, ซือหม่า ติ้งกั๋ว (司馬定國), ซือหม่า เจ้า (司馬兆) และซือหมา กว่างเต๋อ (司馬廣德) และมีบุตรสาวซึ่งเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ในชื่อเจ้าหญิงจิงเจ้า (京兆公主 จิงเจ้ากงจู่; แปลว่า "เจ้าหญิงแห่งนครหลวง") หลังการสมรส หวาง ยฺเหวียนจียังคงรักษาคุณธรรมดีงามและรับใช้ครอบครัวของสามีเป็นอย่างดี หวาง ยฺเหวียนจีร้องไห้เสียใจอย่างมากอีกครั้งเมื่ออองซกผู้บิดาเสียชีวิต[7]
เมื่อสุมาเจียวขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก สุมาเจียวเห็นความสามารถของจงโฮยจึงเลื่อนให้จงโฮยดำรงตำแหน่งระดับสูงขึ้น หวาง ยฺเหวียนจีบอกสุมาเจียวผู้สามีว่า "จงโฮยเป็นคนที่จะละทิ้งหลักคุณธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนตน เขาอาจก่อปัญหาได้หากได้รับการตามใจและการยกย่องมากเกินไป เขาไม่ควรได้รับมอบหมายในความรับผิดชอบสำคัญ" การคาดการณ์ของหวาง ยฺเหวียนจีกลายเป็นความจริงในภายหลัง เมื่อจงโฮยเริ่มก่อกบฏในเดือนมีนาคม ค.ศ. 264 หลังช่วยเหลือวุยก๊กในการพิชิตจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก[8]
ุสุมาเจียวเสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 265 สุมาเอี๋ยนบุตรชายคนโตได้สืบทอดอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 สุมาเอี๋ยนบังคับโจฮวนจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของวุยก๊กให้สละราชบัลลังก์ให้ตน จึงเป็นการสิ้นสุดของวุยก๊กและเป็นการก่อตั้งราชวงศ์จิ้น หลังสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงแต่งตั้งให้หวาง ยฺเหวียนจีผู้เป็นพระมารดาเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวง และให้พระมารดาประทับในวังฉงฮฺว่า (崇化宮) แม้หฺวาง ยฺเหวียนจีจึงขึ้นเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงแล้ว แต่พระองค์ยังคงทรงใช้ชีวิตอย่างสมถะและมัธยัสถ์ ในห้องส่วนพระองค์ไม่มีเครื่องเรือนและของตกแต่งราคาแพง พระองค์เสวยพระกระยาหารเรียบง่าย และทรงฉลองพระองค์เก่าอีกครั้งหลังซักแล้ว และพระองค์ทรงทอผ้าด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงจัดการเรื่องของเหล่าสนมนางในได้เป็นอย่างดี และคงความปรองดองระหว่างพระชายาของสุมาเอี๋ยน[9]
หวาง ยฺเหวียนจีทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จมายังราชสำนัก แต่พระองค์ก็ยังคงประพฤติตนอย่างเรียบง่าย แต่เนื่องจากผู้ติดตามของพระองค์ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพระองค์ เหล่าข้าราชบริพารจึงไร้ระเบียบและเกิดการทะเลาะวิวาทกนเอง ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวกันว่าหวาง ยฺเหวียนจีทรงไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องการเมือง ไม่แน่ชัดว่าข้อกล่าวหาที่รุนแรงต่อหวาง ยฺเหวียนจีนี้มาจากการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมของพระองค์เองหรือมาจากการใส่ร้ายโดยเจตนาโดยข้าราชบริพารที่ไม่พอใจ
หวาง ยฺเหวียนจีสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 268 ขณะพระชนมายุ 52 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) พระศพได้รับการฝังที่ฉงหยางหลิง (崇陽陵; ที่ใดที่หนึ่งในเขตเหยี่ยนชือ นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) คู่กับสุมาเจียวพระสวามี สุมาเอี๋ยนทรงเขียนบทยกย่องด้วยพระองค์เองเพื่อยกย่องคุณธรรมของพระมารดาและมีรับสั่งให้นักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนักเผยแพร่บทยกย่อง[10]
หวาง ยฺเหวียนจีปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในภาคที่ 7ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ หวาง ยฺเหวียนจียังปรากฏในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในทั้งวอริเออร์โอโรจิ 3 และวอริเออร์โอโรจิ 4 รวมถึงวอริเออร์ออลสตาร์ บุกลิกลักษณะของหวาง ยฺเหวียนจีได้รับการถ่ายทอดว่าเป็นคนสงบ เยือกเย็น และมีสติ โดยมีแนวโน้มที่จะลงโทษคนที่ขี้เกียจและไม่เป็นระเบียบ