อังคาร กัลยาณพงศ์ | |
---|---|
เกิด | 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 จังหวัดนครศรีธรรมราช |
เสียชีวิต | 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 (85 ปี) |
นามปากกา | อังคาร กัลยาณพงศ์ |
อาชีพ | กวี, จิตรกร ศิลปินแห่งชาติ |
คู่สมรส | อุ่นเรือน กัลยาณพงศ์ |
บุตร | อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ |
บิดามารดา |
|
อังคาร กัลยาณพงศ์ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555) เป็นทั้งกวีและจิตรกร เกิดที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถมที่ โรงเรียนวัดจันทาราม ต่อมาก็เรียนที่วัดใหญ่จนจบประถมสี่ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อังคารเป็นผู้ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นจิตรกรและกวี เป็นกวีที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว จึงนับเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่ ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวถึงผลงานกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก[1]
พื้นเพเดิมอังคารเป็นคนเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีผู้กล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว หลังศึกษาจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้เดินทางเข้ามาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และ มหาวิทยาลัยศิลปากร อังคารได้เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่าง ศ.ศิลป พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ ทำให้ได้ติดตามและร่วมงานกับอาจารย์ในการศึกษาค้นคว้างานด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ความเป็นกวีและจิตรกรนั้นเป็นพรสวรรค์ที่อังคารเองเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งได้พูดถึงการเป็นทั้งจิตรกรและกวีของตนว่า บทกวีและจิตรกรรมนั้นมาจากดวงใจดวงเดียวกัน
"การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค แต่ใช้จิตใจดวงเดียวกัน ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการความคิด เหมือนคนที่สร้างนครวัด เขาต้องมีภาพมาก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะมีปราสาทขึ้นมา ถ้าเรามีมโนภาพกว้างใหญ่ไพศาล เราก็สามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โตขึ้นมา ถ้ามีมโนภาพคับแคบก็สร้างสรรค์อะไรอยู่ในกะลาเท่านั้น"
"คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้ แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริง ๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อย ๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่"
แต่ในการจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ดีนั้นก็ต้องมีอารมณ์ที่จดจ่ออยู่กับงานด้วย
"โดยหลักการ การเขียนกาพย์กลอนต้องโปร่งใส ต้องใช้อิสระเสรี ถึงจะทำได้ดี ก็เหมือนทะเลเวลามีคลื่นลมมากเรือที่ลอยอยู่ก็สามารถจมได้ บางครั้งอารมณ์ไม่ดีก็ทำไม่ได้"
ส่วนในด้านงานจิตรกรรมนั้น อังคารเรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด จนได้รับคำบันทึกจากคุณครูเขียนลงในสมุดรายงานว่า เป็นผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียน เขามองว่าการวาดเขียนถึงแม้จะไม่ได้เงินทองมาก แต่จะมีประโยชน์ไปบริการทางวิญญาณ จะทำให้วิญญาณมนุษย์ดีขึ้น
อังคารยังให้ทัศนะในการทำงานว่า ก็เหมือนกับการเติบโตของต้นไม้ มันค่อย ๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกไปเรื่อย ๆ ถึงฤดูกาลก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกเสียก่อนไปตามลำดับ พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานเหล่านี้ไปตลอดจนถึงชาติหน้า ทั้งงานศิลปะ ไม่ว่าจะวาดหรือปั้น รวมถึงงานเขียนบทกวี และกล่าวถึงผู้สืบทอดในงานว่า "ไม่ได้คิดอะไร เหมือนเราเกิดมาเป็นต้นโพธิ์ ถึงฤดูกาลใบมันก็หล่นลงมายังพื้นดิน กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟตามเดิม ใครที่เขาเห็นคุณค่า เขามาไถ่ถามก็ให้เขาไปตามเรื่อง"
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์ ณ เมรุวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2556 เวลา 17.00 น.[2]
นายอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีร่วมสมัยผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้สร้างสรรค์กวีนิพนธ์สมัยใหม่ให้แก่วรรณศิลป์ไทย โดยชุบชีวิตขนบวรรณศิลป์ไทยให้เติบโตสอดคล้องกับวรรณศิลป์ร่วมสมัย โดยการศึกษาวรรณศิลป์จากกวีโบราณเพื่อเข้าใจแก่นแท้ของสุนทรียะทั้งด้านความงามและความคิด และนำความเข้าใจนี้มาเป็นฐานรองรับการสร้างสรรค์วรรณศิลป์เฉพาะตนขึ้น ผลงานกวีนิพนธ์เป็นศิลปะซึ่งมุ่งสร้างสรรค์ให้เป็น “ กุศลศิลป์ ” อันจักช่วยจรรโลงโอบอุ้มจิตใจมนุษย์ให้ล่วงพ้นมลทินแห่งความหลงใหลในวัตถุ มุ่งเตือนมนุษย์ให้เห็นปัญญาในสังคม การทำลายธรรมชาติและการทำลายมนุษย์ด้วยกันเองโดยความเขลา โดยมิได้แสดงถึงปัญหาอย่างสิ้นหวังไร้ทางแก้ไข หากแต่มีความมั่นใจว่า การพินิจธรรมชาติและเรียนรู้ธรรมะจากธรรมชาติ จะช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากหายนะภัย อันจะเกิดขึ้นได้จากความเห็นแก่ตัวและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์เอง ภาษาวรรณศิลป์ที่ใช้เป็นความงาม ความสะเทือนใจ ทำให้ตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติซึ่งเป็นสุนทรียะและทางรอดของมนุษย์ ได้ประกาศหน้าที่ของตนเองในฐานะกวี ด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นสิ่งสูงสุด ความรักความมุ่งมั่นแน่วแน่ในหน้าที่ของกวี ที่จะมอบความดีความงามแก่โลกเช่นนี้ ช่วยให้งานมีพลังสร้างสรรค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เป็นประโยชน์อันประมาณมิได้แก่สังคมไทยและมนุษย์ทั้งมวล
— คำประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พุทธศักราช 2532