ซากของวิหารสองหลังในหมู่วิหารอัมบ์ | |
ที่ตั้ง | อำเภอคูชาบ แคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน |
---|---|
ภูมิภาค | ซอล์ตเรนจ์ |
พิกัด | 32°30′30″N 71°56′12″E / 32.508402°N 71.936538°E |
ความเป็นมา | |
สร้าง | ศตวรรษที่ 9-10[1] |
สมัย | ฮินดูชาฮี |
วัฒนธรรม | ชาวฮินดูปัญจาบ |
หมู่วิหารอัมบ์ (อูรดู: امب مندر; Amb Temples) หรือชื่อท้องถิ่น อัมบ์ชารีฟ (อูรดู: امب شریف; Amb Sharif) เป็นหมู่โบสถ์พราหมณ์ร้างบนเขาสเกสระ ในเทือกเขาซอลต์ แคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน[2] รากฐานของวิหารมีอายุย้อนไปได้ถึงจักรวรรดิกุษาณ แต่ตัววิหารสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 9-10 ในสมัยของฮินดูชาฮี[1][3]
วิหารหลังหลักมีความสูง 15 ถึง 20 เมตร สร้างขึ้นจากหินและอิฐ ตั้งอยู่บนฐานขั้นบันได และได้รับการยอมรับว่าเป็นโบสถ์พราหมณ์หลังที่สูงตระหง่านที่สุด (loftiest) ของฮินดูชาฮี[4] ซากวิหารมีความสูงสามชั้น มีบันไดเข้าไปสู่โถงภายใน[5]
ภายนอกของวิหารประดับด้วยงานประติมากรรมรูปแบบศิลปะกัศมีร์[5] ส่วนโครงสร้างของวิหารหลังหลักต่างไปจากรูปแบบทั่วไปของกัศมีร์ด้วยยอดปลายที่สูงแหลม[5] ทำให้มีลักษณะคล้ายกับกาฟีรโกฏในไคเบอร์มากกว่า[6]
ห่างไปราว 75 เมตรเป็นวิหารหลังเล็กกว่า มีความสูง 2 ชั้น, 7-8 เมตร[7] และตั้งอยู่ใกล้กับหน้าผา โถงหลักของวิหารหลังเล็กเปิดออกทางทิศที่หันหน้าสู่วิหารหลังหลัก นอกจากนี้ยังมีซากของวิหารบนาดเล็กคล้ายกันซึ่งสูญสลายไปแล้ว[5] หมู่วิหารเหล่านี้ล้วนอยู่ภายในขอบเขตของกำแพงเดียวกัน ซึ่งกำแพงนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยกุษาณ[5]