อินทรีแดง (ภาพยนตร์)

อินทรีแดง
กำกับวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
เขียนบทวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต
อำนวยการสร้างเจริญ เอี่ยมพึ่งพร
นักแสดงนำอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม
ญารินดา บุนนาค
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
ประวิทย์ กิตติชาญธีระ
โจนาธาน โฮลแมน
พรวุฒิ สารสิน
กำกับภาพชูเกียรติ ณรงค์ฤทธิ์
ผู้จัดจำหน่ายไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
กันตนา
วันฉาย7 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ประเทศไทย ไทย
ภาษาไทย
ทุนสร้าง150 ล้านบาท
ทำเงิน12.5 ล้านบาท
ข้อมูลจากสยามโซน

อินทรีแดง เป็นภาพยนตร์ไทย ที่ออกฉายในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ของค่ายไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ร่วมด้วยบริษัทกันตนา ภายใต้การดูแลของบริษัทโลคอล คัลเลอร์ มีทุนสร้าง 150 ล้านบาท[1] กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง โดยมีนักแสดงนำคือ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม รับบท อินทรีแดง, ญารินดา บุนนาค รับบทเป็น วาสนา เทียนประดับ ด็อกเตอร์สาวผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ร่วมด้วยวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล รับบทเป็น หมวดชาติ คู่ปรับของอินทรีแดง โดยเรื่องราวในผลงาน อินทรีแดง ชิ้นนี้มีเรื่องราวและภาพลักษณ์ที่ทันสมัยกว่าในเวอร์ชันก่อน ๆ โดยเป็นเรื่องในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า[2]

เรื่องย่อ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) มีการสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ภายใต้การอนุมัติของกลุ่มนักการเมืองคอรัปชั่นและกระหายในอำนาจ ประชาชนพากันโกรธเกรี้ยวเพราะคัดค้านการสร้างโรงงาน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วฮีโร่ก็ถือกำเนิดขึ้น ขับไล่อาชญากรและผู้คอรัปชั่น ฆ่าทุกคนที่เป็นภัยต่อสันติสุขของเมือง เขาทิ้งนามบัตรชื่อของเขาไว้ว่าเป็น อินทรีแดง แต่อย่างไรก็ตาม ฮีโร่ก็ถูกตามล่าเมื่อนักการเมืองส่งผู้ร้ายตัวฉกาจออกมาซึ่งรู้จักในชื่อ ปีศาจดำ

นักแสดงและตัวละคร

[แก้]
  • อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม รับบท โรม ฤทธิไกร หรือ อินทรีแดง ชายหนุ่มอายุ 30 ปี ผู้รักการผจญภัยและการต่อสู้ มีบุคลิกเงียบขรึม สติปัญญา และไหวพริบเป็นเลิศ เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธและการต่อสู้ทุกชนิด ด้วยความโกรธที่สังคมทำร้ายเขาและครอบครัว ทำให้เขาก้าวสู่ด้านมืด เป็นบุคลิกใหม่ คือ อินทรีแดง
  • ญารินดา บุนนาค รับบท วาสนา เทียนประดับ หญิงสาวอายุ 27 ปี เกิดในครอบครัวชั้นสูง อดีตคู่หมั้นของนายกรัฐมนตรี จบการศึกษาจากเมืองนอก มีใจรักความเป็นธรรม
  • วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล รับบท ร.ต.ท ชาติ วุฒิไกร (หมวดชาติ) นายตำรวจหนุ่มวัย 30 ปี คู่ปรับ อินทรีแดง เพื่อนสนิทของ โรม ฤทธิไกร เชื่อว่าโลกนี้มีแต่ขาวกับดำ เห็นอาชญากรทุกคนเป็นศัตรู
  • พรวุฒิ สารสิน รับบท ดิเรก ดำรงค์ประภา (นายกรัฐมนตรี) พรรคเสรีนิยม อดีตคู่หมั้นของ วาสนา ที่มุ่งมั่นด้านการเมืองจนสามารถนำพาตัวเองขึ้นสู่จุดสูงสุดของนักการเมือง
  • พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ รับบทเป็น พันตำรวจเอก มนตรี เสรีกุล (สารวัตรมนตรี) ตำรวจผู้บังคับบัญชาของหมวดชาติ ผู้รักความยุติธรรม ในใจลึก ๆ เขาชื่นชอบวิธีของอินทรีแดงที่ตามฆ่าอาชญากร
  • แจ็ค โจนาธาน โฮลแมน รับบทเป็น จ่าสิบเอก ซิงค์ จันทรกุมาร หรือ ปีศาจดำ ตำรวจนอกเครื่องแบบ ที่ถูกย้ายมาช่วยงานหมวดชาติในคดี อินทรีแดง มีเชื้อแขกสายซิกซ์ เคยอยู่หน่วยรบพิเศษ เชี่ยวชาญการต่อสู้ทุกรูปแบบ

งานสร้าง

[แก้]

ที่มา

[แก้]

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ในตอนนั้นกำลังทำเรื่อง ฟ้าทะลายโจร อยู่ถูกต้นสังกัด สั่งให้พักโครงการกะทันหัน ทั้งที่เตรียมงานสร้างบางส่วนไว้แล้ว จึงได้เกิดความคิด อินทรีแดง ขึ้นมา เพราะฉากหลังยุคเดียวกันและคิดว่าจะนำฉากที่สร้างไว้แล้วมาปรับ จึงชวน นนทรีย์ นิมิบุตร และษรัณยู จิระลักษม์ (ผู้กำกับ 9 วัด) ไปทำสเก็ตดีไซน์ อ่านบทแล้วถกกัน จนเสร็จภายในคืนเดียว แต่โครงการก็มีปัญหาในการสื่อสารกับนายทุน ไม่มีนายทุนสนใจอยากจะทำ เพราะนายทุนนึกภาพไม่ออกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่แน่ใจกับหนังย้อนยุค แต่สุดท้ายวิศิษฐ์ก็กลับมาเปิดกล้อง ฟ้าทะลายโจร ต่อได้ โครงการ อินทรีแดง จึงถูกพับไว้ ก่อนจะมีข่าวว่าผู้กำกับชาวฮ่องกง แดเนียล ลี สนใจที่จะทำบ้าง

เมื่อสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ แห่งสหมงคลฟิล์ม เข้ามาสมทบ โครงการอินทรีแดงฉบับลูกผสมไทย-ฮ่องกง ของแดเนียล ลีและนนทรีย์ จึงเดินหน้าถึงขั้นไปติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ต้นฉบับจากเศก ดุสิต โดยวางตัว ณัฐวุฒิ สกิดใจ มารับบทเป็นโรม ฤทธิไกร โดยวางแผนจะถ่ายทำในไทยและฮ่องกง ให้กลายมาเป็นเมืองสมมติไม่ระบุสถานที่และเวลา ก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ โครงการจึงล่มไป แต่หลังจากนั้นสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ที่อยากจะให้ณัฐวุฒิรับบทอินทรีแดงต่อ จึงหาผู้กำกับคนใหม่และทีมงานใหม่ จึงได้ทาบทาม ธนิตย์ จิตนุกูล แต่ธนิตย์ก็ปฏิเสธไปทันที จากนั้นจึงไปหาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ซึ่งเขาก็ใช้เวลาตีโจทย์เขียนบทอยู่นานร่วมปี ก่อนจะถอนตัวไป ก่อนบทจะถูกส่งต่อไปให้ศรัณยู วงศ์กระจ่าง ที่เขียนบทหนังสำเร็จ แต่ติดปัญหาเรื่องทุนสร้าง (ธนิตย์เล่าว่า ศรัณยูเสนอทุนสร้าง 80 ล้านบาท) ทันทีที่การสร้างภาพยนตร์หลุดจากสหมงคลฟิล์ม

เมื่อลิขสิทธิ์ของบทประพันธ์หมดอายุไป วิศิษฏ์จึงให้ไฟว์สตาร์ติดต่อกับคุณเศก โดยวิศิษฐ์เล่าว่าในช่วงที่เว้นว่างไป เขาเคยมีโครงการจะทำอินทรีแดงฉบับหนังสือการ์ตูน ทำให้เขาเริ่มมองอินทรีแดงในมุมใหม่ อีกทั้งเห็นว่าคนไทยไม่รับกับสไตล์ย้อนยุคแบบ ฟ้าทะลายโจร ที่เขาทำ จึงคิดอยากทำแบบการ์ตูนมาร์เวล ให้ทันสมัยไปเลย

การนำมาสร้างใหม่ครั้งนี้ มีตัวละครหลักเหมือนเดิมคือ ปีศาจดำ วาสนา หมวดชาติ แต่บุคลิกเปลี่ยนไป และเนื้อหาเขียนขึ้นใหม่หมด ไม่ใช่ภาคต่อและไม่ได้นำภาคก่อนมาทำใหม่[3]

การคัดเลือกนักแสดง

[แก้]

การคัดเลือกนักแสดงนั้น อนันดา ไม่ได้อยู่ในชื่อแรกของวิศิษฏ์ เพราะรู้สึกว่าเป็นฮีโร่ไม่ได้ทำให้นึกถึงไมเคิล คีตันที่ดูก๋องแก๋ง แต่เมื่อได้ดูภาพยนตร์เรื่อง บางกอกไทม์ ที่อนันดาเล่นเป็นผู้ชายขายตัว ถอดเสื้อ เห็นหุ่นล่ำ บึ้ก ทำให้นึกภาพเขาตอนใส่หน้ากากได้ อนันดาได้ไปเรียนการต่อสู้การถืออาวุธ ให้คล่องแคล่ว ที่ หน่วยอรินทราช โดยใช้หน่วยบัญชาการ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เป็นสถานที่ฝึกซ้อมตลอด ในส่วนฉากแอ็กชัน ได้ทีม Baanrig ดีไซน์ฉากต่อสู้ และคิวบู๊[4]

สำหรับญารินดา เลือกเพราะ ต้องการนางเอกที่มีความตื่นตัวทางการเมือง อยากได้คนที่มีความรู้มีความมั่นใจในตัวเอง มีอุดมการณ์ ซึ่งญารินดามีตรงกับลักษณะของตัวละคร[5]

การออกแบบ

[แก้]

ในการออกแบบชุดแต่งกาย วิศิษฏ์สรุปว่าอินทรีแดงของมิตร ดุดันและคล่องตัว ไม่พกอะไรรุงรัง เขาจึงออกแบบชุดนี้ให้เน้นการคล่องตัว โดยชุดของมิตรเป็นผ้าสักหลาดธรรมดา แต่ชุดใหม่ปรับเป็นชุดหนังมีซิปรูดลงมาได้มากกว่าเดิม อิงการออกแบบจากสิงห์มอเตอร์ไซค์ แล้วก็คาดเข็มขัดสนามเอาไว้เก็บแม็กกาซีนปืน ส่วนหน้ากากตั้งใจให้รู้สึกเป็นแบบเดิม แต่วัสดุเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในสมัยก่อนทำจากผ้ากำมะหยี่ตัดธรรมดา ไม่มีร่อง ไม่มีพื้นผิวสัมผัส ก็คงเอาไว้แต่ทำรายละเอียดให้ดีขึ้น ตัววัสดุทำจากโฟมลาเท็กซ์ เซาะร่องให้มีลายของปีก อาวุธจะเพิ่มดาบเข้าไป จะเน้นให้สู้ด้วยดาบมากกว่าปืน เพราะได้ความรู้สึกของความเป็นเอเชีย ปืนเป็นแบบสั่งทำพิเศษ ยิงเลเซอร์เป็นรูปนกอินทรี ติดเครื่องยิงลูกระเบิดไว้ด้านล่าง ส่วนยานพาหนะใช้มอเตอร์ไซค์ โดยได้เลือกรุ่นบี-คิง สีดำของซูซูกิ

หน้ากาก ชุดเกราะชั้นในและถุงมือ ไม่ได้ทำจากผ้า แต่ทำจากยางและโฟม ฝีมือของวิทยา หรือรู้จักในนาม คิวเอฟเฟกต์ โดยวิทยาเล่าว่าเป็นเสื้อเกราะลายมัดกล้าม ที่เหมือนเอาเหล็กมาทอ มีผิวสัมผัสของเหล็กที่สาน ๆ กัน แต่วัสดุทำจากโฟม ยาง โดยหล่อแบบขึ้นมาจากตัวอนันดา เช่นเดียวกับถุงมือที่หล่อขึ้นมาเกือบ 50 คู่ เพราะฉีกขาดง่าย ส่วนหน้ากากทำจากโฟมลาเท็กซ์ โดยหล่อหน้าอนันดาขึ้นมาด้วยปูนปลาสเตอร์ ก่อนจะปั้นลายหน้ากากขึ้นมาให้พอดีและสวยงาม วิธีการสวมหน้ากากต้องติดลงไปบนหน้าด้วยกาว ซึ่งหน้ากากใช้ได้ 2 ครั้งก็ต้องทิ้ง จึงต้องทำไป 20-25 อัน

เทคนิคพิเศษด้านภาพ

[แก้]

บริษัทกันตนา แอนนิเมชั่น นำโดยธวัชชัย ศิริวราวาท รับผิดชอบด้านโพสต์โพรดักชันทั้งหมดโดยเฉพาะงานเทคนิคพิเศษด้านภาพ มีการใช้ราว 1,400 ช็อต นับว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีการใช้เทคนิคพิเศษมากที่สุด อย่างในฉากที่ต่อสู้ในลิฟต์ของอินทรีแดงกับปีศาจดำ ก็ประมาณ 200-300 คัต ส่วนฉากใหญ่อีกฉากคือ ตอนอินทรีแดงกับปีศาจดำวิ่งไล่ล่ากันบนยอดตึกระฟ้า ที่นอกจากถ่ายทำจากที่จริง ยังผสมการถ่ายกรีนสกรีนในสตูดิโอ ยังใช้เทคนิคโมแคป (Motion Capture) อย่างที่เห็นในภาพยนตร์ อวตาร มาใช้ในหนังไทยเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิค Double CG การสร้างโมเดลตัวอนันดา ที่แกะแบบออกมาจากทุกด้านทั้ง ความสูง สัดส่วน รูปร่าง เพื่อให้พอดีกับอนันดาตัวจริง เป็นการใช้ในส่วนที่มีความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงในตัวนักแสดง ในฉากอันตราย หรือฉากที่ในความเป็นจริง ไม่สามารถทำขึ้นมาได้

เพลงประกอบ

[แก้]

เพลงประกอบภาพยนตร์คือเพลง "ศัตรูที่รัก" ขับร้องโดย บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ เขียนเนื้อร้องโดย ตรัย ภูมิรัตน ทำนองและเรียบเรียงโดย ณฐพล ศรีจอมขวัญ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวความรักของหญิงสาว กับวีรบุรุษภายใต้หน้ากาก[6] และอีกเพลงคือเพลง "ในคืนนี้" ขับร้องโดย เพชร โอสถานุเคราะห์ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวความรักของหญิงสาว กับวีรบุรุษภายใต้หน้ากาก ที่นำพาเขาผ่านพ้นความมืดมิดไปได้

การตอบรับ

[แก้]

การออกฉายและรายได้

[แก้]

อินทรีแดงออกฉายรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ณ เอสเอฟ เวิลด์ ซีนีมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เปิดตัวที่นี่หลังศูนย์การค้าปิดซ่อมแซมจากเหตุวางเพลิง และออกฉายรอบทั่วไปในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ก่อนวันครบรอบ 40 ปี การเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา จากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง 1 วัน ภาพยนตร์ได้รับการจัดเรตติ้งในระดับ น18 + คือภาพยนตร์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป[7] ภาพยนตร์ อินทรีแดง ที่มีทุนสร้างสูง 150 ล้านบาทแต่รายได้เมื่อเข้าฉายจริง ๆ แล้ว ทำได้เพียงแค่ 5.3 ล้านบาทเท่านั้น ในระยะ 4 วันแรกที่ออกฉาย โดยเปิดตัวเป็นอันดับ 2 รองจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Legend of the Guardians : The Owls of GaHoole[8]

และรายได้ของการฉายในสัปดาห์ที่ 2 ทำได้ 2.5 ล้านบาท รวมแล้วได้เพียงแค่ 10.5 ล้านบาท[9] และสัปดาห์ที่ 3 ทำได้ 0.8 ล้าน รวมแล้วทั้งหมดทำรายได้ 12.5 ล้านบาท[10] ถือว่าประสบความล้มเหลวด้านรายได้อย่างมาก จนถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ขาดทุนอย่างมากเรื่องหนึ่ง ซึ่งทาง วิศิษฎ์ ผู้กำกับผิดหวังอย่างมากถึงขนาดประกาศที่จะไม่สร้างภาคต่อหรือสร้างภาพยนตร์เรื่องใด ๆ อีก ทั้ง ๆ ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงแบบทิ้งเหตุการณ์ไว้บอกว่าจะมีภาคต่อ [11] [12]

คำวิจารณ์

[แก้]
พรวุฒิ สารสิน รับบท "ดิเรก" นายกรัฐมนตรี

นันทขว้าง สิรสุนทร วิจารณ์ในกรุงเทพธุรกิจไว้ว่า "มีสไตล์การเล่าเรื่องที่รวดเร็ว โดยทีหนังสามารถแบกรับและรับลูกจากยุคสมัยก่อนของอินทรีแดงมาเล่นได้อย่างลื่นไหล กล่าวคือ วิศิษฐ์ ได้แสดงความเคารพต่อตำนาน ส่วนภาพรวมของหนัง ต้องถือว่านี่คือหนังแอ็กชันที่สอบผ่าน" แต่ก็มีส่วนที่ไม่ชอบคือ ความรุนแรงที่อยู่ในเรื่อง แต่โดยรวมแล้วก็ต้องถือว่าสอบผ่าน[13]

เดือนเพ็ญ สีหรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักจัดรายการวิทยุ เขียนไว้ในนิตยสารเอนเตอร์เทนไว้ว่า เรื่องบทที่เป็นหัวใจของภาพยนตร์ กลายเป็นหนังที่ "หัวใจไม่แข็งแรง" ส่วนที่แข็งแรงคือ การขายฉากแอ็กชั่นและงานด้านภาพและเทคนิคพิเศษที่ทำออกมาดีมาก ด้านความลึกของตัวละครนั้น โรม ฤทธิไกรหรืออินทรีแดง ขาดหายไปในส่วนที่สำคัญมาก ด้านการแสดงบทบาทของนักแสดง อนันดาถือว่าสอบผ่าน แต่บทญารินดา เธอแสดงได้แค่ระดับหนึ่งและดูไม่เข้ากันเลยกันอนันดา เธอดูข่มเพื่อนร่วมฉากไปซะหมด รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างวาสนากับโรม ฤทธิไกรก็ไม่มี Chemistry ระหว่างกัน[14]

ขณะที่ อภินันท์ บุญเรืองพะเนา วิจารณ์ไว้ในผู้จัดการออนไลน์ว่า เป็นหนังที่ถือเป็นก้าวที่กล้าของคนทำหนัง กล่าวคือ กล้าที่จะให้ตัวละครอย่างนายกรัฐมนตรีเป็นคนชั่ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะชั่วในแบบที่ไม่มีที่มาที่ไป ธาตุแท้ของนายกฯก็ไม่ใช่คนชั่ว เพียงแต่ไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และมีเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้นคล้ายคลึงกับสถานการณ์การเมืองไทยในขณะที่เข้าฉาย และยังกล่าวอีกว่า ตัวละครอย่าง อินทรีแดง หรือ โรม ฤทธิไกร กับ ดร.วาสนา เทียนประดับ เป็น "ตัวละครที่เป็นคู่ขนานกัน" กล่าวคือ ถ้าอินทรีแดงเลือกที่จะใช้วิธีนอกกฎหมายจัดการกับคนชั่ว แต่ตัวดร.วาสนากลับใช้วิถีทางแบบประชาธิปไตย แต่ทว่าเรียกร้องไปเท่าไหร่ ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ซ้ำร้ายยังถูกคุกคามรังแก เช่น จัดม็อบชนม็อบบ้าง หรือวิธีการแบบหมาลอบกัดอย่างการส่งมือสไนเปอร์ไปเก็บบ้าง ใช้นักเลงหัวไม้ไปฆ่าบ้าง และสุดท้าย ก็ถูกตราหน้าว่าเป็น "ตัวถ่วงความเจริญ" ซึ่งเรื่องแบบนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในสังคมไทย[15]

ข้อน่าสนใจของเรื่องนี้ รัชชพร เหล่าวานิช นักวิจารณ์และอดีตนักจัดรายการวิทยุ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการโฆษณาแฝงว่า ไม่ได้มาแบบแฝง แต่ทำให้เห็นกันชัด ๆ การทำให้เห็นเช่นนี้ นักวิจารณ์แถวหน้าบอกว่า ประชดประชันโฆษณาแฝงในหนังได้อย่างมีชั้นเชิง และเมื่อมองถึงว่าเป็นหนังเสียดสี ได้ความบันเทิงระดับเดียวกับ Wanted แต่ถ้ามองในฐานะหนังแอ็กชัน ซูเปอร์ฮีโรแล้ว อยู่ในมาตรฐานเดียวกับ Dare Devil[16]

รางวัล

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "TEASER - อินทรีแดง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-13. สืบค้นเมื่อ 2010-10-15.
  2. อินทรีย์แดงเปิดกล้องแล้ว เผยนักแสดงเซอร์ไพรส์ และวิศิษฎ์เผยใจทิ้งงานโฆษณาเพื่อทำหนัง
  3. อินทรีแดงของอนันดา[ลิงก์เสีย]
  4. นันทขว้าง สิรสุนทร, อินทรีแดง 2010 เก็บถาวร 2010-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน bangkokbiznews.com
  5. "วิศิษฏ์"กดดันหนัง"อินทรีแดง" รับมือฉากตก"เฮลิคอปเตอร์"[ลิงก์เสีย] วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6875 ข่าวสดรายวัน
  6. บุรินทร์ ทำเพลงประกอบ 'อินทรีแดง'[ลิงก์เสีย]
  7. เปิดหนังไทย 'อลังการ' สองเรื่อง[ลิงก์เสีย] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
  8. ""อินทรีแดง" เก็บแค่ 5 ล้านพ่าย "นกฮูกแห่งกาฮูล"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-17. สืบค้นเมื่อ 2010-10-14.
  9. ""นกฮูกแห่งกาฮูล" ครองแชมป์ต่อ, "โดราเอมอน" เปิดตัวชนะ "อีเห็ดสดฯ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-24. สืบค้นเมื่อ 2010-10-21.
  10. "สัปดาห์เงียบ ๆ Cats & Dogs เปิด 7 ล้าน, และ My Best Bodyguard 4.1 ล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-10-27.
  11. ทำไมอินทรีแดงถึงตกหลังคา? จากสยามดารา[ลิงก์เสีย]
  12. [[[ผู้กำกับ อินทรีแดง กล่าวถึงผลที่ตามมาของหนัง...]] จากพันทิปดอตคอม]
  13. นันทขว้าง สิรสุนทร, "Contemporary อินทรีแดง การขานรับ message ของยุคสมัย". กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8[ลิงก์เสีย]
  14. เดือนเพ็ญ สีหรัตน์, "อันเนื่องจากหนัง". นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับปักษ์หนัง ตุลาคม พ.ศ. 2553 หน้า 46-47
  15. [https://web.archive.org/web/20101017151320/http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000145024 เก็บถาวร 2010-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อินทรีแดง : ก้าวที่กล้าของหนังไทย เมื่อนายกฯ เป็นคนชั่ว!!/อภินันท์ จากผู้จัดการออนไลน์]
  16. รัชชพร เหล่าวานิช, "ชำแหละแผ่นฟิล์ม". นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับปักษ์หนัง ตุลาคม พ.ศ. 2553 หน้า 45

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]