วันที่ | 10 ตุลาคม - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553 |
---|---|
ที่ตั้ง | 39 จังหวัด 425 อำเภอ 3,098 ตำบล 26,226 หมู่บ้าน |
เสียชีวิต | 181 |
ทรัพย์สินเสียหาย | 8,000-10,000 ล้านบาท |
อุทกภัยในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2553 เป็นเหตุการณ์การเกิดน้ำท่วมในประเทศไทยหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่[1] สื่อหลายแห่งระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553[2]
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีพื้นที่ประสบอุทกภัย มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 39 จังหวัด 425 อำเภอ 3,098 ตำบล 26,226 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,002,961 ครัวเรือน 7,038,248 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 7,784,368 ไร่[3] พบผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยแล้วทั้งหมด 181 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 178 ราย กัมพูชา 1 ราย พม่า 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย[3]
ส่วนสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ระบุว่า มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 133 อำเภอ 874 ตำบล 6,197 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 609,511 ครัวเรือน 1,932,405 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 80 คน มีสัญชาติไทยทั้งหมด[2]
สาเหตุเกิดจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลางและภาคตะวันออก และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร[3] ร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าวมีสาเหตุจากปรากฏการณ์ลานิญาที่มาเร็วกว่าปกติ ทาง ดร. รอยล จิตดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้ชี้ว่าฝนได้ตกลงมาในพื้นที่หลังเขาเป็นเวลาหลายวัน เฉลี่ยมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบกับความแปรปรวนของร่องฝน ซึ่งปกติจะต้องเคลื่อนลงไปแถวภาคใต้แล้ว[4] ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำเกินกว่าระดับกักเก็บ โดยเฉพาะเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จนต้องเร่งระบายน้ำออกสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งทำให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัยอย่างหนัก[5]
ในช่วงแรก เหตุอุทกภัยดังกล่าวเป็นเพียงอุทกภัยธรรมดาและไม่ตึงเครียดแต่อย่างใด แต่สถานการณ์ได้เลวร้ายลงจนกระทั่งกลายมาเป็นสาธารณภัยครั้งร้ายแรกในที่สุด เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและได้มีผู้เสียชีวิตรายแรก ๆ [6]
สำหรับสาเหตุของอุทกภัยในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบว่ามีการรุกล้ำลำน้ำลำตะคองและลำพระเพลิง ทำให้พื้นที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ โดยการรุกล้ำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความเฟื่องฟูของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตอีกด้วย[7]
สำหรับสาเหตุของอุทกภัยในภาคใต้ ระบุว่าเกิดจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร วาตภัยและคลื่นมรสุมซัดฝั่ง[2] ทั้งยังพายุไซโคลนจาล ทำให้ผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มมากขึ้นเมื่อประกอบกับลมกำลังแรงราว 50 กิโลเมตร[8]
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานความเสียหาย 23 อำเภอ 162 ตำบล ประชากร 87,887 คน ซึ่งมีสถานการณ์อุทกภัยรุนแรง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปากช่อง ปักธงชัย และเฉลิมพระเกียรติ พร้อมกับให้ความช่วยเหลือโดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการด้านการแพทย์และสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ มีผู้ป่วยรวม 2,993 ราย
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ส่วนสถานบริการและสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายและผลกระทบรวม 13 แห่ง เป็นมูลค่า 252,120,000 บาท ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา โรงพยาบาลปักธงชัยและโรงพยาบาลปากช่อง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอจำนวน 1 แห่ง และสถานีอนามัยจำนวน 9 แห่งประมาณการความเสียหาย 1,790,001 บาท[9]
สุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า อุทกภัยครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของจังหวัดนครราชสีมากว่า 50% โดยจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน นอกจากนี้จังหวัดนครราชสีมายังเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งออกสำคัญของประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ซึ่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายปีนี้[10]
มีรายงานว่า จระเข้ฟาร์มสีคิ้วหลุดจากฟาร์ม 50 ตัว โดยสามารถจับได้เพียง 2 ตัว (19 ตุลาคม) [5]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ 2 ตำบลในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ประชาชนต้องช่วยกันบรรจุกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำ[5]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน 5 อำเภอ 54 ตำบล 297 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 4,494 ครัวเรือน 13,977 คน คนงานกรมศิลปากรกว่า 50 คน ช่วยกันนำกระสอบทรายไปเสริมแนวบังเกอร์คอนกรีตบริเวณวัดธรรมาราม ซึ่งภายในวัดมีหอพระไตรปิฎกเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา[5]
ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม พบว่ามีวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถึง 505 วัด ได้มีการมอบความช่วยเหลือเบื้องต้น ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภค ผ้าไตร เงินบริจาค ทรายและถุงใส่ทราย ตลอดจนมีอาสาสมัครช่วยบรรจุถุงทรายกว่า 500 คน วัดหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเสียหายจำนวน 406 วัด ต้องการขอรับการอุดหนุนจากรัฐบาล 100 ล้านบาท สรุปมีพระภิกษุสามเณรได้รับผลกระทบ 4,000 รูป ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณวัดได้รับผลกระทบ 5,000 คน[11]
สภากาชาดไทยได้จัดเตรียมห้องครัวเคลื่อนที่เพื่อประกอบอาหารให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัด โดยถวายอาหารให้แด่พระสงฆ์ในช่วงเช้า ช่วงเที่ยงให้แก่ผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และช่วงเย็นให้แก่ชาวบ้าน โดยมีกุ๊กอาสา 50 คน ประกอบอาหาร 3,000 มื้อต่อวัน[12]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ฝนที่ตกลงมาตลอดคืนวันที่ 18 ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในหลายอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 19 ตุลาคม ทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดเป็นเขตภัยพิบัติ โดยอำเภอหนองบัวและอำเภอไพศาลีได้รับผลกระทบหนักที่สุด[5]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ระดับน้ำในแม่น้ำชีได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนลำปะทาวและเขื่อนจุฬาภรณ์ต้องเร่งระบายน้ำออกมาเนื่องจากไม่สามารถรองรับระดับน้ำได้ หลังได้รับน้ำหนุนจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ คาดว่าหลายอำเภอของจังหวัดน่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมในวันที่ 20-21 ตุลาคม[5]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สถานการณ์อุทกภัยในปี พ.ศ. 2553 ถือเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงครั้งเแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ซึ่งอุทกภัยในครั้งนั้นได้มีผู้เสียชีวิต 20 คนในอำเภอหาดใหญ่และอำเภอใกล้เคียงอีก 16 อำเภอ[13] ในหลายพื้นที่พบว่ามีน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร[14] ตามการรายงานของนายกเทศมนตรีหาดใหญ่ ไพร พัฒโน ระบุว่าพื้นที่ในเขตเมืองได้รับผลกระทบถึง 80% และมีผู้ได้รับผลกระทบถึง 30,000 ครัวเรือน โดยประชาชนราว 10,000 คน ไม่สามารถออกจากที่พักอาศัยได้ นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้รายงานว่ามีเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหาย 80 จาก 200 เสา[15]
กองทัพเรือไทยได้ส่งเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือที่บรรทุกเครื่องบินเป็นลำแรกของไทย มาให้ความช่วยเหลือ โดยใช้เป็นครัวในการปรุงอาหารจากนั้นจึงส่งอาหารมายังจังหวัดโดยเฮลิคอปเตอร์[16]
สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชากรหนึ่งในสิบของประเทศ (จากประมาณ 66 ล้านคน) และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรร้อยละ 3 ของพื้นที่การเกษตรในประเทศ[17]
ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าอุทกภัยครั้งนี้จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการราว 8,000-10,000 ล้านบาท ภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณชดเชย แก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย คาดว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท มีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ราว 0.2% ของจีดีพี แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ 7-7.5% โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก[18] ในขณะที่สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเมินว่าปัญหาอุทกภัยและปัญหาเงินบาทแข็งค่ารวมกัน น่าจะส่งผลให้จีดีพีลดลงประมาณ 1% ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดเหลือ 6%[10] ต่อมา ศูนย์วิจัยกสิกรได้รายงานว่ามูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 32,000 ถึง 54,000 ล้านบาท แต่ก็ได้ทำนายว่าอุทกภัยครั้งดังกล่าวจะเป็นการนำเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนฝ่ายเอกชนจะให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหาย ผลกระทบของอุทกภัยได้ทำให้จีดีพีในไตรมาสที่สี่ลดลงระหว่าง 0.6-1.2% และอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สี่เพิ่มขึ้น 2.9-3.1%[19]
ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 2.4 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 1.5 แสนราย นาข้าวได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็น 1.7 ล้านไร่ ด้านปศุสัตว์และด้านประมงได้รับผลกระทบ 1 แสนราย ซึ่งเมื่อนับรวมกับความเสียหายจากอุทกภัยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา พบว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเกือบ 4 ล้านไร่ รวมเกษตรกรได้รับความเดือนร้อน 2.9 แสนราย[20]
ด้านนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ปรับการประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลง 0.2% จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.6% เหลือ 7.4% จากความเสียหายของอุทกภัยครั้งนี้ แต่นอกจากนี้ ทางสำนักงานยังได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นไว้ 3 แนวทาง แบ่งเป็น กรณีต่ำ จีดีพีลดลง 0.08% คิดเป็นความเสียหาย 7,739 ล้านบาท กรณีฐาน จีดีพีลดลง 0.13% คิดเป็นความเสียหาย 11,800 ล้านบาท และกรณีสูง จีดีพีลดลง 0.21% คิดเป็นความเสียหาย 20,200 ล้านบาท[21]
ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุทกภัยครั้งนี้จะส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลทรายในปี พ.ศ. 2554 ลดลงกว่า 10 ล้านกิโลกรัม ผลผลิตอ้อยลดลง 109,000 ตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับความเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่[22] หน่วยงานของรัฐยังได้ออกมาเตือนว่าปริมาณการผลิตข้าวเจ้าในประเทศปีนี้อาจลดลงถึง 6.5% บีบให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น[23]
สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตยางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก[24] โดยคาดว่าปริมาณการผลิตอาจลดลงถึง 4.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี[24] ความกลัวดังกล่าวทำให้ราคายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น[25] อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามที่ได้ประมาณการไว้[26]
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่านากุ้ง 130 นาซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่ง 20,000 ไร่ใน 6 อำเภอได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สร้างความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท เจ้าของนากังวลว่าหอยเลี้ยงอาจตายได้ทั้งหมดในคราวเดียว ซึ่งทำให้มูลค่าความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2-3 พันล้านบาทหลังจากไร่หอยนางรมและหอยแครงในพื้นที่ชายฝั่งในอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอไชยาถูกกระแสน้ำพัดพาไป[27]
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยจากการประสบภัยอุทกภัย แล้วทั้งสิ้น 107,000 ราย[28]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยว่าภาวะฝนตกหนักทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเส้นทางสายต่าง ๆ รวม 12 สาย ดังนี้ นครราชสีมา 7 สาย สระแก้ว 1 สาย ชัยภูมิ 1 สาย นครสวรรค์ 1 สาย ลพบุรี 2 สาย[29] จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ศูนย์บริหารงานอุบัติภัย กรมทางหลวงได้รายงานน้ำท่วมและสะพานชำรุด 13 จังหวัด จำนวน 70 สายทาง[30]
นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งได้รับรายงานว่าติดอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากบริการทางรางและทางอากาศถูกเลื่อนออกไป[31] ได้มีความพยายามหลายประการที่จะช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 100 คนถูกรายงานว่าติดอยู่บนเกาะอ่างทองเนื่องจากมีคลื่นสูง[32]
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 19 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาระบุว่าให้กระทรวงการคลังผ่อนผันกฎเกณฑ์และหลักการให้ความช่วยวเหลือการเบิกจ่ายเงินทดลองจ่ายในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ยังได้เพิ่มเงินทดลองจ่ายจาก 50 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาท โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณา[5] ด้านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อัมพร นิติสิริ กล่าวว่า ทางกรมได้ขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ลูกจ้างที่ไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้จากเหตุอุทกภัยได้ลาหยุดโดยไม่ถือว่าเป็นวันลาหรือผิดข้อบังคับการทำงานด้วย[5] นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งศูนย์ประสานงานเยียวยาผู้ประสบภัยขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553[33]
รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินจำนวน 5,000 บาทให้แก่ครอบครัวผู้ประสบภัยน้ำท่วมหนักที่สุด ในส่วนหนึ่งของงบประมาณพิเศษ 2,900 ล้านบาท[23] นอกจากนี้ เงินช่วยเหลือสำหรับแต่ละครอบครัวอาจสูงถึง 100,000 บาทในกรณีค่าซ่อมแซมบ้าน ตลอดจนลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ[34]
ได้มีการส่งตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคใต้จำนวน 36,000 คนไปยังค่ายบรรเทาทุกข์ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย[35]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เอกชนชาวไทยเป็นแถวหน้าในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย โดยได้มีการเรียกร้องให้สาธารณะช่วยกันบริจาคและเร่งรุดลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือโดยไม่รอคำชี้แจงจากรัฐบาล เอแบคโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความพอใจต่อการให้ความช่วยเหลือในเหตุอุทกภัย พบว่ากลุ่มอาสาสมัครได้คะแนนถึง 7.52 เต็ม 10 ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้เพียง 5.55 และฝ่ายค้านได้เพียง นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าการให้ความช่วยเหลือของภาคเอกชนในอุทกภัยครั้งดังกล่าวจะช่วยเยียวยาการแตกสามัคคีในชาติ โดยไม่แบ่งแยกสถานภาพทางเศรษฐกิจและฝ่ายทางการเมือง[36]
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แจ้งว่า ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจถึงผู้ประสบอุทกภัย ใจความว่า ในนามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และชาวอเมริกัน ขอแสดงความเสียใจถึงประชาชนชาวไทยจากอุทกภัยรุนแรงดังกล่าว โดยสถานเอกอัครราชทูตได้มอบความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหากจำเป็น[37] และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 อีริค ดี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้บริจาคเงิน 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐให้กับสภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในนามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา[38]
ประธานสภาประชาชนแห่งชาติได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 50 จังหวัด[39] รัฐบาลจีนตั้งใจที่จะมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านหยวนเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ[39]
สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่มีนโยบายการเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจนของภาครัฐ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่สนใจหรือขาดการประสานงานกัน ข้อมูลจากการทำนายล่วงหน้านับเดือนจึงไม่มีประโยชน์
“การเตือนภัยธรรมชาติ หลัก ๆ ต้องมี 3 อย่างด้วยกัน คือข้อมูล ผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปฏิบัติ และการเตือนภัย แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยมาแล้ว 20 กว่าฉบับ มีการบอกถึงขั้นฝนจะตกหนักตรงนั้นตรงนี้ ปริมาณแบบนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าคนที่ได้รับการเตือนถือไปปฏิบัติตาม เอาไปบอกผู้บริหารท้องถิ่น ให้มีคำสั่งอพยพ หรือหาทางป้องกัน หากระสอบทราย ขุดลอกหนองบึงให้ทางน้ำไหลได้คล่อง รวมทั้งเตือนประชาชนให้ยกของไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมอาหารกักไว้ ความเสียหายมันก็จะน้อยลง"[40]
ด้านพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย วิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมช้าไม่ทันกาล และขาดความเป็นมืออาชีพ ทั้งยังขาดการบูรณาการในหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงมีการร้องเรียนว่ามีการกักสิ่งของบริจาค และการช่วยเหลือไปไม่ถึงมือผู้ประสบเหตุ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลนำเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นวาระแห่งชาติ และให้นายกรัฐมนตรีสั่งการแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมปฏิเสธข่าวที่ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย[41]
นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ดำเนินคดีต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากดำเนินการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยช้าเกินไป ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสร้างความเสียหายมหาศาล พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีประพฤติผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยพร้อมพงศ์ระบุว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2540 มาตรา 4 ที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับสาธารณภัย[42]