อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แผนที่
ประเภทสวนละแวกบ้านและพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้
ที่ตั้งซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600
พิกัดภูมิศาสตร์13°44′11″N 100°29′59″E / 13.736389°N 100.499722°E / 13.736389; 100.499722
พื้นที่4 ไร่
เปิดตัว21 มกราคม พ.ศ. 2540
ที่มาของชื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
เวลาให้บริการ06:00 ถึง 18:00 น. ทุกวัน
สถานะเปิดให้บริการ

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (อังกฤษ: Princess Mother Memorial Park) หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า หรือ สวนสมเด็จย่า เป็นสวนละแวกบ้าน และพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่ทั้งหมด 4 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรและพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีสถานที่สำคัญใกล้เคียงคือวัดอนงคารามวรวิหาร และโรงเรียนสตรีวุทฒิศึกษา

โดยสถานที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของบ้านของพระชนกชูและพระชนนีคำ พระชนกและพระชนนีในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถือเป็นสถานที่ประสูติและดำรงพระชนม์ชีพในช่วงทรงพระเยาว์ของพระองค์ท่าน

ปัจจุบันอุทยานนี้เปิดดำเนินการเป็นสวนชุมชน และพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ในแง่มุมประวัติศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการเฉลิมพระเกียรติ โดยเป็นพื้นที่อนุรักษ์กลุ่มอาคารเก่า มีพระราชานุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงในพระอิริยาบถประทับนั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตรงทางเข้า, บ้านจำลองเมื่อครั้งทรงพระเยาว์, ศาลาทรงแปดเหลี่ยม มีจารึกแสดงถึงประวัติความเป็นมา และยังมีประติมากรรมนูนต่ำแสดงถึงพระราชกรณียกิจในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ, การดำเนินงานของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.), การจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2540 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน[1]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""สวนสมเด็จย่า" สวนสำหรับชุมชนพร้อมแหล่งการเรียนรู้". reviewpromote. 2017-08-01. สืบค้นเมื่อ 2018-01-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′11″N 100°29′59″E / 13.736389°N 100.499722°E / 13.736389; 100.499722