เขตปลอดภัยนานกิง

เขตปลอดภัยนานกิง (จีนตัวย่อ: 南京安全区; จีนตัวเต็ม: 南京安全區; พินอิน: Nánjīng Anquán Qǖ; ญี่ปุ่น: 南京安全区, Nankin Anzenku, หรือ 南京安全地帯, Nankin Anzenchitai) เป็นเขตปลอดทหารสำหรับพลเรือนชาวจีนซึ่งจัดตั้งขึ้นก่อนหน้ายุทธการนานกิง (22 พฤศจิกายน 1937) โดยยึดเอาตัวอย่างจากหลวงพ่อพระเยซูอิตในเซี่ยงไฮ้ ชาวต่างชาติในนานกิงได้ก่อตั้งเขตปลอดภัยนานกิงขึ้น อยู่ภายใต้การจัดการโดยคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขตปลอดภัยนานกิง นำโดยนักธุรกิจชาวเยอรมันและสมาชิกพรรคนาซี ยอน ราเบอ เขตและกิจกรรมของคณะกรรมการดังกล่าวมีส่วนช่วยชีวิตพลเรือนชาวจีนหลายพันคนระหว่างการสังหารหมู่นานกิง

การอพยพนานกิง

[แก้]

ชาวตะวันตกจำนวนมากอาศัยอยู่ในนานกิงระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง โดยประกอบอาชีพค้าขายหรือเป็นคณะเผยแผ่ศาสนา เมื่อกองทัพญี่ปุ่นรุกคืบมายังนานกิง รัฐบาลจีนได้ย้ายเมืองหลวงไปยังฮ่านโคว ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ได้หลบหนีออกจากเมืองเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจอยู่ต่อ ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีชาวตะวันตกที่ยังตัดสินใจอยู่ต่อจำนวนเท่าใดและมีใครบ้าง โดยจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่าง 20 ถึง 30 คน เดวิด แอสคิว ได้วิเคราะห์แหล่งข้อมูลจากหลายแห่งซึ่งให้ข้อมูลตัวเลขชาวตะวันตกผู้ยังเหลืออยู่ในนานกิงที่แตกต่างกัน ตามข้อมูลของแอสคิว ตัวเลขประมาณที่ดีที่สุดควรจะเป็น 27 คน ในจำนวนนนี้มี 5 คนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์และหลบหนีออกจากเมืองเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ไม่กี่วันหลังจากนานกิงตกอยู่ในเงื้อมมือของญี่ปุ่น[1]

นอกเหนือจากนักหนังสือพิมพ์ 5 คนนี้แล้ว ชาวตะวันตกคนอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่ในนานกิงเป็นนักธุรกิจ แพทย์และหมอสอนศาสนา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขตปลอดภัยนานกิง หรือไม่ก็คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศนานกิง

การก่อตั้งเขตปลอดภัย

[แก้]

ชาวตะวันตกที่ยังเหลืออยู่ในเมืองได้ก่อตั้งเขตปลอดภัยนานกิง ซึ่งประกอบด้วยค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งกินพื้นที่ราว 3.4 ตารางไมล์ (8.6 ตารางกิโลเมตร) เขตปลอดภัยมีถนนล้อมรอบทั้งสี่ด้าน โดยค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 25 แห่งกระจุกตัวรอบสถานทูตอเมริกัน คิดเป็นพื้นที่ประมาณเซ็นทรัลพาร์กในนครนิวยอร์ก

เพื่อประสานงานการทำงาน ชาวตะวันตกได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขตปลอดภัยนานกิง ยอน ราเบอได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานภาพการเป็นสมาชิกพรรคนาซีและการลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลสองฝ่ายระหว่างเยอรมนี-ญี่ปุ่น

การยอมรับ

[แก้]

เมืองนานกิงยอมรับการมีอยู่ของเขตปลอดภัยดังกล่าว โดยส่งเงินสดและอาหาร ตลอดจนส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปประจำอยู่ในเขต วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1937 นายกเทศมนตรีเมืองนานกิง มา เชา-ชุน ได้ส่งอพยพพลเมืองจีนที่ยังหลงเหลืออยู่ในนานกิงเข้าไปในเขตปลอดภัยก่อนที่ตนเองจะหลบหนีออกจากเมือง

ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของเขตปลอดภัย แต่ก็ตกลงที่จะไม่โจมตีส่วนของเมืองที่ไม่มีทหารจีนประจำอยู่ สมาชิกคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขตปลอดภัยนานกิงจึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลจีนเคลื่อนย้ายทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว

การสังหารหมู่

[แก้]

ฝ่ายญี่ปุ่นเคารพขอบเขตของเขตปลอดภัยนานกิง ไม่มีการยิงกระสุนปืนใหญ่ตกลงในส่วนอันนำไปสู่การยึดครองของญี่ปุ่น ยกเว้นกระสุนบางนัดที่หลงเข้ามา ระหว่างความโกลาหลอันเกิดจากการโจมตีนานกิง มีบางคนถูกฆ่าในเขตปลอดภัย แต่ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในส่วนที่เหลือของเมืองก็ยังมากกว่าตามคำบอกเล่า

ความโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นกระทำในเขตปลอดภัยนั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในการสังหารหมู่นานกิงที่ใหญ่กว่ามาก คณะกรรมการระหว่างประเทศได้ร้องขอให้กองทัพญี่ปุ่นหยุดการกระทำดังกล่าวหลายครั้ง โดยราเบอได้ใช้สถานภาพสมาชิกพรรคนาซีรับรอง แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด ในบางครั้ง ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในเขตปลอดภัยตามใจชอบ โดยนำชายและหญิงหลายร้อยคนออกไป แล้วจึงประหารชีวิตพวกเขาหรือข่มขืนก่อนจะฆ่าทิ้ง[2] กองทัพญี่ปุ่นกล่าวอ้างว่ามีทหารกองโจรอยู่ในเขตปลอดภัยและกล่าวหาราเบอที่อนุญาตให้ใครก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบทหารเข้าไปในเขตปลอดภัยได้ ทหารญี่ปุ่นจึงฝ่าฝืนเข้าไปในเขตดังกล่าวด้วยเหตุผลนี้

จุดสิ้นสุด

[แก้]

ปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1938 กองทัพญี่ปุ่นบังคับให้ผู้ลี้ภัยทั้งหมดในเขตปลอดภัยกลับบ้าน โดยอ้างว่าเป็น "การฟื้นฟูระเบียบ" วันที่ 18 กุมภาพันธ์ เขตปลอดภัยนานกิงถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการช่วยเหลือระหว่างประเทศนานกิง" และเขตปลอดภัยได้สิ้นสุดการดำเนินการ ค่ายผู้ลี้ภัยค่ายสุดท้ายถูกปิดในเดือนพฤษภาคม ยอน ราเบอ และสมาชิกคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขตปลอดภัยนานกิงได้รับการบันทึกว่าช่วยชีวิตชาวจีนกว่า 50,000-250,000 คนระหว่างการสังหารหมู่[3][4]

มรดก

[แก้]

ก่อนการฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างจีนและชาติตะวันตก ชาวตะวันตกที่ยังหลงเหลืออยู่ในนานกิงที่ดำเนินกิจการของเขตปลอดภัยนานกิงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแข็งขันจากรัฐบาลจีน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักวิจัยในมหาวิทยาลัยนานกิงในคริสต์ทศวรรษ 1960 ประณามประชาคมชาวตะวันตกในนานกิงว่าปล่อยปละละเลยความโหดร้ายของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในเมือง และอ้างจากหลักฐานชั้นต้นอย่างผิด ๆ ว่าชาวตะวันตกได้ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการสังหารชาวจีน กระทั่งความกังวลต่อ "จักรวรรดินิยมอเมริกัน" ของจีนเริ่มหมดไป และญี่ปุ่นกลายมาเป็นเป้าของการวิจารณ์อย่างเป็นทางการแทน (ส่วนหนึ่งเนื่องจากเนื้อหาปลุกสำนึกทางการเมืองและชอบทะเลาะในหนังสือเรียนของญี่ปุ่น) มุมมองของจีนก็ได้เริ่มเปลี่ยนไป ชาวตะวันตกในปัจจุบันได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้ต่อต้านมากกว่าผู้ให้ความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม นักประพันธ์และนักการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาญี่ปุ่นได้กล่าวอ้างว่าในระหว่างการสังหารหมู่นานกิง เขตปลอดภัยนานกิงเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่จริง พิพิธภัณฑ์ศาลเจ้ายะซุกุนิไม่ได้กล่าวถึงการสังหารหมู่นานกิงแต่อย่างใด และประกาศว่า "ฝ่ายญี่ปุ่นได้จัดตั้งเขตปลอดภัยสำหรับพลเรือนชาวจีนและพยายามเป็นพิเศษที่จะป้องกันแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ภายในเมือง ชาวเมืองสามารถหวนคืนสู่ชีวิตปกติสุขได้อีกครั้งหนึ่ง"[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Askew, David. "The International Committee for the Nanking Safety Zone: An Introduction" (PDF).
  2. Woods, John E. (1998). The Good man of Nanking, the Diaries of John Rabe. p. 274.
  3. John Rabe เก็บถาวร 2013-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, moreorless
  4. "John Rabe's letter to Hitler, from Rabe's diary"[ลิงก์เสีย], Population of Nanking, Jiyuu-shikan.org
  5. "Black museum of Japan's war crimes," Sunday Times, http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/article549954.ece เก็บถาวร 2008-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Rabe, John, The Good Man of Nanking: The Diaries of John Rabe, Vintage (Paper), 2000. ISBN 0-375-70197-4
  • Vautrin, Wilhemina, Minnie Vautrin Papers. Special Collection, Yale Divinity School Library, Record Group No. 8 and No. 11.
  • Online Documentary - the Nanking Atrocities, 2000. <http://www.nankingatrocities.net/Table/table.htm>

หนังสืออ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Timothy, Brooks, ed. Documents on the Rape of Nanking, The University of Michigan Press, 2002. (includes a reprint of "Hsu, Shuhsi, Documents of the Nanking Safety Zone, Kelly and Walsh, 1939".)
  • Zhang, Kaiyuan, ed. Eyewitnesses to Massacre, An East Gate Book, 2001. (includes documentation of American missionaries; M.S. Bates, George Ashmore Fitch, E.H. Foster, J.G. Magee, J.H. MaCallum, W.P. Mills, L.S.C. Smyth, A.N. Steward, Minnie Vautrin and R.O. Wilson.) (Google Book version)