เจาะคอริง คือ วิธีการเจาะรูพื้นผิววัสดุรูปแบบหนึ่งทางวิศวกรรม เป็นลักษณะการเจาะรูกลมที่มี แกนทรงกระบอก นั่นคือเนื้อวัสดุที่ถูกเจาะออกด้วยกระบอกเจาะจะมีลักษณะเป็นแท่ง มีความเหมือนกับการใช้โฮลซอ (hole saw)
การคอริง จะใช้ดอกเจาะหรือกระบอกเจาะที่คล้ายท่อโลหะเรียกว่า กระบอกคอริง (ชื่อเรียกตามท้องตลาด) การเจาะวัสดุคอนกรีตจะใช้กระบอกคอริงที่มีหัวเจาะเพชร ซึ่งการเจาะแบบนี้ต้องใช้น้ำหล่อเย็นขณะเจาะตลอดเวลา (เป็นประเภทการเจาะเปียก)[1] สำหรับเจาะวัสดุแข็งล้วนที่เกิดจากการบดอัดเช่น อิฐ (masonry) สามารถใช้หัวเจาะชนิดคาร์ไบด์ได้เช่นกัน[2]
การคอริงนั้น พบหลักฐานการถูกใช้ในอียิปต์โบราณ ซึ่งคิดค้นขึ้นในช่วง 3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[3] คอริงมีใช้สำหรับงานหลายสาขา ขึ้นอยู่กับสถานที่, การใช้งานที่ต้องการเก็บตัวอย่าง หรือการเจาะรู (เครื่องมือที่ใช้คอริง มักใช้ในการเก็บแท่งตัวอย่าง ของเนื้อวัสดุ และใช้รูที่ถูกเจาะร้อยอุปกรณ์) หรือการเจาะที่ต้องการความรวดเร็ว ลดผลกระทบพื้นผิวใกล้เคียง และเสียเนื้อวัสดุตามความต้องการน้อยที่สุดตามมาตรฐานขนาดของกระบอกเจาะ ทำให้การคอริงถูกนำไปใช้ร่วมกับงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง ใช้ในการเจาะรูเดินท่อ เจาะรูระบายน้ำ และรูขนาดต่าง ๆ ไปจนถึงงานขนาดใหญ่ในงานหินและคอนกรีต
คอริง มีใช้บ่อยในงานเหมืองแร่ ที่อาจมีการเจาะในระดับความยาวหลายร้อยถึงหลายพันฟุต แท่งตัวอย่างจากการคอริงทางวิศวกรรมธรณีเทคนิคจะประกอบด้วยแร่ธาตุ และจุดต่าง ๆ ที่ต้องนำมาวิเคราะห์ ข้อมูลสำคัญที่ได้ บริษัทเหมืองแร่จะใช้ในการตัดสินใจในการสำรวจเหมืองที่จะเริ่มขุดเจาะ หรือทิ้งพื้นที่ตรงนั้นเพื่อหาพื้นที่ใหม่
ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มต้น แบรนเนอร์ นิวซอม (Branner Newsom) วิศวกรจากแคลิฟอร์เนีย ได้สร้างเครื่องเจาะที่ได้เส้นผ่าศูนย์กลางรูเจาะขนาดใหญ่ ที่มีขนาดตามความยาวของแกนเครื่องเจาะเหมืองถึง 16 ฟุต เครื่องชนิดนี้นำมาใช้ได้ไม่นานก่อนที่เครื่องคอริงที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามาแทนที่ เนื่องจากช่วยให้สามารถขุดเจาะได้ตามมาตรฐานโดยใช้ต้นทุนที่ถูกกว่ามาก[4]
การเจาะคอริง อาจใช้พลังงานมาจากหลายแบบ เช่น ไฟฟ้า, นิวแมติก, ไฮดรอลิก (ซึ่งทั้งหมดต้องการแหล่งกำเนิดพลังงาน อย่างเช่น เครื่องปั่นไฟ)