เจ้าแก้วนวรัฐ

เจ้าแก้วนวรัฐ
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ครองราชย์11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2482
ราชาภิเษก11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454
รัชกาล29 ปี 131 วัน
ก่อนหน้าเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
ถัดไปยกเลิกตำแหน่ง
ประสูติ29 กันยายน พ.ศ. 2405
พิราลัย3 มิถุนายน พ.ศ. 2482 (76 ปี)
ชายาแม่เจ้าจามรีวงศ์
แม่เจ้าไผ่
หม่อมบัวเขียว
หม่อมแส
พระบุตร6 พระองค์
ราชสกุลณ เชียงใหม่
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระบิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์
พระมารดาแม่เจ้าเขียว
ลายพระอภิไธย

นายพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ (ไทยถิ่นเหนือ: ) (29 กันยายน พ.ศ. 2405 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2482) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร[1] องค์สุดท้ายแห่งนครเชียงใหม่ และเป็นต้นราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ที่สืบสายตรงจากเจ้าผู้ครองนคร

พระประวัติ

[แก้]

เจ้าแก้วนวรัฐ มีนามเดิมว่าเจ้าแก้ว ประสูติที่คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2405 เป็นโอรสในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ประสูติแต่หม่อมเขียว เจ้าแก้วนวรัฐมีเจ้าพี่น้อง 10 องค์ ตามลำดับดังนี้

  1. เจ้าน้อยโตน
  2. เจ้าราชวงศ์ (น้อยขัตติยะ)
  3. เจ้านางคำต่าย
  4. เจ้าแก้วปราบเมือง
  5. เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
  6. เจ้าแก้วนวรัฐ
  7. เจ้าจอมจันทร์
  8. เจ้านางคำห้าง
  9. เจ้านางจันทรโสภา
  10. เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

โดยเจ้าจอมจันทร์เป็นเจ้าน้องร่วมหม่อมมารดาเพียงองค์เดียว[2]

เจ้าแก้วได้เลื่อนอิสริยยศและตำแหน่งตามลำดับดังนี้

  • 17 เมษายน พ.ศ. 2434 เจ้าราชภาคิไนย[3]
  • 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทานเป็นเจ้าสุริยวงษ์[4]
  • 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 โปรดให้ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทานให้เป็นเจ้าราชวงษ์เมืองนครเชียงใหม่[5]
  • พ.ศ. 2443 มหาดไทยเมืองเชียงใหม่[6]
  • 6 มีนาคม พ.ศ. 2447 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าอุปราชเมืองนครเชียงใหม่[7]

เมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงทราบความที่ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ถวายบังคมลาไปประทับที่นครเชียงใหม่ก่อนแล้ว จึงมีพระราชดำรัสกับเจ้าดารารัศมีให้เลือกผู้แทนเจ้าอินทวโรรส ที่ว่า

ในการเลือกเจ้านครเชียงใหม่แทนเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ตามกฎต้องให้ทายาทผู้สืบตระกูลรับตำแหน่งนี้ ซึ่งควรจะต้องได้แก่เจ้าราชบุตร (เลาแก้ว) ทายาทแต่ผู้เดียว แต่ในตำแหน่งนี้จะต้องเป็นพระอภิบาลเจ้าดารารัศมี พระราชยายาในรัชกาลที่ 5 ด้วย ในขณะนี้เจ้าราชบุตรยังอายุน้อยอยู่ ฉะนั้นพระราชชายาเจ้าดารารัศมีจึงขอเลือกเจ้าอุปราชแก้ว รับหน้าที่นี้ก่อน...

— วชิราวุธ ป.ร.

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนอิสริยยศ เจ้าอุปราช (เจ้าแก้ว) เจ้าอุปราชเมืองนครเชียงใหม่ [8] ขึ้นเป็น "เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่" และได้รับการเฉลิมพระนามตามตำแหน่งว่า ... " เจ้าแก้วนวรัฐ ประพัทธ์อินทนันทพงษ์ ดำรงนพิสีนครเขตร ทศลักษณเกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงษาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ " ... [9]

ถึง พ.ศ. 2462 เป็นนายพลตรี ราชองครักษ์พิเศษ[10] และนายทหารพิเศษประจำกองทัพบกไทย

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

เจ้าแก้วนวรัฐ เริ่มประชวรตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2481 แต่ก็ยังเสด็จไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อครั้งเสด็จนิวัติพระนคร ต่อมาปรากฏว่าพระอาการพระวักกะและพระยกนะอักเสบที่ประชวรอยู่ยังไม่ทันจะหายดี ก็พบพระอาการพระปับผาสะบวมขึ้นอีก จนพิราลัย เมื่อเวลา 21.40 น. ของวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 28 ปี สิริชันษา 76 ปี

ข่าวการพิราลัยแพร่ออกไป บรรดาบุคคลสำคัญก็ได้มีโทรเลขและจดหมายถวายความอาลัยมาเป็นจำนวนมาก เช่น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ส่งมาถวายเจ้าราชบุตร ดังความว่า

เจ้าราชบุตร

เชียงใหม่

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทราบข่าวด้วยความเศร้าสลดใจว่า เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้ถึงแก่พิราลัยเสียแล้ว จึงขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งมายังบรรดาบุตรและธิดาโดยทั่วกัน..

— อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ.พิชเยนทร์โยธิน

เรียน พ.ท.เจ้าราชบุตร

เชียงใหม่

ผมได้รับโทรเลขของเจ้า แจ้งว่า พล.ต.เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว ในนามของรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในนามของผมเอง ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งมายังเจ้าและญาติทั้งหลายด้วย..

— พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ในการพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ มีนาวาอากาศเอกถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้แทนของรัฐบาลและได้มาเป็นประธานในงานพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ โดยรถไฟกระบวนพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าพนักงานกรมพระราชพิธี มีพระยาราชโกษา เป็นหัวหน้านำโกศ ฉัตร แตร และกลองชนะ พระราชทานเป็นพระเกียรติยศ แต่พระราชทานลองมณฑปมีเฟืองประกอบโกศเป็นเกียรติยศพิเศษ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการประโคม

สำหรับการพระราชกุศล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสดับปกรณ์และพระสวดพระอภิธรรมกำหนด 7 วัน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบครึ่งยศไว้ทุกข์ถวาย และทางราชการได้สั่งให้ข้าราชการฝ่ายเหนือ ไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 7 วัน

รายนามชายา โอรส และธิดา

[แก้]

ภรรยา

[แก้]

เจ้าแก้วนวรัฐ มีชายา 4 องค์ คือ

ภรรยาเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ภาพ นาม ชาติตระกูล โอรสธิดา
1. แม่เจ้าจามรีวงศ์ พระธิดาของเจ้าราชภาคินัย (แผ่นฟ้า ณ เชียงใหม่) กับเจ้าเรือนคำ สิโรรส · เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่)
· เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่
· เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่)
2. แม่เจ้าไผ่ ณ เชียงใหม่
(เจ้าหญิงไผ่)
ไม่ปรากฏ ไม่มี
3. หม่อมบัวเขียว ณ เชียงใหม่ ไม่ปรากฏ · เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่
· เจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่
· เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่
4. หม่อมแส ณ เชียงใหม่ ไม่ปรากฏ ไม่มี

โอรสธิดา

[แก้]

เจ้าแก้วนวรัฐมีโอรสและธิดารวม 6 องค์ อยู่ในสกุล ณ เชียงใหม่ มีนามตามลำดับ ดังนี้

โอรสและธิดา
ภาพ ชื่อ เจ้ามารดา เกิด เสียชีวิต สถานภาพ
1. เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เจ้าจามรีวงศ์ พ.ศ. 2423 20 มีนาคม พ.ศ. 2456 (33 ปี) สมรสกับ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ไม่มีโอรส-ธิดา
2. เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ เจ้าจามรีวงศ์ ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ
  1. สมรสกับ ร้อยตรี เจ้ากุย สิโรรส มีธิดา 1 องค์
    • เจ้าสร้อยดารา สิโรรส
  2. สมรสกับ เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) ไม่มีโอรส-ธิดา
3. เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) เจ้าจามรีวงศ์ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 (86 ปี)
  1. สมรสกับ เจ้าจันทร ณ เชียงใหม่ มีธิดา 1 องค์
  2. สมรสกับเจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่ มีธิดา 2 องค์
  3. สมรสกับหม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่ ไม่มีโอรส-ธิดา
4. เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ หม่อมบัวเขียว ณ เชียงใหม่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2447 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 (85 ปี)
  1. สมรสกับหม่อมตระการ ณ เชียงใหม่ มีธิดา 1 องค์
    • เจ้าประไพพันธ์ สุขุมวาท
  2. สมรสกับหม่อมจันทร์สม ณ เชียงใหม่ มีโอรส-ธิดา 4 องค์
5. เจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่ หม่อมบัวเขียว ณ เชียงใหม่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2444 25 มกราคม พ.ศ. 2482 (37 ปี) สมรสกับเจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ มีโอรส-ธิดา 3 องค์
6. เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ หม่อมบัวเขียว ณ เชียงใหม่ พ.ศ. 2453 พ.ศ. 2534 (81 ปี) สมรสกับเจ้าสุคันธา ณ เชียงตุง มีโอรส-ธิดา 5 องค์

พระกรณียกิจสำคัญ

[แก้]
เจ้าหลวงเชียงใหม่แห่ง
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระเจ้ากาวิละ
พระยาธรรมลังกา
พระยาคำฟั่น
พระยาพุทธวงศ์
พระเจ้ามโหตรประเทศ
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พระเจ้าอินทวิชยานนท์
เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
เจ้าแก้วนวรัฐ

เจ้าแก้วนวรัฐ เริ่มเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. 2420 ขณะมีพระชันษาได้ 15 ปี ในสมัยที่พระบิดาของท่าน คือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ซึ่งมีสิทธิ์ในการปกครองอย่างเจ้าประเทศราชที่ต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการทุก 3 ปี

ผลงานที่สำคัญ ได้แก่

การปกครอง

[แก้]

การพลังงาน

[แก้]
  • พ.ศ. 2464 ดำริให้มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำมันที่อำเภอฝาง และเป็นจุดเริ่มต้นของการถือกำเนิดบ่อน้ำมันฝาง[12]

การสาธารณสุข

[แก้]
  • พ.ศ. 2472 บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ให้เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น[13]

การคมนาคม

[แก้]
  • พ.ศ. 2476 เป็นนายกองสร้างถนนหลายสาย เพื่อเชื่อมการคมนาคมอำเภอรอบนอกกับในเมือง ถนนสายสำคัญที่ท่านมีส่วนร่วม ได้แก่ ถนนสายสันทราย-ดอยสะเก็ด ปัจจุบันเรียก ถนนแก้วนวรัฐ ถนนสายขึ้นดอยสุเทพร่วมกับครูบาศรีวิชัย ซึ่งท่านเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ และเป็นผู้ขุดเป็นปฐมฤกษ์[11] เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477
  • พ.ศ. 2464 ทรงสร้างสะพานนวรัฐ ขึ้นเป็นสะพานไม้เพื่อเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำปิง

การศาสนา

[แก้]

เจ้าแก้วนวรัฐ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ท่านได้สนับสนุนให้เจ้าน้อยศุขเกษมไปบวชในพระพุทธศาสนา และได้ทะนุบำรุงศาสนาอีกจำนวนมาก เช่น

  • สร้างธรรมหาเวสสันดรและชาดกต่างๆ ถวายไว้ที่วัดหัวข่วง และนิมนต์ไปแสดงพระธรรมเทศนาที่คุ้มหลวงทุกวันพระ
  • พ.ศ. 2440 โปรดให้สร้างพระพุทธรูปถวายวัดเชียงยืน
  • โปรดให้บูรณะวัดโลกเหนือเวียง (วัดโลกโมฬี ในปัจจุบัน)
  • โปรดให้สร้างพระวิหารวัดเชตุพน

การได้รับพระราชทานนามสกุล

[แก้]

เจ้าแก้วนวรัฐ ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ เชียงใหม่ (อักษรโรมัน: na Chiengmai) ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทาน ลำดับที่ 1,161 จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2457[14] โดยพระราชทานให้แก่ผู้สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่มีนิวาสถานตั้งอยู่ในที่แห่งนั้นเป็นเวลานานมาก มีผู้คนรู้จัก และนับถือโดยมาก โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตใช้คำว่า "ณ" นำหน้าสกุลเป็นอันขาด[15] ต่อมาภายหลังตระกูล ณ เชียงใหม่ ยังคงเป็นตระกูลที่มีบทบาทและได้รับการยกย่องจากระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีบทบาทสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของพิธีการต่าง ๆ เพื่อรับรองนโบายการปกครองที่ดำเนินมานับแต่ พ.ศ. 2442[16] อาทิ เป็นหนึ่งในสิบตระกูลที่ได้เข้าเฝ้าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2493[17] การเตรียมการรับเสด็จราชอาคันตุกะทุก ๆ คราว[18] และการถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี

ภายหลังการการพิราลัยของเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เหล่าทายาท ณ เชียงใหม่ สายตรงในเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ผู้เป็นบุตรหลาน ยังคงมีบทบาททางสังคมอย่างต่อเนื่องในการสืบสานภารกิจของราชตระกูลในด้านสาธารณกุศลต่าง ๆ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีผู้สืบเครื่องราชย์ฯ สืบตระกูล ได้แก่ เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่), เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ และปัจจุบันคือ เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ (หลานชาย) ตามลำดับ ซึ่งต่อมามีการดำเนินกิจกรรมในนามมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือและมูลนิธิกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ (วัดสวนดอก) อันเป็น 2 มูลนิธิหลักของเจ้านายฝ่ายเหนือที่ดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลมากว่า 30 ปี

อนุสาวรีย์

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2561 วัดศรีนวรัฐ ได้จัดสร้างรูปหล่อเหมือนเจ้าแก้วนวรัฐ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระคุณของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

[แก้]
  • สะพานนวรัฐ เดิมเป็นสะพานไม้สัก กระทั่งได้ก่อสร้างสะพานเหล็กทดแทนในปี พ.ศ. 2508 และให้ชื่อว่า "นวรัฐ" เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่เจ้าแก้วนวรัฐ
  • ถนนแก้วนวรัฐ
  • วัดศรีนวรัฐ บ้านทุ่งเสี้ยว ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าแก้วนวรัฐ ได้มีดำริให้บูรณะขึ้นใหม่ และอัญเชิญ พระพุทธรูปไม้สัก "พระเจ้าอกล้ง" กลับมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้[19]
  • โรงเรียนทุ่งเสี้ยว (นวรัฐ) เป็นโรงเรียนที่เจ้าแก้วนวรัฐ บริจาคที่ดินเพื่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2466

พระยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
เจ้าแก้วนวรัฐ
การทูลฝ่าบาท
การแทนตนข้าบาทเจ้า
การขานรับบาทเจ้า
ลำดับโปเจียม1

พระยศพลเรือน

[แก้]
  • มหาอำมาตย์โท[20]

พระยศทหาร

[แก้]
  • 19 มิถุนายน 2454 – นายพันเอก ในกรมทหารบก[21]
  • 25 ตุลาคม 2462 – นายพลตรี[10][22]
  • 11 พฤศจิกายน 2462 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรยศพลตรี[23]

พระยศเสือป่า

[แก้]
  • – นายหมู่เอก
  • 13 ตุลาคม 2456 – นายกองตรี[24]
  • นายกองเอก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม. ประวัติศาสตร์ล้านนา : ประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ค่อยมีโกาสได้ศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  2. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 1 อักษร ก, หน้า 381
  3. พระราชทานสัญญาบัตร
  4. เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช (หน้า 525)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน, เล่ม 14, ตอน 47, 20 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 116, หน้า 932
  6. ส่งสัญญาบัตร์ไปพระราชทาน
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งสัญญาบัตรขุนนางไปพระราชทาน, เล่ม 21, ตอน 50, 12 มีนาคม ร.ศ. 123, หน้า 932
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้เจ้าอุปราช (เจ้าแก้ว) ว่าที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่, เล่ม 26, 23 มกราคม ร.ศ. 128, หน้า 2415
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์, เล่ม 28, ตอน 0 ง, 12 พฤศจิกายน ร.ศ. 130, หน้า 1811
  10. 10.0 10.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกรมราชองครักษ์ เรื่อง ตั้งราชองครักษ์พิเศษ
  11. 11.0 11.1 11.2 บุญเสริม ศาสตราภัย และสังคีต จันทนะโพธิ. (2520) อดีตลานนา กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์
  12. [npdc.mod.go.th/เรองเลาเมอวนวาน/ความเปนมาของกจการนำมนฝาง.aspx ความเป็นมาของบ่อน้ำมันฝาง]
  13. "ประวัติโรงพยาบาลแมคคอร์มิค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-13. สืบค้นเมื่อ 2017-09-05.
  14. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 14 (ลำดับที่ 1156 ถึงลำดับที่ 1182)ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31 วันที่ 5 เมษายน 2457 หน้า 10
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานนามสกุลใช้ "ณ" นำหน้านามสกุล, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 19 ธันวาคม พ.ศ. 2458, หน้า 395
  16. ธเนศวร์ เจริญเมือง. คนเมือง. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์แสงศิลป์. 2544. หน้า 83
  17. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-11.
  18. หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ณ เมรุวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ หน้า (13)
  19. "ประวัติวัดศรีนวรัฐ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-01. สืบค้นเมื่อ 2012-10-11.
  20. "พระราชทานยศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30: 1509. 12 ตุลาคม 2456. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารบก
  22. พระราชทานยศทหารบก
  23. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารบก
  24. ส่งสัญญาบัตรเสือป่าไปพระราชทาน
  25. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญฝ่ายหน้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 43: 3994. 6 กุมภาพันธ์ 2469. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2555. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 31: 2373. 10 มกราคม 2457. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2555. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. ส่งเหรียญจักรพรรดิมาลาไปพระราชทาน
  28. "รายพระนามและนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในพระราชพิธีฉัตรมงคล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 31: 1851. 15 พฤศจิกายน 2457. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2555. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  29. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). 55: 2960. 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2555. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
บรรณานุกรม
  • คณะทายาทสายสกุล เจ้าหลวงเมืองพะเยา, สถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก. ครบรอบ 100 ปี แม่เจ้าทรายมูล (มหาวงศ์) ไชยเมือง และประวัติสายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยา พุทธศักราช 2387 - 2456. พะเยา :บ.ฮาซัน พริ้นติ้ง จก., 2546
  • คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์, นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • เจ้าวงศ์สัก ณ เชียงใหม่, คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2539. ISBN 974-8364-00-3
  • นงเยาว์ กาญจนจารี. ดารารัศมี : พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี. เชียงใหม่ :สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, 2539.
  • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา. (ครั้งที่ 2) เชียงใหม่ :ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ, 2538.
  • ศักดิ์ รัตนชัย. พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง (ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานกับเอกสารสืบค้น สรสว.ลำปาง) .
  • สมหมาย เปรมจิตต์, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ (ฉบับสอบชำระ) . เชียงใหม่: มิ่งเมือง, 2540.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 1 อักษร ก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549. 434 หน้า. หน้า 381-2. ISBN 974-9588-63-0
ก่อนหน้า เจ้าแก้วนวรัฐ ถัดไป
เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
เจ้านครเชียงใหม่
(11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2482)
ยกเลิกตำแหน่ง
ผู้สืบตระกูล: เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่)