เซลล์ประสาทสั่งการบน

เซลล์ประสาทสั่งการบน
(Upper motor neuron)
ลำเส้นใยประสาทสั่งการ (motor tract)
ตัวระบุ
FMA84631
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

เซลล์ประสาทสั่งการบน (อังกฤษ: Upper motor neuron ตัวย่อ UMN) เป็นเซลล์ประสาทสั่งการที่พบในเปลือกสมองและก้านสมอง และส่งกระแสประสาทเพื่อกระตุ้นอินเตอร์นิวรอนและเซลล์ประสาทสั่งการล่าง (LMN) ให้ทำงาน ซึ่งก็จะส่งกระแสประสาทต่อไปยังกล้ามเนื้อเพื่อให้หดเกร็งหรือคลายตัว UMN ในเปลือกสมองโดยหลักเป็นแหล่งก่อการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ

UMN เป็นเซลล์พีระมิดประเภทที่ใหญ่กว่าในเปลือกสมอง คือมีเซลล์พีระมิดยักษ์ (giant pyramidal cell) ที่เรียกว่า เซลล์เบ็ตซ์ และพบอยู่ใต้เปลือกสมองในชั้นที่ 5 (layer V) ของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (primary motor cortex) เซลล์เบ็ตซ์เป็นเซลล์ประสาทที่ใหญ่สุดในสมองคือมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบถึง 0.1 มม.

คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ หรือ precentral gyrus เป็นบริเวณสำคัญที่สุดบริเวณหนึ่งในสมองกลีบหน้า เป็นรอยนูน (gyrus) ด้านหลังสุดของสมองกลีบหน้าโดยอยู่หน้าร่องกลาง (central sulcus) เส้นใยประสาทของ UMN ส่งออกจาก precentral gyrus ไปสุดที่ก้านสมองโดยจะข้ามไขว้ทแยง (decussate) ภายในก้านสมองส่วนท้าย (medulla oblongata) รวมเป็น corticospinal tract ด้านข้าง (lateral) ของไขสันหลังแต่ละข้าง ส่วนเส้นใยประสาทที่ไม่ข้ามไขว้ทแยงก็จะดำเนินผ่านก้านสมองส่วนท้ายรวมเป็น anterior corticospinal tract ใยประสาทจะดำเนินลงตามไขสันหลังไปที่รากเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve root) ในระดับที่สมควร ที่จุดนี้ UMN จะเชื่อมผ่านไซแนปส์กับ LMN ซึ่งแต่ละตัวจะมีแอกซอนที่ส่งไปยังใยกล้ามเนื้อหนึ่ง ๆ[1][2]

เซลล์ประสาท UMN เชื่อมสมองกับไขสันหลังในระดับที่สมควร เป็นจุดที่ LMN ส่งกระแสประสาทต่อไปยังกล้ามเนื้อ UMN ใช้สารสื่อประสาทกลูตาเมตกับ LMN ซึ่งอาศัยตัวรับสารสื่อประสาทโดยเฉพาะ คือ glutamatergic receptor

นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษ คือ เซอร์วิลเลียม เกาวส์ (William Gowers) ได้บัญญัติคำว่า upper motor neuron ในปี 1886

วิถีประสาท

[แก้]

เซลล์ประสาทสั่งการบนส่งแอกซอนผ่านวิถีประสาทหลายวิถีภายในระบบประสาทกลาง

ลำเส้นใยประสาท วิถีประสาท หน้าที่
corticospinal tract จากคอร์เทกซ์สั่งการไปยังเซลล์ประสาทสั่งการล่างใน anterior horn ของไขสันหลัง หน้าที่สำคัญก็คือควบคุมการเคลื่อนไหวแขนขาใต้อำนาจจิตใจ และควบคุมการปรับท่าทางร่างกายใต้อำนาจจิตใจด้วย
corticobulbar tract จากคอร์เทกซ์สั่งการไปยังนิวเคลียสต่าง ๆ ในพอนส์และก้านสมองส่วนท้าย ควบคุมกล้ามเนื้อที่ใบหน้าและขากรรไกร มีหน้าที่เกี่ยวกับการกลืนและการขยับลิ้น
colliculospinal tract (tectospinal tract) จาก superior colliculus ไปยังเซลล์ประสาทสั่งการล่าง มีหน้าที่ปรับตำแหน่งศีรษะเหนืออำนาจจิตใจเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลทางตา
rubrospinal tract จาก red nucleus[A] ไปยังเซลล์ประสาทสั่งการล่าง มีบทบาทปรับตำแหน่งแขนเหนืออำนาจจิตใจโดยตอบสนองต่อข้อมูลการทรงตัว และช่วยพยุงร่างกาย
vestibulospinal tract จาก vestibular nuclei ซึ่งแปลผลข้อมูลจากหลอดกึ่งวงกลม มีหน้าที่ปรับท่าทางเพื่อรักษาความสมดุล
reticulospinal tract จาก reticular formation ควบคุมการเคลื่อนไหวเหนืออำนาจจิตใจและช่วยทรงตัว

รอยโรค

[แก้]

รอยโรคที่ UMN ซึ่งเรียกว่า pyramidal insufficiency อาจเกิดที่วิถีประสาทเหนือส่วน anterior horn ของไขสันหลัง ซึ่งอาจมีเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ไขสันหลังบาดเจ็บ หรือสมองบาดเจ็บ ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่กว้างขวางและแตกต่างกันอาจจัดรวม ๆ กันว่าเป็นอาการเซลล์ประสาทสั่งการบน (upper motor neuron syndrome) อาการรวมทั้งกล้ามเนื้อไม่มีแรง ควบคุมกล้ามเนื้อได้น้อยลงรวมทั้งเคลื่อนไหวอย่างละเอียดไม่ได้ รีเฟล็กซ์ไขสันหลังที่แรงขึ้นโดยมีขีดเริ่มเปลี่ยน (threshold) ที่ลดลงรวมภาวะหดเกร็งกล้ามเนื้อ (spasticity), อาการกระตุกสั่น (clonus) และการตอบสนองของกล้ามเนื้อ extensor plantar ที่เรียกว่า Babinski sign[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. red nucleus หรือ nucleus ruber เป็นโครงสร้างในสมองส่วนกลางด้านหน้า (rostral) ที่มีบทบาทประสานงานการเคลื่อนไหว (motor coordination) มันมีสีชมพูอ่อน ซึ่งเชื่อว่ามาจากเหล็กในสองรูปแบบ คือ เฮโมโกลบินและเฟอร์ริติน มันแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วน magnocellular (ด้านหลัง คือ caudal) และส่วน parvocellular (ด้านหน้า คือ rostral) มันอยู่ที่ tegmentum ในสมองส่วนกลางต่อจาก substantia nigra โครงสร้างสองอย่างนี้ คือ red nucleus บวกกับ substantia nigra เป็นศูนย์ใต้เปลือกสมองของระบบ extrapyramidal motor system

อ้างอิง

[แก้]
  1. Saladin, KS (2018). "Chapter 14 The Brain and Cranial Nerves". Anatomy and Physiology: The Unity of Form and Function (8th ed.). New York: McGraw-Hill. Motor Control, 533-535. ISBN 978-1-259-27772-6.
  2. "Frontal Lobe". Rice University. 2000-06-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-26.
  3. Purves, Dale; Augustine, George J.; Fitzpatrick, David; Katz, Lawrence C.; LaMantia, Anthony-Samuel; McNamara, James O.; Williams, S. Mark (2018-05-09). "Damage to Descending Motor Pathways: The Upper Motor Neuron Syndrome". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-03. สืบค้นเมื่อ 2018-05-09 – โดยทาง www.ncbi.nlm.nih.gov. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]