เตียวหยิม (จาง เริ่น) 張任 | |
---|---|
ภาพวาดเตียวหยิมสมัยราชวงศ์ชิง | |
เจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事) (ภายใต้เล่าเจี้ยง) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–214 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ปรากฏ เฉิงตู มณฑลเสฉวน |
เสียชีวิต | ค.ศ. 213[1] กวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน |
ที่ไว้ศพ | กวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน |
อาชีพ | ขุนพล |
เตียวหยิม (เสียชีวิต ค.ศ. 214) หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง เริ่น (จีนตัวย่อ: 张任; จีนตัวเต็ม: 張任; พินอิน: Zhāng Rèn) เป็นขุนพลชาวจีนผู้รับใช้ขุนศึกเล่าเจี้ยงในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน
เตียวหยิมเป็นชาวเมืองจ๊ก (蜀郡 ฉู่จวิ้น) มณฑลเอ๊กจิ๋ว ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เกิดในครอบครัวที่ต่ำต้อย มีชื่อเสียงในเรื่องความกล้าหาญและความจงรักภักดีตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ เข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ) ในที่ว่าการมณฑลเอ๊กจิ๋วภายใต้เล่าเจี้ยงเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว[2]
ในปี ค.ศ. 212 ขุนศึกเล่าปี่เริ่มการศึกเพื่อยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยง เล่าเจี้ยงมีคำสั่งให้เล่ากุ๋ย (劉璝 หลิว กุย) เหลงเปา (冷苞 เหลิ่ง เปา) เตียวหยิม เตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) และคนอื่น ๆ นำกองกำลังไปยังอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน) เพื่อต้านเล่าปี่ แต่ทั้งหมดถูกพ่ายแพ้ในการรบ จำต้องถอยไปกิมก๊ก (緜竹 เหมียนจู๋)[3]
เตียวหยิมและเล่าชุนบุตรชายของเล่าเจี้ยงเคลื่อนทัพไปตั้งมั่นที่อำเภอลกเสีย (雒縣 ลั่วเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของเมืองกวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน) เมื่อทัพเล่าปี่มาถึง เตียวหยิมนำกองกำลังเข้ารบกับข้าศึกที่สะพานงันเกียว (鴈橋 เยี่ยนเฉียว) แต่พ่ายแพ้และถูกจับเป็น เล่าปี่ได้ยินชื่อเสียงเรื่องความกล้าหาญและความจงรักภักดีของเตียวหยิมจึงเกลี้ยกล่อมให้เตียวหยิมยอมจำนน แต่เตียวหยิมตอบอว่า "ข้าจะไม่รับใช้สองเจ้า" เตียวหยิมจึงถูกประหารชีวิต เล่าปี่รู้สึกเสียดายต่อการตายของเตียวหยิม[4]
สุสานเตียวหยิมตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเหวย์กัน (桅杆村) เขตเป่ย์ไว่ (北外鄉) เมืองกวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน ในรัชสมัยจักรพรรดิเจียชิ่งแห่งราชวงศ์ชิง ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นได้ให้สร้างป้ายสุสานสำหรับสุสานที่มีจารึกว่า "สุสานของขุนพลราชวงศ์ฮั่น เตียวหยิม" (漢將軍張公任之墓) ในปี ค.ศ. 1954 มีการค้นพบก้อนอิฐบริเวณสุสานที่จารึกว่า "สร้างในเดือน 8 ของรัชศกยฺเหวียนคังปีที่ 6" ก้อนอิฐกลายเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าสุสานแห่งนี้ถูกสร้างในช่วงต้นปี ค.ศ. 296 ในช่วงรัชศกยฺเหวียนคัง (ค.ศ. 291–300) ในรัชสมัยจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยแห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตก ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1990 สุสานเตียวหยิมได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับความคุ้มครองในระดับชาติ ภายใต้การบริหารของเมืองกวั่งฮั่น[5]
เตียวหยิมปรากฏบทบาทในนิยายอิงประวัติศาสตร์ สามก๊ก ในตอนที่ 60-64 เตียวหยิมรับใช้เล่าเจี้ยงและมีชื่อเสียงในเรื่องความจงรักภักดีต่อนายเป็นอย่างสูงเช่นเดียวกับเตียวหยิมในประวัติศาสตร์ เมื่อเล่าเริ่มเข้าสู่มณฑลเอ๊กจิ๋ว อ้างว่าเพื่อช่วยเล่าเจี้ยงในการต้านเตียวฬ่อขุนศึกศัตรู เตียวหยิมและคนอื่น ๆ เตือนเล่าเจี้ยงให้ระวังเล่าปี่และเตรียมมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า แต่เล่าเจี้ยงไม่ฟัง เมื่อเล่าเจี้ยงจัดงานเลี้ยงตอนรับเล่าปี่ บังทองที่ปรึกษาของเล่าปี่สั่งให้อุยเอี๋ยนแสร้งทำเป็นรำดาบและหาโอกาสลอบสังหารเล่าเจี้ยง เตียวหยิมรู้สึกถึงอันตรายจึงชักดาบและทำเป็นเข้าร่วมรำดาบขณะเดียวกันก็ที่ปกป้องเล่าเจี้ยงจากการเข้าใกล้ของอุยเอี๋ยน เมื่อเล่าปี่เริ่มรบกับเล่าเจี้ยง เตียมหยิมนำกำลังมาดักซุ่มที่ลกห้องโหหรือเนินหงส์ร่วง ที่นั่นทหารมือเกาทัณฑ์ของเตียวหยิมได้ยิงสังหารบังทอง ภายหลังเตียวหยิมถูกจับเป็น เล่าปี่เกลี้ยกล่อมให้เตียวหยิมยอมสวามิภักดิ์ แต่เตียวหยิมปฏิเสธอย่างหนักแน่นจึงถูกประหารชีวิต เล่าปี่รู้สึกเสียดายเตียวหยิมจึงให้ฝังศพอย่างสมเกียรติ