เทราอูรา

เทราอูรา
ภาพร่างของเทราอูราใน ค.ศ. 1849 วาดโดยเอ็ดเวิร์ด แฟนชอว์
เกิดราว ค.ศ. 1775
โมโอเรอา
เสียชีวิตกรกฎาคม 1850(1850-07-00) (74–75 ปี)
เกาะพิตแคร์น
ชื่ออื่นซูเซิน ยัง
ซูซานนาห์ ยัง
คู่รัก

เทราอูรา อาจรู้จักในนาม ซูเซิน หรือ ซูซานนาห์ ยัง (ราว ค.ศ. 1775 – กรกฎาคม ค.ศ. 1850) เป็นหญิงชาวตาฮีตีที่อาศัยอยู่บนเกาะพิตแคร์นร่วมกับกลุ่มกบฏบนเรือเบาน์ตี เธอร่วมกับเน็ด ยัง สังหารเตตาฮีตีและชายชาวพอลินีเชียคนอื่น ๆ บนเรือดังกล่าว เธอเป็นช่างทำทาปาที่มีชื่อ ผลงานทาปาของเธอจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช และสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตในวัยเยาว์ของเทราอูราไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทราบแต่เพียงว่าเธอเกิดที่โมโอเรอา เกาะแห่งหนึ่งในเฟรนช์พอลินีเชีย[1] มุขปาฐะของเกาะพิตแคร์นระบุว่าเธอมาจากครอบครัวใหญ่[2] คาดว่าเธอเกิดใน ค.ศ. 1775 เพราะมีหลักฐานว่าขณะเทราอูรามีอายุ 15 ปี เมื่อ ค.ศ. 1789 ในปีนั้นเธอออกจากตาฮีตีเพื่อไปเป็นลูกเรือของเฟลตเชอร์ คริสเตียน[1] ไม่มีหลักฐานบ่งว่าเธอไปเป็นลูกเรือของเขาด้วยความเต็มใจหรือถูกลักพาตัวมา[1] อย่างไรก็ตามพอลีน เรย์โนลด์ นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่าเทราอูราและหญิงพอลินีเชียที่เข้าร่วมเรือ เอ็ชเอ็มเอส เบาน์ตี ดังกล่าว "อาจเป็นหญิงชาวพอลินีเชียที่เดินทางบ่อยที่สุดแห่งยุคสมัยของพวกเขา"[3] การเดินทางดำเนินอยู่นานหลายสัปดาห์จนถึงเกาะทันนา[4] ระหว่างนั้นเทราอูราเป็นคู่นอนของเอ็ดเวิร์ด "เน็ด" ยัง และดำรงความสัมพันธ์ดังกล่าวจนกระทั่งทั้งหมดขึ้นเกาะพิตแคร์นเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1790[1] หลังจากนั้นเทราอูราไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับแมททิว ควินทัล ซึ่งเป็นสมาชิกกบฏอีกคน ทั้งสองมีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ควินทัล เป็นแมยิสเตร็ดคนแรกของเกาะพิตแคร์น[5]

เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวยุโรปกับชาวพอลินีเชียปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1793 อันนำไปสู่การลอบสังหารผู้คนบนเกาะ ชาวพอลินีเชียสี่คนฆ่าชาวยุโรปผู้ก่อการกบฏ ได้แก่ ไอแซก มาร์ติน และจอห์น มิลส์ ถูกตัดศีรษะ จอห์น วิลเลียม และวิลเลียม บราวน์ ถูกยิงเสียชีวิต ส่วนเฟลตเชอร์ คริสเตียน ได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการสู้รบ เทราอูราปฏิบัติตามคำสั่งเน็ด ยัง อดีตคู่นอนของเธอ ด้วยการฆ่าตัดศีรษะชายเตปาฮีตี ชาวพอลินีเชีย[6] ในบันทึกของเอ็ดเวิร์ด เจนนีส์ แฟนชอว์ ซึ่งเขียนใน ค.ศ. 1849 ระบุว่าเตตาฮีตี ถูกผู้หญิงตาฮีตีคนหนึ่งล่อลวง เพื่อให้เทราอูราลอบสังหาร ขณะเดียวกันเธอยังตะโกนบอกให้เน็ด ยัง สังหารชายชาวพอลินีเชียอีกคนหนึ่งได้สำเร็จ[7]

หลังเน็ด ยัง เสียชีวิตใน ค.ศ. 1800[8] เทราอูราได้สมรสใหม่กับทิวส์เดย์ ออกโทเบอร์ คริสเตียนที่ 1 บุตรชายของเฟลตเชอร์ คริสเตียน ซึ่งเทราอูรามีอายุมากกว่าเจ้าบ่าวราว 15 ปี เมื่อสมรสกัน[1] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหกคน และผู้สืบสันดานของทั้งสองยังคงอาศัยอยู่บนเกาะพิตแคร์นมาจนถึงปัจจุบันนี้ กระทั่ง ค.ศ. 1831 ทิวส์เดย์และเทราอูราย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ตาฮีตี[9] ทว่าทิวส์เดย์และบุตรอีกสามคนเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อบนเกาะนั้น เทราอูราและบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่จึงย้ายกลับมาใช้ชีวิตบนเกาะพิตแคร์นอีกครั้ง[10]

เทราอูราประกอบกิจเป็นช่างทำทาปา หรือผ้าเปลือกไม้แบบท้องถิ่น มีบันทึกว่าเธอได้มอบทาปาแก่กะลาสีคนหนึ่งใน ค.ศ. 1833[3] ผ้าผืนดังกล่าวถูกย้อมด้วยถั่วเทียนให้สีออกน้ำตาลแดง[11] และทาปาฝีมือของเทราอูราบางส่วนถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บริติช และสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว[11]

เอ็ดเวิร์ด แฟนชอว์ ได้เดินทางไปยังเกาะพิตแคร์นเมื่อ ค.ศ. 1849 เขาได้วาดภาพร่างของเทราอูรามีผ้าปิดตาอยู่ข้างหนึ่ง[7] ปัจจุบันภาพดังกล่าวจัดแสดงอยู่พิพิธภัณฑ์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ[12] เทราอูราเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1850 ถือเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานเกาะพิตแคร์นดั้งเดิมคนสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่[7][13]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "Teraura". 2008-07-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-24. สืบค้นเมื่อ 2021-11-07.
  2. Langdon, Robert (2000). "'Dusky Damsels': Pitcairn Island's Neglected Matriarchs of the Bounty Saga". The Journal of Pacific History (ภาษาอังกฤษ). 35 (1): 29–47. doi:10.1080/713682826. ISSN 0022-3344. PMID 18286752. S2CID 38078038.
  3. 3.0 3.1 Reynolds, Pauline. "The forgotten women of the Bounty and their material heritage." Māori and Pacific Textile Symposium. 2011.
  4. Evangelical Magazine and Missionary Chronicle (ภาษาอังกฤษ). 1841.
  5. Nechtman, Tillman W. (2018-09-13). The Pretender of Pitcairn Island: Joshua W. Hill – The Man Who Would Be King Among the Bounty Mutineers (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-108-42468-4.
  6. Coenen, Dan T. (1997). "Of Pitcairn 's Island and American Constitutional Theory". William & Mary Law Review. 38 (2). สืบค้นเมื่อ 5 March 2019.
  7. 7.0 7.1 7.2 "'Susan Young, The only surviving Tahitian woman, Pitcairn's [Island], Augt 1849' | Royal Museums Greenwich". 2021-11-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-11-07.
  8. Marks, Kathy (2009). Lost Paradise: From Mutiny on the Bounty to a Modern-Day Legacy of Sexual Mayhem, the Dark Secrets of Pitcairn Island Revealed (ภาษาอังกฤษ). Simon and Schuster. p. 16. ISBN 9781416597841. สืบค้นเมื่อ 5 March 2019.
  9. MAUDE, H. E. (1959). "TAHITIAN INTERLUDE: The Migration of the Pitcairn Islanders to the Motherland in 1831". The Journal of the Polynesian Society. 68 (2): 115–140. ISSN 0032-4000. JSTOR 20703726.
  10. Albert, Donald Patrick (2021). "Teehuteatuaonoa aka 'Jenny', the most traveled woman on the Bounty: Chronicling female agency and island movements with Google Earth". Island Studies Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 16: 190–208. doi:10.24043/isj.153. S2CID 234260181.
  11. 11.0 11.1 Reynolds, Pauline (2016-07-02). "Tapa Cloths and Beaters: Tradition, Innovation and the Agency of the Bounty Women in Shaping a New Culture on Pitcairn Island from 1790 to 1850". Textile History. 47 (2): 190–207. doi:10.1080/00404969.2016.1211435. ISSN 0040-4969. S2CID 163849896.
  12. McAleer, John; Rigby, Nigel (2017-01-01). Captain Cook and the Pacific: Art, Exploration and Empire (ภาษาอังกฤษ). Yale University Press. ISBN 978-0-300-20724-8.
  13. "Pitcairn Islands Study Center". Pacific Union College Library. 2023-06-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-08-29.