เปินดาปา (อินโดนีเซีย: pendapa, pendhapa; ชวา: ꦥꦼꦤ꧀ꦝꦥ) หรือ ปันดาปา (อินโดนีเซีย: pandhapa; ชวา: ꦥꦤ꧀ꦝꦥ) เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในสถาปัตยกรรมชวา หมายถึงโครงสร้างคล้ายศาลา ประกอบด้วยเสาเปิดโล่งทุกด้าน เป็นที่กำบังจากฝนและแดด แต่สามารถให้ลมเย็นและแสงลอดผ่านเข้า[1] คำว่า เปินดาปา (pandapa) เชื่อว่าเพี้ยนมาจากคำสันสกฤตว่า มณฑป (mandapa)
หลังคาแบบเปินดาปานี้เรียกว่า "จกโล"
เปินดาปาพบได้ทั่วไปในสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้เป็นสถานรับรองสำหรับบ้านชาวชวาที่มีฐานะ หรือแม้แต่เป็นกระท่อมในส่วนอุตสาหกรรม เปินดาปาอาจสร้างเป็นอาคารโดด ๆ หรือถ้าสร้างติดกับโครงสร้างภายในที่มีผนังล้อม (ดาเลิม) ก็จะกลายเป็นส่วนหน้าของบ้านพื้นเมืองชวา (โอมะฮ์)
หลังคาเปินดาปาถือเป็นลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบชวา สามารถพบได้ในสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายชวา เช่น มัสยิดยะวา ซึ่งเป็นมัสยิดของชุมชนไทยเชื้อสายชวาก็สร้างด้วยหลังคาทรงเปินดาปาเช่นกัน