เรื่องหลอนเอนฟีลด์

บ้านเลขที่ 284 ถนนกรีน สถานที่ที่อ้างว่าเกิดปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ

เรื่องหลอนเอนฟีลด์ (อังกฤษ: Enfield Poltergeist, Enfield Haunting[1]) เป็นเรื่องราวสยองขวัญที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เมื่อปลายปี ค.ศ. 1977 เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เรียกว่าโพลเทอร์ไกสท์ เป็นเรื่องราวที่โด่งดัง ได้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และสารคดีต่าง ๆ รวมถึงหนังสืออีกหลายเล่ม แต่ก็มีบางส่วนที่เชื่อว่าเป็นเรื่องโกหก

เรื่องเกิดขึ้นที่บ้านเลขที่ 284 ถนนกรีน ในบริมส์ดาวน์ ย่านเอนฟิล์ด ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวฮอดจ์สัน ที่ประกอบไปด้วย เพกกี ผู้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่เธอต้องเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้งสี่คนด้วยลำพังคนเดียว เนื่องจากสามีและเธอและพ่อของลูก ๆ ทั้งหมดได้เลิกรากับเธอไปแต่งงานใหม่ ลูกทั้งสี่คนของเธอประกอบไปด้วย มาร์กาเรต พี่สาวคนโตอายุ 13 ขวบ, เจเนต ลูกสาวคนที่สองอายุ 11 ขวบ, จอห์นนี่ ลูกชายอายุ 10 ขวบ และบิลลี ลูกชายคนเล็กอายุ 7 ขวบ

เรื่องราวเริ่มต้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1977 จากการที่มาร์กาเรตและเจเนตได้เล่นกระดานวิญญาณหรือผีถ้วยแก้วด้วยกันสองคน โดยที่ผู้เป็นแม่ไม่รู้เรื่องมาก่อน และหลังจากนั้นในเวลากลางคืนที่มาร์กาเรตนอนกับเจเนตตามปกติ ก็มีเสียงเคาะดังที่นอกประตูห้องนอน เตียงนอนของทั้งคู่ถูกเขย่า และเก้าอี้ในห้องเลื่อนไปมาเองได้โดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงตู้เสื้อผ้าหรือลิ้นชักถูกรื้อค้น ทีแรกเพกกีคิดว่าเป็นเรื่องเล่นพิเรนทร์ของลูกชายสองคนหรือเปล่า แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้เพราะทั้งคู่นอนในห้องชั้นบน ในที่สุดเพกกีได้ตัดสินใจเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ ตำรวจซึ่งเป็นตำรวจท้องถิ่นคู่หูชายหญิงได้เข้าไปตรวจภายในบ้านในยามวิกาล เพราะคิดว่าอาจมีใครแอบซ่อนอยู่ในบ้าน แต่ที่ทั้งคู่พบเจอคือเก้าอี้ในบ้านเคลื่อนไหวเองได้ ทั้งคู่ได้ตรวจสอบดูแล้วไม่พบว่ามีลวดสลิงหรืออะไรก็ตามที่จะใช้บังคับมันได้ แม้ทั้งคู่จะเอาลูกแก้วมาวางไว้บนพื้นเพื่อพิสูจน์ว่าพื้นไม่ได้ลาดเอียง ก็ปรากฏว่าลูกแก้วกลิ้งไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับเก้าอี้

จากเหตุนี้ทำให้สื่อมวลชนรับรู้ และกลายเป็นที่สนใจของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์และเดลิมิลเลอร์ ทำให้สมาคมวิจัยค้นคว้าทางจิตได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ได้แก่ มัวริซ กรอส และนักเขียน กาย ลีออน เพลย์แฟร์ ทั้งคู่ได้ทำการตรวจสอบและสอบสวนตลอดจนสัมภาษณ์สมาชิกในบ้านเป็นระยะเวลานานถึง 2 ปี โดยเดินทางไปมาถึง 120 ครั้ง ได้หลักฐานต่าง ๆ มากมายทั้งเทปบันทึกเสียง, ภาพนิ่ง และภาพวิดีโอ ในภาพนิ่งหลายภาพเป็นภาพของเจเนตที่ดูเหมือนว่าลอยตัวสูงบนเตียงนอน รวมถึงช้อนส้อมที่ถูกบิดงอ ทั้งคู่จึงเชื่อว่าผีที่สิงอยู่ในบ้านหลังนี้มีเจตนาพุ่งตรงไปที่ตัวเจเนต ทั้งคู่จึงได้บันทึกเทปวิดีโอสัมภาษณ์เจเนตและมาร์กาเรต แล้วจู่ ๆ ปรากฏว่าเสียงของเจเนตก็เปลี่ยนไปกลายเป็นเสียงของชายแก่สูงวัย และใบหน้าเธอก็บูดเบี้ยวผิดปกติไป เธออ้างว่าตัวเองชื่อ "บิล วิลคินส์" อายุ 72 ปี และได้เสียชีวิตด้วยสาเหตุเลือดออกในสมองด้วยการนั่งตายบนเก้าอี้เก่าตัวหนึ่งที่มุมห้องชั้นล่างของบ้าน ซึ่งในขณะนั้นเก้าอี้ตัวนี้ก็ยังคงอยู่ที่เดิม และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีชายผู้หนึ่งอ้างว่าตนเคยเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้มาก่อน และพ่อของเขาชื่อ วิลเลียม วิลคินส์ ก็เสียชีวิตในบ้านหลังนี้จริง [2] [1]

แต่กระนั้นก็มีหลายคนไม่เชื่อ โดยเชื่อว่าเป็นการหลอกลวงของพี่น้องตระกูลฮอดจ์สัน แม้แต่ผู้ที่เชื่อและศึกษาเรื่องราวเหนือธรรมชาติ โจ นิกเกลล์ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความงมงายและเสียงแปลก ๆ ที่ฟังเหมือนคนแก่ที่เกิดขึ้น ที่ดูเหมือนว่าริมฝีปากของเจเนตแทบจะไม่ขยับด้วยซ้ำ มันคือความผิดปกติของเสียง นอกจากนี้ในเรื่องของถ่ายนิ่งที่พบว่าเจเนตลอยตัวอยู่กลางอากาศนั้น คนถ่ายภาพที่ถ่ายได้ก็ไม่ได้อยู่ในห้องของพวกเธอในระหว่างที่เกิดเหตุ แต่เป็นการควบคุมกล้องถ่ายภาพนิ่งจากระยะไกล ซึ่งอากัปกิริยาของเจเนตในตอนนั้นดูเหมือนว่าเธอกระโดดอยู่บนเตียงผ้าใบให้ลอยขึ้นมากกว่า ทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ ว่ามันเป็นความแผลงของเด็กเท่านั้นเอง หรือนักมายากล บ๊อบ คูตี หลังจากได้เห็นเทปสัมภาษณ์เจเนตแล้ว เห็นว่าไม่เกินความสามารถของเด็กวัยรุ่น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาเด็กได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ขณะที่กรอสสัมภาษณ์เจเนต ก่อนที่เสียงเธอจะเปลี่ยนไป ว่าเป็นการชี้นำของมาร์กาเรต ผู้เป็นพี่สาว เพราะก่อนที่เสียงของเธอจะเปลี่ยนไป กรอสได้ถามว่า รู้สึกยังไงที่ถูกผีตามหลอกหลอน เจเนตตอบว่า ไม่เท่าไหร่ แต่แล้วจู่ ๆ มาร์กาเร็ตที่นั่งอยู่ด้านข้างก็ขัดจังหวะโดยบอกให้เธอหุบปากซะ[3] ซึ่งในเวลาต่อมาเจเนตก็ได้สารภาพในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า ในระหว่างการสัมภาษณ์เธอได้โกหกทั้งกรอสและเพลย์แฟร์ไปอย่างน้อยหนึ่งหรือสองครั้ง เพื่อดูว่าทั้งคู่จะจับผิดได้หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะกุเรื่องหรือโกหกทั้งหมด แต่จากเหตุนี้ก็ยิ่งทำให้มีความเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหลอกลวงมากขึ้น[1] ซึ่งในอีก 20 ปีต่อมา มัวริซ กรอซ ได้เดินทางไปหาครอบครัวนี้อีกเพื่อยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดไม่ได้หลอกหลวง ซึ่งสมาชิกทุกคนของครอบครัวก็ได้ยืนยันเช่นนั้น[1] ในปี ค.ศ. 2016 นักจิตวิทยา คริส เฟรนช์ ได้ให้เหตุผลห้าข้อเพื่อยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องหลอกลวง[4]

เรื่องนี้ได้ถูกสร้างเป็นทั้งสารคดีและภาพยนตร์ในหลายครั้ง เช่น สารคดีเรื่อง Ghostwatch ของบีบีซี ในปี ค.ศ. 1992[5] หรือถูกอ้างอิงไปสร้างในภาพยนตร์เรื่อง The Conjuring 2 ในปี ค.ศ. 2016 [6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "เรื่องจริงของThe Conjuring 2 สยองเพราะ "ของจริง"". Scoop Viewfinder. 2016-06-11. สืบค้นเมื่อ 2016-11-14.
  2. yawadee (2016-06-10). "จากคดีสุดหลอน ช็อกคนทั้งโลก! ของครอบครัว ฮอดจ์สัน (Hodgson)". เอ็มไทยดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-07. สืบค้นเมื่อ 2016-11-14.
  3. "จับเท็จเหตุสยอง Enfield Poltergeist เรื่องจริงหรือลวงโลก". เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์. 2016-06-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-20. สืบค้นเมื่อ 2016-11-15.
  4. "Five reasons why London’s most famous poltergeist case is a hoax". Chris French.
  5. Jagodzinski, Jan (2004). Youth Fantasies: The Perverse Landscape of the Media. Palgrave Macmillan. p. 145. ISBN 978-1-4039-6164-8.
  6. Hawkes, Rebecca. "What did the Enfield Haunting have to do with Ed and Lorraine Warren?". Telegraph.co.uk. The Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 4 September 2016.

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]